×

หุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานหนัก ‘สัญญาณฟองสบู่แตก หรือแค่สลับกลุ่มลงทุน?’

24.01.2022
  • LOADING...
US stocks

HIGHLIGHTS

  • 3 ดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ปรับฐาน 5.7%, 7.73% และ 11.99% ตามลำดับ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 
  • นักลงทุนระดับตำนานอย่าง Jeremy Grantham มองว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับฟองสบู่ขนาดใหญ่ลูกที่ 4 ในรอบ 100 ปี 
  • ขณะที่ศาสตราจารย์ Aswath Damodaran ภาควิชาการเงินแห่ง Stern School of Business ประเมินว่ามูลค่าที่แท้จริงของ S&P 500 อยู่ที่ราว 4,320 จุด 
  • ส่วนนักวิเคราะห์เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพียงแค่ปรับฐานจากจุดที่เคย ‘แพง’ ลงมาหาจุดสมดุลเท่านั้น

ดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้ง Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ต่างปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 5.70%, 7.73% และ 11.99% ตามลำดับ ซึ่งในส่วนของ Nasdaq ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดนี้ เป็นการลดลงไปทำจุดต่ำสุดนับแต่เดือนกรกฎาคม 2021 

 

แรงขายที่เกิดขึ้นส่งผลให้ ‘ดัชนีความกลัว’ อย่าง VIX Index เพิ่มขึ้นแตะระดับ 28 จุด เท่ากับช่วงต้นเดือนธันวาคม 2021

 

ดัชนี Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา  

 

แรงขายที่ออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้มุมมองในตลาดหุ้นมีทั้งฝั่งที่เชื่อว่าตลาดกำลังเดินหน้าเข้าสู่ช่วงเวลาที่ฟองสบู่ครั้งใหญ่กำลังแตกออกมา หรือฝั่งที่เชื่อว่าแรงขายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการปรับฐานของตลาดที่ขึ้นมาอย่างร้อนแรง และยังมีโอกาสที่ตลาดจะขยับขึ้นไปต่อได้ 

 

ในฝั่งของตลาดที่เชื่อว่าฟองสบู่กำลังแตกนั้น อย่างกรณีของ Jeremy Grantham นักลงทุนมากประสบการณ์ที่เป็นผู้ก่อตั้ง Grantham Mayo van Otterloo เปิดเผยว่าขณะนี้สหรัฐฯ กำลังอยู่ในฟองสบู่ขนาดใหญ่ครั้งที่ 4 ในรอบ 100 ปี โดย Grantham เชื่อว่าดัชนี S&P 500 มีโอกาสจะปรับฐานได้ถึง 45% ลงไปแตะระดับ 2,500 จุด 

 

“ในภาวะฟองสบู่ ไม่มีใครอยากจะได้ยินเรื่องราวของตลาดหมี ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในขณะที่งานเลี้ยงกำลังเลิกรา” 

 

Grantham มองว่าสัญญาณเตือนที่เกิดขึ้นคือแรงขายในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เคยถูกเก็งกำไรอย่างหนักก่อนหน้านี้ เช่น ARK Innovation ETF ซึ่งปรับฐานลงมากว่า 50% ขณะเดียวกันเขายังมองว่าพฤติกรรมที่บ้าคลั่งอย่างการเข้าไปเก็งกำไรหุ้น หรือแม้แต่คริปโตเคอร์เรนซีที่เป็นกระแส (Memes) และสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำไปสู่ฟองสบู่ขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ภายใต้ดัชนี S&P 500 จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มกราคม 2022) พบว่า กลุ่มที่ปรับตัวลดลงแรงสุดคือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) -12.17% รองลงมาคือกลุ่มเทคโนโลยี (Information Technology) -11.36% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) -9.48% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นได้มีเพียงกลุ่มเดียวคือ พลังงาน (Energy) +12.79% 

 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ มองว่าที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ใช่ลักษณะของฟองสบู่ที่ตึงตัวมากๆ เทียบกับที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต แต่ต้องยอมรับว่าเป็นระดับที่ราคาหลักทรัพย์ต่างๆ แพงอย่างแน่นอน แรงขายที่เกิดขึ้นเป็นการปรับตัวของราคาจากระดับสูงเข้าหาระดับปกติ 

 

