แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย มานานนับปี แต่เหนือขึ้นไป 400 กิโลเมตรจากผิวโลกภายในสถานีอวกาศนานาชาติ ทีมงานจากทั้งสองประเทศยังคงปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์
จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX ทำหน้าที่บรรทุกยาน Crew Dragon Endeavour ทะยานออกจากฐานปล่อย LC-39A ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 12.34 น. วันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย เพื่อนำทีมนักบินอวกาศ 4 คนในภารกิจ Crew-6 เดินทางขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ระยะยาวบนสถานีอวกาศนานาชาติ
หลังโคจรรอบโลกกว่า 24 ชั่วโมงเพื่อปรับระดับความสูงและองศาโคจร จนถึงเวลา 13.40 น. ของวันที่ 3 มีนาคม ตามเวลาประเทศไทย ยาน Dragon ก็ได้เข้าต่อเชื่อมกับช่องฮาโมนี ซีนิท (Harmony Zenith) ของสถานีอวกาศนานาชาติได้เรียบร้อย จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการปรับแรงดันจนถึงเวลา 15.45 น. ประตูยานก็เปิดออก ทีมนักบินอวกาศทั้ง 4 คน (เสื้อฟ้าในภาพ) อันประกอบด้วย ผู้บัญชาการภารกิจ สตีเฟน โบเวน และนักบิน วอร์เรน ‘วู้ดดี’ โฮเบิร์ก จากองค์การ NASA ของสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญ / วิศวกรการบิน สุลต่าน อัล เนยาดี จาก MBRSC ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และผู้เชี่ยวชาญ / วิศวกรการบิน อันเดรย์ เฟดเยฟ จาก Roscosmos ของรัสเซีย ก็ได้ลอยตัวแบบไร้แรงโน้มถ่วงผ่านช่องประตูเข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 7 คนจาก Expedition 68 ที่รอต้อนรับอยู่ก่อนแล้วด้วยความตื่นเต้น (เสื้อดำในภาพ)
เจ้าหน้าที่ทั้ง 7 คนที่รอต้อนรับอยู่นั้นประกอบด้วยทีมงานจาก 3 ประเทศ เริ่มจาก แฟรงค์ รูบิโอ, นิโคล มันน์ และ จอช เอ. กาสซาดา จากองค์การ NASA ของสหรัฐฯ โคอิจิ วากาตะ จากองค์การอวกาศ JAXA ของญี่ปุ่น และสุดท้ายคือ เซอร์เกรย์ ปราโกเยฟ, ดีมิทรี เพเทริน และ อันนา กิกินา จากองค์การอวกาศ Roscosmos ของรัสเซีย
สาเหตุที่กลายเป็นทีมใหญ่ขนาดนี้มีจำนวนเจ้าหน้าที่ถึง 11 คน เพราะก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นมา นั่นคือการรั่วไหลของสารทำความเย็นบริเวณยาน Soyuz MS-22 ที่ต่อเชื่อมอยู่อีกด้านของสถานีอวกาศ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ 3 คนที่เดินทางมากับยานลำนี้นั่นคือ เซอร์เกรย์ ปราโกเยฟ, ดีมิทรี เพเทริน และ แฟรงค์ รูบิโอ ที่ความจริงถึงกำหนดกลับโลกแล้ว ต้องเลื่อนเวลาออกไปอีกนานถึง 180 วัน เพื่อรอยานลำใหม่มารับ
เวลา 180 วันที่ทั้ง 3 คนต้องอยู่ต่อไปนี้ ก็สอดคล้องกับระยะเวลาที่ทีมเจ้าหน้าที่ 4 คนที่มาใหม่ในภารกิจ Crew-6 ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติพอดี
เจ้าหน้าที่ในภารกิจ Crew-6 ทั้ง 4 คน
(จากซ้าย) อันเดรย์ เฟดเยฟ, วู้ดดี โฮเบิร์ก, สตีเฟน โบเวน และ สุลต่าน อัล เนยาดี ภาพนี้เป็นภาพภายในยาน Dragon ก่อนออกเดินทาง
มีโครงการทดลองทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากถึง 200 โครงการที่ถูกนำขึ้นมาพร้อมเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 คนในภารกิจ Crew-6 นี้ ที่เด่นๆ ได้แก่ การศึกษาการเผาไหม้ของวัสดุบางชนิดในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ การวิจัยชิปเนื้อเยื่อที่จะเข้ามากำกับการทำงานของหัวใจ สมอง และกระดูกอ่อนของมนุษย์ รวมไปถึงการนำตัวอย่างจุลินทรีย์ที่อาจรอดชีวิตอยู่ภายนอกสถานีอวกาศมาตรวจสอบ เป็นต้น โดยทั้ง 4 คนจะกลายเป็นเจ้าหน้าที่ชุดแรกของ Expedition 69 ที่จะต้องคอยต้อนรับเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาประจำการในวันข้างหน้า หลังเจ้าหน้าที่อื่นกลับลงไปหมดแล้ว (เจ้าหน้าที่ 4 คนของ Expedition 68 จากภารกิจ Crew-5 จะกลับโลกก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้)
นอกจากหน้าที่หลักดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง ทีมและเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 คนในภารกิจ Crew-6 จะได้ต้อนรับนักท่องอวกาศเอกชนจากยาน Axiom Mission-2 รวมทั้งต้องคอยดูแลการทดสอบยานอวกาศคู่แข่งของ SpaceX นั่นคือยาน Starliner จากบริษัท Boeing ที่มีกำหนดเดินทางมาสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้อีกด้วย
ภาพ: NASA
- Expedition คือคณะทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 6 คนขึ้นไปจากหลายประเทศ เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะเดินทางมากับยานอวกาศมากกว่า 1 ลำ โดยจะแบ่งทีมออกเป็นทีมย่อย เพื่อคอยแนะนำเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานถัดไปที่จะเดินทางมาสมทบในภายหลัง ส่วนทีมย่อยแต่ละชุดก็จะทยอยกลับโลกตามความเหมาะสม (ใครโดยสารยานลำไหนมาก็จะกลับยานลำนั้น)