คณะกรรมการบริหารกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ได้ยื่นเสนอโครงการนำร่องทดลองที่จะเปิดทางให้บรรดาบริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งหลาย อย่าง Uber และ Lyft สามารถจ่ายค่าตอบแทนรายปีให้กับลูกจ้างฟรีแลนซ์ หรือ Gig Worker ของบริษัทด้วยหุ้นของบริษัทไม่เกิน 15% แทนเงินสดได้
แถลงการณ์ของ SEC ระบุว่า เหล่าบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยการอิงกับระบบอินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ อาจเพิ่มแรงจูงใจด้วยการเสนอค่าตอบแทนในรูปแบบหุ้นให้แก่ฟรีแลนซ์ เหมือนที่ให้กับลูกจ้างประจำของบริษัท โดยย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้มุ่งให้บริษัทกำหนดปริมาณเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่าย แต่เป็นการสร้างทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ระหว่างการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินสดหรือเป็นตัวหุ้น
ข้อเสนอครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของบรรดาลูกจ้างอิสระในตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานต่างออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การจ้างงานในรูปแบบ Gig Worker ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบหนึ่ง เพราะแรงงานในกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ และการหยุดพักร้อนที่บริษัทยังต้องจ่ายเงินเดือนให้
Jay Clayton ประธาน SEC สหรัฐฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ในที่ทำงานมีวิวัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และแรงงานที่อยู่ใน Gig Economy ก็เริ่มมีบทบาทความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวงกว้าง
โดยข้อเสนอชั่วคราวนี้จะเปิดทางให้บรรดาฟรีแลนซ์สามารถมีส่วนร่วมกับการเติบโตของบริษัท ซึ่งเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่ง เพราะความพยายามของลูกจ้างแรงงานในกลุ่มนี้ โดยค่าตอบแทนคิดในสัดส่วนรายปีไม่เกิน 15% หรือเทียบเท่า 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวได้รับเสียงคัดค้านจากส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องจำกัดอยู่แค่ลูกจ้างฟรีแลนซ์ของบริษัทด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีลูกจ้างฟรีแลนซ์ หรือลูกจ้างประเภทสัญญาระยะสั้นทำงานอยู่ในแทบทุกแวดวงอุตสาหกรรมและธุรกิจของสหรัฐฯ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: