สหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริจาควัคซีนโควิดรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย UNICEF
UNICEF เป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่รับผิดชอบด้านการคุ้มครองและพัฒนาเด็ก นอกจากนี้ทางองค์กรยังรับผิดชอบในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดสำหรับโครงการ COVAX ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการจัดสรรวัคซีนให้แก่ประเทศที่มีรายได้น้อย
แม้ข้อมูลที่ UNICEF รวบรวมจะได้มาจากข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งอาจไม่ได้แสดงตัวเลขการบริจาคทั้งหมด แต่ถึงกระนั้นข้อมูลดังกล่าวก็เผยให้เห็นภาพรวมของการบริจาค ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในการฉีดวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยที่เดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชากรของตนได้อย่างต่อเนื่อง กับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่ยังคงพยายามจัดหาวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้ประชากรในประเทศ
จากข้อมูลที่ UNICEF รวบรวม พบว่า สหรัฐฯ บริจาคและส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิดมากกว่า 114 ล้านโดส ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาประมาณ 80 ประเทศทั่วเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งมากกว่า 3 เท่าของปริมาณวัคซีน 34 ล้านโดสที่จีนบริจาค
จีนเป็นผู้บริจาควัคซีนโควิดรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ในขณะที่ญี่ปุ่นตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยจำนวนประมาณ 23.3 ล้านโดส
สำหรับประเทศผู้รับบริจาคอันดับต้นๆ ได้แก่ประเทศในเอเชีย โดยบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และปากีสถาน ได้รับบริจาควัคซีนประเทศละมากกว่า 10 ล้านโดส
โดยรวมแล้วในขณะนี้มีการส่งมอบวัคซีนโควิดแล้วมากกว่า 207 ล้านโดส ทั้งที่บริจาคในรูปแบบทวิภาคี หรือผ่านโครงการ COVAX ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังน้อยกว่าที่คณะกรรมการอิสระขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดหวังไว้
ในรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการอิสระของ WHO ได้เสนอแนะให้ประเทศที่มีรายได้สูงแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิดอย่างน้อย 1 พันล้านโดสให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางภายในวันที่ 1 กันยายน และอีก 1 พันล้านโดสภายในกลางปี 2022
นักระบาดวิทยาชั้นนำของ WHO ประณามประเทศร่ำรวยที่กักตุนวัคซีน พร้อมกับชี้ว่า การกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้การแพร่ระบาดยืดเยื้อยาวนานออกไป
การศึกษาโดย Airfinity ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ พบว่า ประเทศร่ำรวยซื้อวัคซีนโควิดมากเกินความต้องการ โดยประมาณการว่าสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แคนาดา และญี่ปุ่น จะมีปริมาณวัคซีนเกินความต้องการมากกว่า 1.2 พันล้านโดสในปี 2021 หลังจากที่ประเทศเหล่านี้ฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศครบแล้ว และแม้แต่ฉีดบูสเตอร์โดสด้วยแล้ว
ราคาที่ต้องจ่ายจากความเหลื่อมล้ำของวัคซีน
องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายที่จะช่วยให้ทุกประเทศฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 10% ภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนที่จะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 40% ภายในสิ้นปีนี้ และ 70% ภายในกลางปี 2022
แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่า ประมาณ 50 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา มีประชากรไม่ถึง 10% ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดอย่างน้อย 1 โดส ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการที่รวบรวมโดย Our World in Data โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าประชากรในทวีปแอฟริกาได้รับวัคซีนเพียง 5.5% ซึ่งต่ำที่สุดในทุกภูมิภาคของโลก
บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งรวมถึงนักระบาดวิทยาชื่อดัง แลร์รี บริลเลียนต์ กล่าวว่า การขยายความครอบคลุมของวัคซีนมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ และยุติการระบาดใหญ่ทั่วโลก
นอกเหนือจากความกังวลด้านสุขภาพแล้ว ความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรโลกอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ในระหว่างปี 2022-2025 ตามการคาดการณ์ของบริษัทที่ปรึกษา Economist Intelligence Unit โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะแบกรับมูลค่าความเสียหายเหล่านี้มากถึง 2 ใน 3
ภาพ: Michael Clevenger – Pool / Getty Images
อ้างอิง: