×

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่ง นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อสัปดาห์นี้

11.04.2023
  • LOADING...
อัตราผลตอบแทน พันธบัตรสหรัฐฯ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเมื่อวานนี้ (10 เมษายน) เนื่องจากนักลงทุนจับตารอข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ โดยขณะนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.419% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปีเพิ่มเป็น 3.633% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.012% 

 

ซึ่งตามปกติ ราคาของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวผกผันกับอัตราผลตอบแทน ดังนั้นอัตราผลตอบแทนที่สูงทำให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยิ่งมีราคาถูก

 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนมีนาคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 236,000 ตำแหน่งในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ลดลงจากจำนวนพนักงานใหม่ 326,000 คนในเดือนกุมภาพันธ์

 

Bill Adams หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Comerica Bank กล่าวว่า การเติบโตของงานในเดือนมีนาคมเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นได้ดี การจ้างงานกำลังชะลอตัว โดยมีกระแสลมกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ การเงิน และการค้าปลีก

 

ขณะเดียวกัน Adams กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญสำหรับนักลงทุนในสัปดาห์นี้คือแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ โดยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคจะมีการประกาศในวันพุธที่ 12 เมษายนนี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) จะเผยแพร่รายงานการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุด

 

รายงานระบุว่า ขณะนี้ผู้เล่นในตลาดกำลังชั่งน้ำหนักถึงความเป็นไปได้ที่เงื่อนไขสินเชื่อจะเข้มงวดขึ้น และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นจากการล่มสลายของ Credit Suisse วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ที่ใกล้จะล่มสลาย พร้อมกับความล้มเหลวของผู้ให้กู้ระดับกลางหลายรายของสหรัฐฯ 

 

ขณะที่ในส่วนของราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาลง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายน ราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลง หลังจากที่เพิ่งจะปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันถึง 3 สัปดาห์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจควบคุมอุปสงค์ ซึ่งสร้างความสมดุลกับโอกาสที่ตลาดจะตึงตัวขึ้นจากการลดอุปทานจากผู้ผลิตในกลุ่ม OPEC+

 

ขณะเดียวกัน การที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ชี้ไปที่ตลาดแรงงานที่ตึงตัว ทำให้ความคาดหวังถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อีกครั้งเพิ่มขึ้น อีกทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ทำให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่นๆ และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมัน 

 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ตกลง 96 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 84.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่เวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียตของสหรัฐฯ ลดลง 94 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 79.74 ดอลลาร์ เกณฑ์มาตรฐานทั้งสองลดลงมากกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้า

 

Jim Ritterbusch ประธานบริษัท Ritterbusch and Associates ในกาเลนา รัฐอิลลินอยส์ มองว่าการค้าในสัปดาห์นี้จะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PPI) ในวันที่ 12-13 เมษายนนี้ น่าจะช่วยฟื้นคืนชีพของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นได้

 

โดยราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้นมากกว่า 6% หลังจากกลุ่ม OPEC+ กลุ่มองค์กรของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (OPEC) และพันธมิตร รวมถึงรัสเซีย สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับลดกำลังการผลิตรอบใหม่ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนพฤษภาคม

 

น้ำมันยังได้แรงหนุนจากการลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างเหนือความคาดหมายในสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกับการลดลงของสต๊อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่น ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

 

ด้านตลาดการเงินโลก มีการจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะเผยแพร่ในวันพุธนี้ (12 เมษายน) อาจช่วยให้นักลงทุนประเมินทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นได้

 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานรายเดือนจากกลุ่ม OPEC+ ในวันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน และรายงานจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ International Energy Agency ในวันศุกร์ที่ 14 เมษายน ซึ่งจะอัปเดตการคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานน้ำมัน

 

ในส่วนของราคาทองคำ หลังจากที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวลดลงแล้ว โดยราคาทองคำในตลาดฟิวเจอร์สร่วงลงกว่า 1.1% ทำให้หลุดระดับ 2,000 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1,989.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เช่นเดียวกับราคาทองคำแท่ง (Spot Gold) ที่ลดลงเกือบ 1% มาอยู่ที่ 1,988.88 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนพากันเทขายทองเพื่อทำกำไร หลังราคาพุ่งขึ้น

 

ราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะลดความน่าดึงดูดของสัญญา โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

 

ด้านราคาแร่โลหะมีค่าอื่นๆ ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยแร่เงินลดลง 0.9% เป็น 24.78 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แพลทินัมลดลง 1.5% เป็น 992.07 ดอลลาร์ ขณะที่แพลเลเดียมลดลง 3.5% เป็น 1,415.19 ดอลลาร์

 

อย่างไรก็ตาม Han Tan หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดของ Exinity กล่าวว่า สัญญาณที่บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว ทำให้ Fed สามารถหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วกว่าในภายหลัง อาจทำให้ทองคำกลับคืนสู่ระดับสูงสุดล่าสุดอีกครั้ง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising