ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (28 กันยายน) เกิดแรงเทขายครั้งใหญ่ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นต่อภาวะเงินเฟ้อจนต้องหลบออกจากตลาดทุน บวกกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ หลังสภาคองเกรสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ยังไม่คลี่คลาย
โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดตลาดปรับตัวลดลง 569.38 จุด หรือ 1.63% ปิดที่ 34,299.99 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 90.48 จุด หรือ 2.04% ปิดที่ 4,352.62 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 423.29 จุด หรือ 2.83% ปิดที่ 14,546.68 จุด โดยดัชนี Nasdaq ทำสถิติลดลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ความเคลื่อนไหวของตลาดมีขึ้นหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ท่ามกลางความคาดหมายว่าภาวะเงินเฟ้อจะร้อนแรงขึ้นและความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจตัดทอนกรอบเวลาสำหรับกระชับนโยบายทางการเงิน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.567% อันเป็นผลจากการที่ Fed ส่งสัญญาณชัดเจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเดินหน้าลดปริมาณการซื้อคืนพันธบัตรรายเดือนมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเร็ววันนี้
เคธี โจนส์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตราสารหนี้แห่งศูนย์วิจัยการเงิน Schwab Center for Financial Research กล่าวว่า ตลาดเริ่มมองเห็นความจริงและยอมรับว่าที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนค่อนข้างต่ำกว่าพื้นฐานความเป็นจริง ดังนั้นเมื่ด Fed ตัดสินใจลด QE ทำให้นักลงทุนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้พร้อม
แรงเทขายของนักลงทุนเมื่อวานนี้ ส่งผลให้ตลาด Nasdaq ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยร่วงลงถึง 2.8% เนื่องจากนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อความสามารถในการซื้อคืนหุ้นของบริษัท โดยเมื่อวานนี้ (28 กันยายน) หุ้น Facebook, Microsoft และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) ปรับตัวลดลงมากกว่า 3% ขณะที่ Amazon ลดลงกว่า 2% และบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่อย่าง Nvidia ลดลง 4.5%
ตลาดหุ้นเมื่อวานนี้ยังได้รับแรงกดดันจากความเห็นของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่คาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปี 2021 นี้ จะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่เกือบๆ 4% พร้อมเตือนสมาชิกสภาคองเกรสให้หลีกเลี่ยงภาวะชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลกลาง ด้วยการเปิดทางให้มีการขยายเพดานหนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังเข้ากำหนดเส้นตาย และการปล่อยให้ผิดนัดชำระหนี้อาจก่ออันตรายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกฉุดจากรายงานของสำนักงานคอนเฟอเรนซ์บอร์ด ที่เผยว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ อ่อนแอเกินคาดในเดือนกันยายน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
ส่วนราคาน้ำมันในตลาดเมื่อวานนี้ (28 กันยายน) ดีดตัวขึ้นมาเหนือ 80 ดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกในรอบ 3 ปี เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนแกว่งตัวสู่แดนลบ เนื่องจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ ทำให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่นๆ
โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 16 เซนต์ ปิดที่ 75.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 44 เซนต์ ปิดที่ 79.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกท่ามกลางเศรษฐกิจของหลายประเทศที่กำลังฟื้นตัว บวกกับปัญหาด้านซัพพลายการผลิตน้ำมันตึงตัว ทำให้ทิศทางราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับเหนือ 80 ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้งภายในสิ้นปี 2021 นี้
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์บวกกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้น ทำให้ราคาทองคำเมื่อวานนี้ (28 กันยายน) ร่วงลงอย่างหนัก โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ ซึ่งราคาทองคำในตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 14.50 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 1,737.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2021/09/27/-stock-market-futures-open-to-close-news.html
- https://www.aljazeera.com/economy/2021/9/28/oil-roars-beyond-80-the-highest-in-nearly-three-years