×

การเมืองระบบสองพรรคใหญ่: กรณีศึกษาจากสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ของการเมืองไทย

07.08.2023
  • LOADING...
การเมืองไทย

ในประเทศประชาธิปไตยพัฒนาแล้ว ระบบการเมืองมักจะพัฒนาไปถึงจุดที่เป็นการต่อสู้ของพรรคใหญ่สองพรรค (หรือสองแนวร่วม) โดยมีพรรคหนึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายซ้าย กับอีกพรรคที่เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวา

 

ยกตัวอย่างเช่น การต่อสู้กันของพรรคเลเบอร์กับพรรคคอนเซอร์เวทีฟในสหราชอาณาจักร การต่อสู้กันของพรรคลิเบอรัลกับพรรคคอนเซอร์เวทีฟในแคนาดา และที่เราน่าจะรู้จักกันมากที่สุดก็คือการต่อสู้กันระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันในสหรัฐอเมริกา

 

สหรัฐอเมริกามีการเมืองแบบสองขั้วมาตั้งแต่ก่อร่างสร้างประเทศ

 

การต่อสู้ทางการเมืองในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นการต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันสองขั้วมาตั้งแต่ยุคสร้างประเทศ

 

ในยุคแรกที่สหรัฐฯ ประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรนั้น กลุ่มชายผู้นำ (Founding Father) ที่นำประเทศชนะสงคราม มีแนวคิดแตกต่างออกจากกันเป็นสองขั้วว่าประเทศใหม่ของพวกเขานั้นควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร กลุ่มแรกมีแนวคิดว่าประเทศสหรัฐฯ ควรเป็นรัฐที่รัฐบาลกลางมีอำนาจน้อยๆ มีกองทัพที่ไม่เข้มแข็ง และไม่ควรมีหน่วยงานใดๆ (เช่น แบงก์ชาติ) มากำกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่น พวกเขาพยายามจะลดอำนาจรัฐบาลกลางเพื่อลดโอกาสการเกิดทรราชดังที่เคยเกิดขึ้นกับกษัตริย์อังกฤษที่พวกเขาเพิ่งประกาศอิสรภาพมา กลุ่มคนเหล่านี้มีฐานเสียงอยู่ที่มลรัฐทางภาคใต้และรวมตัวกันจัดตั้งพรรคเดโมแครต-รีพับลิกันขึ้นมา

 

ในขณะที่กลุ่มที่สองเชื่อว่าประเทศจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งได้จะต้องมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง และจะต้องมีหน่วยงานกลางที่คอยเชื่อมการค้าและการเงินระหว่างมลรัฐไว้ด้วยกัน กลุ่มคนเหล่านี้มีฐานเสียงอยู่ที่มลรัฐทางภาคเหนือและรวมตัวกันจัดตั้งพรรคเฟเดอรัลลิสต์ขึ้นมา

 

อย่างไรก็ดี พรรคเฟเดอรัลลิสต์นั้นก็เสื่อมความนิยมลงอย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 หลังจากที่พรรคมีนโยบายต่อต้านการทำสงครามกับอังกฤษในปี 1812 จนทำให้พรรคเดโมแครต-รีพับลิกันกลายเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ในเวลาต่อมา พรรคเดโมแครต-รีพับลิกันก็แตกเป็นสองพรรค ก็คือพรรคเดโมแครตที่นำโดยประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน กับพรรควิกที่นำโดย สว. เฮนรี เคลย์ โดยที่พรรคเดโมแครตสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งโดยชายผิวขาวทุกคน (ยกเลิกกฎหมายดั้งเดิมที่ให้สิทธิเลือกตั้งกับผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและจ่ายภาษีเท่านั้น), เน้นการให้อำนาจประธานาธิบดีเหนือรัฐสภา และมีนโยบายขยายดินแดนประเทศสหรัฐอเมริกาให้ครอบคลุมทั้งแผ่นดินอเมริกาเหนือจนไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก (ในขณะที่วิกมีนโยบายที่ตรงข้ามกันทั้งหมด)

 

เดโมแครต vs. รีพับลิกัน

 

พรรควิกมีบทบาทในทางการเมืองอยู่ราวๆ สามทศวรรษ ก่อนที่นักการเมืองในพรรคจะแตกคอกันในประเด็นเรื่องการค้าทาส โดยที่นักการเมืองของวิกจากมลรัฐทางภาคเหนือนั้นต้องการจะยกเลิกการค้าทาส (หรืออย่างน้อยๆ ก็จำกัดให้การค้าทาสจำกัดตัวอยู่ในมลรัฐทางภาคใต้) ในขณะที่นักการเมืองของวิกจากมลรัฐทางภาคใต้มีความเห็นตรงข้ามว่ารัฐบาลกลางไม่ควรมาก้าวก่ายรัฐบาลมลรัฐในเรื่องนี้ ในขณะที่พรรคเดโมแครตนั้นไม่ค่อยมีปัญหาความขัดแย้งภายในเรื่องการค้าทาส เพราะฐานเสียงของพรรคอยู่ในมลรัฐทางภาคใต้เป็นหลักอยู่แล้ว

