ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจยอมเปิดทางให้ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาส่งมอบขีปนาวุธพิสัยไกลขั้นสูงแก่ยูเครน ตามคำขอของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี
สื่อในสหรัฐฯ หลายสำนักทั้ง NBC News, The Wall Street Journal และ The Washington Post พร้อมใจรายงานข่าวดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ (22 กันยายน) โดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ โดยการตัดสินใจของไบเดนมีขึ้นในระหว่างที่ผู้นำยูเครนเดินทางเยือนวอชิงตันเพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม
แหล่งข่าวเผยว่า ไบเดนแจ้งให้เซเลนสกีทราบถึงการตัดสินใจดังกล่าวเมื่อผู้นำทั้งสองพบกันที่ทำเนียบขาวในวันพฤหัสบดี (21 กันยายน) รายงานระบุด้วยว่า ผู้นำสหรัฐฯ บอกกับผู้นำยูเครนว่า เคียฟจะได้รับระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี หรือ ATACMS เป็น ‘จำนวนเล็กน้อย’ และอาวุธจะถูกส่งไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของไบเดน ซึ่งแต่เดิมลังเลที่จะจัดหาอาวุธดังกล่าวให้กับเคียฟ ขณะที่เซเลนสกีกดดันสหรัฐฯ ซ้ำแล้วซ้ำอีกให้จัดส่งขีปนาวุธพิสัยไกลให้เคียฟ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้กองทัพของยูเครนสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนที่รัสเซียยึดครองได้
ทั้งนี้ ขีปนาวุธ ATACMS มีหลายแบบ ทั้งแบบระเบิดลูกปราย หรือคลัสเตอร์บอมบ์ และแบบหัวรบธรรมดา ขณะที่แหล่งข่าวเผยว่าเคียฟจะได้รับมอบ ATACMS แบบระเบิดลูกปราย
อย่างไรก็ดี ทั้งสหรัฐฯ และยูเครนยังไม่ออกมายืนยันรายงานของสื่ออเมริกันอย่างเป็นทางการ
โดยทำเนียบขาว เพนตากอน และกระทรวงการต่างประเทศ ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ณ ปัจจุบันไบเดนตัดสินใจว่าสหรัฐฯ จะไม่จัดส่ง ATACMS ให้กับเคียฟ แต่ก็ไม่ได้ปิดทางเรื่องนี้สำหรับในอนาคต
ด้านเซเลนสกีกล่าวตอบคำถามนักข่าวในประเด็นนี้เมื่อวันศุกร์เพียงว่า เขามั่นใจว่าท้ายที่สุดแล้วสหรัฐฯ จะส่งอาวุธส่วนใหญ่ที่รัฐบาลของเขาขอไป
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราหารือกับประธานาธิบดีไบเดนเมื่อวานนี้…เราจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้เป็นส่วนใหญ่” เซเลนสกีกล่าวในระหว่างเยือนแคนาดา
ทั้งนี้ หลังการพบกันของไบเดน-เซเลนสกี วอชิงตันได้ประกาศความช่วยเหลือทางทหารชุดใหม่มูลค่า 325 ล้านดอลลาร์แก่เคียฟ ซึ่งรวมถึงปืนใหญ่ Howitzer, รถถัง Abrams, ระบบจรวดปืนใหญ่เคลื่อนที่สูง HIMARS (High Mobility Artillery Rocket System) รวมถึงระเบิดลูกปราย ซึ่งจะเป็นรอบที่ 2 ที่วอชิงตันจัดส่งอาวุธที่เป็นข้อขัดแย้งดังกล่าวให้แก่เคียฟ หลังจากสหรัฐฯ ตกลงจัดส่งระเบิดลูกปรายให้ยูเครนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารของไบเดนยังอนุญาตให้ชาติพันธมิตรส่งเครื่องบินรบ F-16 ที่ผลิตในสหรัฐฯ ไปยังยูเครนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทั้งสองได้หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประเด็น ATACMS
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เคียฟพยายามกดดันสหรัฐฯ ให้จัดส่ง ATACMS ที่มีพิสัยการบินไกลถึง 300 กม. ซึ่งจะช่วยให้เคียฟสามารถโจมตีเป้าหมายรัสเซียที่อยู่ลึกเข้าไปหลังแนวหน้าได้ โดยเซเลนสกีเชื่อว่าอาวุธพิสัยไกลดังกล่าวจะช่วยโจมตีเส้นทางขนส่งเสบียง ตำแหน่งบัญชาการ และศูนย์โลจิสติกส์อื่นๆ ของรัสเซียที่อยู่ลึกหลังแนวหน้า การโจมตีด้วย ATACMS จะบีบให้มอสโกต้องเคลื่อนฐานที่มั่นออกไปไกลขึ้น และทำให้การเสริมกำลังทหารและอาวุธทำได้ยากขึ้น
ขณะเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้ไบเดนส่ง ATACMS ให้กับยูเครน โดย สว. เจมส์ ริสช์ ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์แห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน กล่าวกับ Bloomberg ว่า ATACMS เป็นหนึ่งในอาวุธที่อาจสร้างความแตกต่างอย่างเด็ดขาดในการสู้รบของยูเครน และความล่าช้าของฝ่ายบริหารนับเป็นเรื่องน่าขายหน้า
ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของไบเดนระมัดระวังในการจัดส่ง ATACMS เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปนอกยูเครน แต่การเปลี่ยนแปลงท่าทีของวอชิงตันในครั้งนี้อาจช่วยให้เยอรมนีตัดสินใจที่จะจัดหาขีปนาวุธร่อน Taurus ซึ่งมีพิสัยไกลกว่า ATACMS ให้แก่ยูเครนเช่นกัน อย่างไรก็ดี เบอร์ลินยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจล่าสุดของสหรัฐฯ
ปัจจุบันเคียฟใช้ขีปนาวุธ Storm Shadow จากสหราชอาณาจักร และขีปนาวุธ Scalp ของฝรั่งเศส ในการโจมตีเป้าหมายของรัสเซียในดินแดนที่ถูกมอสโกยึดครอง แต่มีรายงานว่าอาวุธเหล่านี้กำลังร่อยหรอลงและอาจจะหมดในไม่ช้า
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เปิดฉากการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และในตอนแรกฝ่ายบริหารของไบเดนลังเลที่จะจัดหาอาวุธที่ทันสมัยให้กับยูเครน อย่างไรก็ดี จุดยืนของสหรัฐฯ เปลี่ยนไปอย่างมากตั้งแต่นั้นมา โดยเคียฟได้รับระบบจรวดพิสัยไกล Himars ที่มีความแม่นยำสูง และขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ Patriot จากวอชิงตัน แต่ถึงกระนั้นประธานาธิบดีไบเดนก็ยังลังเลเกี่ยวกับการส่งมอบ ATACMS เนื่องจากเกรงว่าขีปนาวุธดังกล่าวอาจทำให้การปะทะโดยตรงกับรัสเซียที่มีกองกำลังติดอาวุธนิวเคลียร์นั้นขยับเข้ามาใกล้ยิ่งขึ้น
ภาพ: South Korean Defense Ministry via Getty Images
อ้างอิง: