×

สหรัฐฯ-จีน เดินหน้าปรับปรุงความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ทั้งหมดสะท้อนสัญญาณบวกจริงหรือ?

04.04.2024
  • LOADING...

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และจีนมีการขยับ ทั้งการแลกเปลี่ยนการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ไปจนถึงรัฐมนตรี ซึ่งในมิติภูมิรัฐศาสตร์ถือได้ว่าเป็นสัญญาณบวกต่อเนื่องนับตั้งแต่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2023 ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อันเป็นการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 6 ปีของผู้นำจีนด้วย

 

การพบปะทวิภาคีครั้งนั้นเกิดขึ้นนานหลายเดือนก่อนที่สีจิ้นผิงจะได้หารือกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทางโทรศัพท์อีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้ ท่ามกลางฉากหลังของความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศในหลายมิติที่ยังไม่สะสาง โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงอย่างวิกฤตบอลลูนสอดแนมจีน วิกฤตไต้หวัน รวมถึงวิกฤตด้านสงครามการค้าและเทคโนโลยี

 

ไทม์ไลน์ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่กระเตื้องขึ้นในต้นปี 2024

 

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เดินทางมาพบ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนักการทูตระดับสูงของจีน ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต่อมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

 

ล่าสุดผู้นำทั้งสองประเทศได้พูดคุยหารือผ่านโทรศัพท์สายตรง เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง โดยทำเนียบขาวเผยว่า การพูดคุยกันระหว่างไบเดนและสีจิ้นผิงเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา รวมถึงเน้นย้ำแนวทางลดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน

 

แม้ผู้นำทั้งสองประเทศจะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องไต้หวัน และประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้าและเทคโนโลยี โดยไบเดนยืนยันที่จะสนับสนุนไต้หวันต่อไป ขณะที่สีจิ้นผิงมองว่าการแทรกแซงของสหรัฐฯ ต่อกรณีไต้หวัน รวมถึงทะเลจีนใต้ เป็น ‘เส้นสีแดง’ ที่สหรัฐฯ ไม่ควรก้าวข้าม แต่ไบเดนก็ยังส่งสัญญาณเชิงบวกผ่านบัญชี X ว่าเขาตั้งตารอที่จะปรับและกระชับความสัมพันธ์กับจีนอีกในอนาคต

 

นอกจากการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีแล้ว เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็มีกำหนดการเยือนจีนในช่วงปลายสัปดาห์นี้ด้วย ต่อด้วย บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เตรียมเยือนจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเช่นกัน

 

สัญญาณบวก ‘แบบผิวเผิน’

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง มองว่าสัญญาณที่เกิดขึ้นยังเป็นบวก ตราบเท่าที่รัฐมหาอำนาจใหญ่ยังมีช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยก่อนหน้านี้ที่จีนปิดช่องทางการติดต่อกับสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้

 

การพูดคุยหารือกันแต่ละฝ่ายมีเงื่อนไขของตัวเอง โดย ศ.ดร.สุรชาติ เชื่อว่า เงื่อนไขเฉพาะหน้าที่สำคัญคือการเมืองอเมริกัน โดยผลโพลล่าสุดชี้ว่าคนอเมริกันมองจีนในแง่ลบมากยิ่งขึ้น แม้ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลอาจไม่ถูกใจคนอเมริกันทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้ความตึงเครียดในการเมืองโลกคลายตัวลงเล็กน้อย 

 

ขณะที่ฟากฝั่งของการเมืองจีน จีนเองก็น่าจะกำลังหาช่องทางปรับท่าทีและความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเช่นเดียวกัน เพราะจีนทราบดีว่าหากจีนยังคงเดินข้างรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นภาคีชุดใหญ่ในซีกโลกตะวันออกต่อไปเรื่อยๆ จีนอาจได้รับผลกระทบจากการขาดตลาดตะวันตก อีกทั้งพันธมิตรที่กล่าวมาข้างต้นก็ล้วนประสบกับปัญหาด้านการไม่ถูกยอมรับในเวทีโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก และถึงแม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่าโลกาภิวัตน์ในระยะหลังค่อนข้างถดถอย แต่ในความเป็นจริงแล้วโลกาภิวัตน์ยังมีพลัง และยังคงเดินอยู่ แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคจากสงครามก็ตาม จีนจึงอาจพยายามลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง เพราะจีนเองก็กำลังเผชิญโจทย์การเมืองโลกที่ซับซ้อนไม่ต่างจากโลกตะวันตก

 

ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า สัญญาณที่เราเห็นอาจไม่ได้บวกมากอย่างที่เราคิด การเมืองโลกยังมีโจทย์ที่สหรัฐฯ และจีน ยังต้องคุยกันมากกว่านี้ สิ่งที่เห็นจึงเป็นเพียงสัญญาณเชิงบวก ‘แบบผิวเผิน’ เท่านั้น ยังมีโจทย์สำคัญ ทั้งปัญหาไต้หวัน ปัญหาทะเลจีนใต้ และปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมารออยู่ในปี 2024

 

นิ่งขึ้น แต่เปราะบาง

 

ด้าน ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย แสดงความเห็นว่า สัญญาณเชิงบวกที่เราเห็นน่าจะเป็นผลพวงของการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศ โดยมีการเมืองภายในและวิกฤตเศรษฐกิจเป็นแรงขับสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในช่วงปีการเลือกตั้งใหญ่ ช่วงเวลานี้อาจเป็นเวลาสำคัญของไบเดนที่จะโชว์ผลงานช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2024 จะมาถึง พร้อมนำเสนอภาพที่จีนอาจเป็นโอกาสของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศมักจะร่วมมือกัน โดย ผศ.ดร.ประพีร์ เชื่อว่า ต่อให้ทั้งสองประเทศจะขัดแย้งกันในหลากหลายประเด็น และยังเป็นคู่แข่งกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีนเชื่อมโยงกัน และยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน

 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ประพีร์ ชี้ว่า แม้ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ก็ไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพและเปราะบาง ถ้ามีประเด็นละเอียดอ่อนเกิดขึ้นอีก ความสัมพันธ์นี้ก็พร้อมที่จะสั่นคลอนได้ตลอดเวลา 

 

ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน

 

ขณะที่ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ มองว่าทั้งสองประเทศโดยเฉพาะจีน พยายามแสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่าสามารถร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ และพร้อมเปิดกว้างกับทุกประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนสร้างประโยชน์แก่โลกและไม่ได้เป็นไปตามที่สหรัฐฯ และสังคมตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์กัน นอกจากนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนยังเชื่อมโยงกันไม่น้อย ถ้าหากปิดกั้นหรือแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) กันแบบเด็ดขาดไปเลย อาจไม่เป็นประโยชน์หรือไม่ได้ลดความเสี่ยง แต่กลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงต่อสหรัฐฯ เสียเอง

 

ประชาคมโลกจึงได้เห็นภาพที่จีนเปิดการสื่อสารกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนเคยประกาศไว้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของจีนที่ต้องการผลักดัน ‘ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน’ ขณะเดียวกันก็ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับมหาอำนาจทั้งสองประเทศที่อย่างน้อยยังมีความรับผิดชอบต่อโลก พยายามลดทอนความขัดแย้งและหันหาแนวทางที่ร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น แม้ภาพของการเป็นคู่แข่งกันจะยังคงอยู่ก็ตาม

 

แฟ้มภาพ: Muhammad Aamir Sumsum / Shutterstock

Jonah Elkowitz / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X