 

ผลจากความขัดแย้งเรื่องการค้าทาสทำให้พรรควิกแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยที่นักการเมืองของวิกจากมลรัฐทางภาคเหนือแยกตัวออกไปตั้งพรรครีพับลิกัน ส่วนทางภาคใต้ก็ออกไปเข้าร่วมกับพรรคเดโมแครต ซึ่งในที่สุดความขัดแย้งเรื่องการค้าทาสก็หนักขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสงครามการเมืองที่จบด้วยชัยชนะของฝ่ายเหนือที่นำโดยพรรครีพับลิกันของ อับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งนำไปสู่การเลิกทาสทั่วประเทศในที่สุด

 

แน่นอนครับว่าในยุคหลังสงครามกลางเมือง คนผิวดำมีความจงรักภักดีต่อพรรครีพับลิกันสูงมาก เพราะพวกเขาถือว่ารีพับลิกันเป็นพรรคของลินคอล์นผู้ที่ให้ชีวิตใหม่และความเป็นไทแก่พวกเขา ทำให้พรรครีพับลิกันกลายเป็นพรรคของคนผิวสีและคนเหนือ ในขณะที่พรรคเดโมแครตกลายเป็นพรรคของคนผิวขาวในภาคใต้

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาอีก 3-4 ทศวรรษหลังจากสงครามกลางเมือง นโยบายของพรรครีพับลิกันก็เริ่มถอยห่างออกมาจากการเป็นพรรคเพื่อคนกลุ่มน้อย เนื่องจากฐานเสียงของพรรคอยู่ทางมลรัฐทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นมลรัฐที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมหนัก ทำให้พรรคถูกครอบงำด้วยมหาเศรษฐีเจ้าของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และทำให้พรรคมีแนวคิดที่เน้นไปที่การเชิดชูตลาดเสรี กล่าวคือพรรคเริ่มเชื่อในแนวทางการบริหารประเทศแบบที่รัฐเข้าไปยุ่งกับกิจกรรมของเอกชนแต่น้อย เก็บภาษีแต่น้อย สร้างกฎระเบียบน้อยๆ ให้กลไกตลาดเสรีจัดการกันเอง

 

ในทางตรงข้าม พรรคเดโมแครตในทศวรรษที่ 20 กลับมองว่ารัฐบาลกลางนั้นควรจะเข้มแข็งและมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนวคิดนี้ถูกฝังเข้ามาในดีเอ็นเอของพรรคตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ ที่ใช้นโยบายที่มีชื่อว่า New Deal ในการอัดฉีดเงินมหาศาลจากรัฐบาลกลางเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) ในช่วงปี 1930 รวมไปถึงการสร้างรัฐสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ทำให้ชาวอเมริกันผิวดำเริ่มมองว่านโยบายของพรรคเดโมแครตเป็นมิตรกับพวกเขามากกว่า (เพราะคนผิวดำมักมีเศรษฐฐานะที่ด้อยกว่าคนผิวขาว และได้ประโยชน์จากรัฐสวัสดิการมากกว่า)

 

แนวคิดของสองขั้วในปัจจุบัน

 

แนวคิดเรื่องรัฐบาลขนาดเล็ก (Small Government) ยังคงเป็นแนวคิดหลักของพรรครีพับลิกันในปัจจุบัน พรรคเชื่อว่ารัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่มย่ามกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และควรปล่อยให้ ‘มือที่มองไม่เห็น’ หรือกลไกตลาด เป็นตัวควบคุมอุปสงค์อุปทานเอง นอกจากนี้รัฐบาลควรจะเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ เพื่อให้เงินสะพัดอยู่ในตลาดเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตต่อยอดไปได้อีก

 

ในทางกลับกัน พรรคเดโมแครตเชื่อว่าตลาดเสรีนั้นไม่สมบูรณ์ และถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปควบคุมจะเกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และนายทุนจะฮุบทุกอย่างไปจากชนชั้นแรงงานจนหมด ดังนั้นพรรคเดโมแครตจะพยายามผลักดันกฎหมายปกป้องแรงงาน เช่น การกำหนดอัตราแรงงานขั้นต่ำ กฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยในที่ทำงาน กฎหมายที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มของแรงงาน (Unionization) เพื่อต่อรองกับนายจ้าง และการกำหนดจำนวนวันหยุดขั้นต่ำ เป็นต้น

