ในปี 2567 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จัดอยู่ในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่น โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.3% สูงกว่าดัชนี MSCI All-Country World Equity ที่ให้ผลตอบแทน 16.5% อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบกับปี 2566 ประกอบกับการที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อความเสี่ยงจากภาวะกำไรถดถอย (Earnings Recession)
อย่างไรก็ตาม ทีม Wealth Research ของหลักทรัพย์บัวหลวงประเมินว่า ในปี 2568 การออกสตาร์ทของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2568 อาจไม่ราบรื่นเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความคาดหวังของผลบวกจากนโยบาย Deregulation และการลดภาษีนิติบุคคล (Corporate Tax Cut) ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นไปมากแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ Forward P/E ของ S&P 500 มี Premium สูงกว่าดัชนี MSCI ACWI ex U.S. มากที่สุดตั้งแต่ปี 2544 อีกทั้ง Equity Risk Premium ที่อยู่ในระดับต่ำมากจนใกล้ 0 Basis Points ยังบ่งชี้ว่านักลงทุนแทบไม่ได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 ธีมลงทุนทั่วโลกรับปี 2025 งูเล็กไซส์บอลลูน
- SCB CIO จับตา 100 วันแรกหลัง ‘ทรัมป์’ นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนโยบายป่วนการค้า-เศรษฐกิจโลก
- บรรดาซีอีโอหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 แบ่งขายหุ้นท่ามกลางตลาดอันร้อนแรง
ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงที่ยังไม่สะท้อนในตลาดคือ การถูกปรับลดประมาณการกำไรปี 2568 ลง และความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยแบบอ่อน (Mild Recession)
ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 15% อาจเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป เนื่องจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจยังสะท้อนสัญญาณเชิงลบ โดย Conference Board Leading Economic Indicator ชะลอตัวลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยปรับลดลง 1.6% ระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ขณะที่ Morgan Stanley’s Non-PMI Leading Earnings Indicator ก็ยังไม่ส่งสัญญาณการเติบโตของกำไรอย่างชัดเจน
สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ในปีนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองคือ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม Magnificent 7 ซึ่งมีมูลค่า (Valuation) ที่อยู่ในระดับสูงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดเผชิญความเสี่ยงต่อการปรับฐาน หากผลประกอบการในปี 2568 ของบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดหวัง แม้ว่าผลสำรวจจาก CIO Survey จะสะท้อนถึงแนวโน้มการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยี แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวเกินกว่าที่ตลาดประเมินไว้ บริษัทต่างๆ อาจต้องทบทวนแผนการลงทุน
โดยเฉพาะในส่วนของ Hardware และ Enterprise Software ซึ่งมีต้นทุนสูง ดังนั้นการเลื่อนหรือปรับลดงบประมาณด้านเทคโนโลยีเหล่านี้อาจนำไปสู่การถูกปรับลดประมาณการกำไรในอนาคต และเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้นของกลุ่มผู้นำตลาดดังกล่าว
นอกจากกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว หลายเซ็กเตอร์ที่ตลาดคาดว่ารายได้จะเติบโตในปี 2568 ก็อาจพลาดเป้าได้เช่นกัน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย เช่น กลุ่มการเงิน (Financials) แนวโน้มของธุรกรรมควบรวมกิจการ (M&A) และตลาดทุนอาจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันคุณภาพสินเชื่อก็อาจเสื่อมถอย ทำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มการกันสำรองหนี้สูญ แม้ว่าผลสำรวจจาก Senior Loan Officer Survey จะส่งสัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อ แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ธนาคารมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอาจจำกัดการขยายตัวของภาคเครดิตในอนาคต
กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าไม่จำเป็น (Consumer Discretionary) การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าราคาสูงและสินค้าฟุ่มเฟือย ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายและกำไรของบริษัทในกลุ่มนี้
กลุ่มภาคอุตสาหกรรม (Industrials) แม้ตลาดจะคาดการณ์ว่ากลุ่มดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากกระแสย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) และโครงการลงทุนของภาครัฐ แต่หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย การลงทุนจากภาคเอกชนจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โครงการใหม่ๆ อาจถูกชะลอหรือเลื่อนออกไป ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อที่อยู่ในมือ (Order Backlog) ลดลง
กลุ่มวัสดุ (Materials) ความต้องการวัสดุต่างๆ มีโอกาสลดลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการลงทุนในโครงการใหม่ๆ และการขยายกำลังการผลิตอาจถูกเลื่อนออกไป ขณะที่ราคาวัสดุเองก็อาจได้รับแรงกดดันจากความต้องการที่อ่อนแอ
ภาพ: รายงานการจัดพอร์ตสินทรัพย์และแนวโน้มการลงทุน ประจำเดือนมกราคม 2568
จากภาพดังกล่าวทำให้การเติบโตของกำไรในหลายๆ อุตสาหกรรมอาจถูกจำกัดมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นถูกกดดัน สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ทางด้านสภาพคล่องในระบบการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตา แม้ว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อในปี 2568 แต่ Real Interest Rate ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าช่วง Pre-COVID เป็นอย่างมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.81% เมื่อเทียบกับปลายปี 2562 ที่ 0.51% จึงถือว่าเป็นระดับที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Restrictive) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของกำไรในหุ้นวัฏจักรนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
ส่วนในแง่ของ Sentiment จากรายงานล่าสุดของ Conference Board ชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2567 ปรับตัวลดลง 8.1 จุด โดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะธุรกิจและรายได้ในอนาคตลดลง
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ สะท้อนจาก CEO Business Confidence Survey ที่แม้จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าปี 2566 แต่เริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 54 จุดในไตรมาส 2 ของปี 2567 เหลือ 51 จุดในไตรมาส 4 ของปี 2567 โดยแม้ว่าตัวเลขที่สูงกว่า 50 จุดจะแสดงถึงการที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีมุมมองเชิงบวกในสัดส่วนที่สูงกว่ามุมมองเชิงลบ แต่ความแตกต่างนี้ก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้หากแนวโน้มการลดลงนี้ยังดำเนินต่อไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนและการจ้างงานในอนาคต
โดยสรุป เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดทั้งระดับ Valuation ที่แพง, การคาดการณ์กำไรที่อาจสูงเกินจริง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมา ล้วนบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับความผันผวนและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังไว้
ภาพ: xPACIFICA / Getty Images