“ส่วนตัวไม่ได้มองว่าจะเป็นภาวะฟองสบู่แตก แต่เป็นการปรับฐานของราคาสินทรัพย์ที่แพงเกินไป ซึ่งเกิดจากแรงหนุนของมาตรการทางการเงินและการคลังในอดีต เมื่อมาตรการกลับด้าน ทำให้หลักทรัพย์ที่เคยได้อานิสงส์ก็ปรับฐานลงมา”

 

ทั้งนี้ นักลงทุนอาจจะลองประเมินเพิ่มเติมว่าการปรับฐานที่ผ่านมาลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับมูลค่าพื้นฐานหรือยัง หรืออาจจะพิจารณาว่าราคาในระดับนี้ซึมซับข่าวอะไรไปบ้างแล้ว แต่หนึ่งในประเด็นที่อาจจะยังประเมินได้ยากคือ เรื่องของการลดขนาด Balance Sheet ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งในส่วนนี้หากมีความชัดเจนเกิดขึ้นเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด

 

ขณะที่ศาสตราจารย์ Aswath Damodaran อาจารย์ภาควิชาการเงิน Stern School of Business มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเมินว่าดัชนี S&P 500 ณ สิ้นปี 2021 มีมูลค่าที่แท้จริงอยู่ที่บริเวณ 4,320 จุด โดยอิงจากสมมติฐานต่างๆ เช่น การเติบโตของกำไรในระดับ 8.22%, 9.67%, 7.28% และ 4.89% ในช่วงปี 2022-2025 และเติบโตเฉลี่ย 2.5% ในระยะยาว 

 

ด้าน มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด มองว่าแรงขายในหุ้นสหรัฐฯ ออกมาจากกลุ่มหุ้นที่เคยได้ประโยชน์จากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาของบรรดาหุ้นเหล่านี้พุ่งขึ้นไปจนมี P/E เกินระดับ 30-50 เท่า 

 

แม้ว่าปัจจุบันอาจจะยังพูดไม่ได้ว่าโควิดดีขึ้นแล้ว แต่ดูเหมือนว่าโลกทั้งโลกคงไม่อยากกลับไปล็อกดาวน์ตัวเองเหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงน่าจะดีขึ้นแน่ๆ ทำให้บรรดาหุ้นออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เคยได้ประโยชน์อาจได้รับความนิยมลดลง 

 

โดยรวมแล้วหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคจริงๆ จะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนแรงขายที่ออกมาค่อนข้างหนัก เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าพรีเมียมในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากโควิดขึ้นไปสูงมาก

 

“ส่วนตัวมองว่าแรงขายที่ออกมาตอนนี้ Overreacted ไปหน่อย สิ่งที่ต้องจับตาคือการประชุม Fed ในสัปดาห์นี้ ซึ่งหลังจบการประชุมแล้วมีโอกาสที่ตลาดจะรีบาวด์ได้ สิ่งที่แตกต่างไปจากฟองสบู่ดอตคอมในอดีตคือ บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่พุ่งขึ้นมาแรงสามารถสร้างกำไรได้จริง” 

 

หากผลการประชุมออกมาตามที่ตลาดคาด คือ ยกเลิกมาตรการ QE เดือนมีนาคม และทยอยขึ้นดอกเบี้ย ตลาดอาจจะถูกขายเล็กน้อยก่อนจะฟื้นตัวได้ แต่หากผลการประชุมออกมาเป็น Dovish คือตั้งใจให้อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ตลาดจะฟื้นตัวได้ทันที ส่วนกรณีที่เป็น Hawkish คือตั้งใจจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วหรือแรงกว่าคาด ตลาดจะเผชิญกับแรงขายหนัก

 

“ถามว่าการปรับฐานของหุ้นสหรัฐฯ รอบนี้รุนแรงหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับว่าเทียบจากจุดไหน หากดูในช่วงปีนี้ก็คงรุนแรง แต่เมื่อย้อนกลับไป 2-3 ปี ซึ่งตลาดวิ่งขึ้นมาแรง การปรับฐานก็อาจจะดูไม่ได้รุนแรงนัก” 

 

สำหรับนักลงทุนที่กำลังพิจารณาหุ้นสหรัฐฯ ควรเน้นไปที่หุ้นใหญ่ซึ่งมีกำไรอิงกับการบริโภคที่แท้จริง โดยมี P/E ไม่เกิน 20-30 เท่า ส่วนกองทุนที่น่าสนใจ มองว่ากองทุนของ Baillie Gifford ที่เน้นเลือกหุ้นเป็นรายตัวมากกว่าอิงตามดัชนียังมีความน่าสนใจ

 

อ้างอิง: 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X