 

นอกจากนี้พรรคเดโมแครตยังเชื่อในความเท่าเทียมและเชื่อว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคมผ่านรัฐสวัสดิการ เช่น การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การมีบำนาญจากรัฐในยามแก่ชรา การมีเงินช่วยเหลือชั่วคราวจากรัฐในยามว่างงาน (ซึ่งแน่นอนว่านโยบายเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยการเก็บภาษีในอัตราที่สูง)

 

ในแง่นโยบายทางสังคม พรรครีพับลิกันนั้นก็มีแนวคิดที่อนุรักษนิยมอยู่มาก เพราะหนึ่งในฐานเสียงหลักของพวกเขาในยุคปัจจุบันคือกลุ่มชาวคริสต์เคร่งศาสนาที่เห็นว่าการทำแท้งและการเป็น LGBTQIA+ เป็นเรื่องผิดบาป พวกเขาจึงต่อต้านการทำแท้ง รวมทั้งเคยต่อต้านสิทธิต่างๆ ของชาว LGBTQIA+ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสมรสของคนเพศเดียวกันหรือสิทธิในการเป็นทหาร

 

นอกจากนั้นผลจากความเชื่อเรื่อง Small Government ยังทำให้พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตมีนโยบายทางสังคมบางเรื่องที่แตกต่างกันอีก เช่น นโยบายเรื่องสิทธิในการถือครองอาวุธ ที่พรรครีพับลิกันถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญในการมีอาวุธไว้ป้องกันตัวโดยไม่ต้องรอความคุ้มครองจากรัฐ ในขณะที่พรรคเดโมแครตต้องการจะออกกฎหมายควบคุมการถือครองอาวุธเพื่อลดปัญหาการกราดยิง (Mass Shooting) ซึ่งกลายเป็นอาชญากรรมที่เกิดจนชินตา รวมทั้งนโยบายโลกร้อนที่พรรคเดโมแครตถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องไปผลักดันให้ชาวอเมริกันใช้พลังงานที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับโลก (พวกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) ให้น้อยลง ด้วยการใช้เงินอุดหนุนพลังงานสะอาดและขึ้นภาษีอุตสาหกรรมคาร์บอน ซึ่งพรรครีพับลิกันมองว่าเป็นการแทรกแซงตลาดเสรี ทำให้กลไกการใช้พลังงานของประเทศนั้นบิดเบี้ยว

 

และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือแนวคิดในเรื่องสีผิว ซึ่งในปัจจุบันพรรคเดโมแครตถือได้ว่าเป็นพรรคของคนผิวดำ เพราะหลังจากที่ชาวอเมริกันผิวดำได้เริ่มหันมาลงคะแนนให้พรรคเดโมแครตในยุคของโรสเวลต์แล้ว พรรคก็ได้ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำมาตลอด โดยเฉพาะในยุค 60 และ 70 ที่พรรคผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนผิวสีที่เรียกว่า Civil Right Act ได้สำเร็จ รวมถึงการต่อสู้ในยุคปัจจุบันเพื่อที่จะปฏิรูประบบยุติธรรมที่มักจะมีอคติกับคนผิวดำ จนทำให้พรรคเดโมแครตได้ภาพลักษณ์ของการเป็นพรรคของคนผิวดำและผิวสีอื่นๆ (เพราะพรรคก็มีนโยบายที่เป็นมิตรกับการอพยพเข้าเมืองด้วย)

 

ในส่วนของพรรครีพับลิกันนั้น พวกเขาก็เปรียบเสมือนพรรคที่เป็นปากเสียงของคนผิวขาวที่มองว่าสหรัฐอเมริกานั้นมาไกลมากแล้ว ปัจจุบันคนไม่ว่าจะสีผิวอะไรก็มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันแล้ว สิ่งที่พรรคเดโมแครตทำอยู่นั้นเปรียบเสมือนการพยายามจะให้อภิสิทธิ์กับคนผิวดำเหนือคนผิวขาว เป็นการเล่นการเมืองเพื่อหาเสียงกับฐานเสียงของตัวเอง นอกจากนี้พวกเขายังมองว่านโยบายที่เปิดรับผู้อพยพก็เป็นการทำร้ายชาวอเมริกันผิวขาวทางอ้อม เพราะผู้อพยพจะมาแย่งงาน และทำให้ค่าแรงของชาวผิวขาวลดลง

 

ไทยรักไทย vs. ประชาธิปัตย์

 

พรรคการเมืองไทยในยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 40 มีความเป็นพรรคการเมืองท้องถิ่นสูงมาก การเลือกตั้งมักยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าพรรค จนเป็นปัญหาว่ารัฐบาลในสมัยนั้นไม่ค่อยมีเสถียรภาพ เพราะเป็นรัฐบาลผสมจากหลากหลายพรรคและบรรดา สส. ก็ย้ายพรรคกันเป็นว่าเล่น

 

การมาถึงของรัฐธรรมนูญ 40 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถือกำเนิดของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ) ให้กำเนิดพรรคการเมืองอย่างไทยรักไทยขึ้นมา ซึ่งก็ทำให้การเมืองไทยในยุคนั้นเริ่มดูคล้ายการเมืองระบบสองพรรคใหญ่ โดยมีไทยรักไทยเป็นตัวแทนของฝ่ายซ้ายและประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของฝ่ายขวา แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของฝ่ายขวาที่ไม่เข้มแข็ง จนทำให้ฝ่ายขวามองว่าพวกเขาไม่สามารถจะเอาชนะไทยรักไทยผ่านระบอบรัฐสภาได้ จนนำไปสู่การ ‘ล้มกระดาน’ ผ่านกระบอกปืนและตุลาการภิวัตน์

 

เพื่อไทย vs. ก้าวไกล

 

ถึงแม้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะใช้อำนาจพิเศษนอกรัฐสภาจนสามารถผลักดันคนของตนมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 คน (พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แต่พวกเขาก็ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้จริงๆ ซึ่งก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอในทางการเมืองของฝ่ายขวา โดยเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมชัดๆ อย่างรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่งรวมกันแค่กว่า 100 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคที่หาเสียงด้วยนโยบายที่เสรีนิยมชัดเจนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวไกลได้รับคะแนนสูงสุดอย่างที่ไม่มีใครคาดหมายมาก่อน

 

ความน่าสนใจในขณะนี้ก็คือการที่พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเลือกที่จะปล่อยมือกัน ไม่มัดรวมกันเป็นข้าวต้มมัดเพื่อตั้งรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ตามข่าวลือว่าเพื่อไทยอาจจะจับมือกับพรรคขั้วอนุรักษนิยมและปล่อยก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านหลัก ซึ่งในฉากทัศน์นี้มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตเพื่อไทยจะถูก ‘ดีล’ ให้กลายเป็นผู้เล่นหลักของฝ่ายอนุรักษนิยม (แทนพรรคอนุรักษนิยมเดิมๆ ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมากว่าสองทศวรรษ) โดยที่ก้าวไกลจะเป็นผู้เล่นหลักของฝ่ายเสรีนิยมหรือฝ่ายซ้าย

 

ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว เราเองคงจะไม่ได้แปลกใจมากที่เพื่อไทยจะยอมแปลงร่างไปเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะในแง่ของนโยบายจริงๆ แล้ว พรรคเพื่อไทยเชื่อในตลาดเสรีและมีความเป็นมิตรกับทุนใหญ่คล้ายรีพับลิกัน เพียงแต่เพื่อไทยเชื่อในประชานิยมและรัฐสวัสดิการด้วย (เทียบได้กับนักการเมืองของพรรครีพับลิกันที่มีแนวคิดแบบกลางขวา ไม่ใช่ขวาจัด) พรรคเพื่อไทยไม่เคยนำเสนอนโยบายทางสังคมแบบเสรีนิยมอย่างสมรสเท่าเทียมหรือสิทธิในการทำแท้งในช่วงที่พรรคไทยรักไทย/พลังประชาชนเป็นรัฐบาล และเพื่อไทยก็มีท่าทีที่เป็นมิตรกับทหารและอำนาจจารีตมาตลอด (ซึ่งก็เป็นหนึ่งในการแยกขั้วซ้ายขวาแบบไทยๆ ที่ไม่ปรากฏในการเมืองอเมริกา)

 

หรือจะพูดอีกแบบคือ ทิศทางและแนวคิดของไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย อาจจะเคยถูกมองว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยมแล้วในยุคก่อนอนาคตใหม่ แต่ในปัจจุบัน นโยบายที่ซ้ายชัดเจนของก้าวไกลทำให้เพื่อไทยถูกมองเปรียบเทียบว่าพวกเขาขวากว่า และคงจะไม่เป็นที่น่าแปลกประหลาดใจอะไรที่พวกเขาจะกลายเป็นขั้วกลางขวาเพื่อต่อสู้กับซ้ายชัดเจนอย่างก้าวไกล

 

ภาพ: Cowardlion via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X