×

งานวิจัยสหรัฐฯ ชี้ การฉีดวัคซีนโควิดให้หญิงตั้งครรภ์ อาจช่วยป้องกันทารกไม่ให้ป่วยหนักจากโควิดจนต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากคลอด

16.02.2022
  • LOADING...
pregnant women

ทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลเด็กหลายแห่ง พร้อมด้วยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของสหรัฐฯ (CDC) เปิดเผยผลการวิจัยล่าสุดที่พบว่า การฉีดวัคซีนให้แก่หญิงตั้งครรภ์อาจช่วยป้องกันทารกไม่ให้มีอาการป่วยหนักจากโควิดจนต้องเข้าโรงพยาบาลภายหลังจากที่คลอด ซึ่งวัคซีนจะยิ่งให้ประสิทธิภาพที่ดีในการปกป้องทารกจากโควิด หากฉีดให้แก่หญิงตั้งครรภ์ในช่วงใกล้คลอด

 

โดยทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 จนถึงมกราคม 2022 ซึ่งรวมถึงทารกที่เข้ารักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลจำนวน 379 คน ในจำนวนนี้ 176 คนเข้ารักษาอาการป่วยจากโควิด ส่วนอีก 203 คนเข้ารักษาด้วยอาการอื่นๆ

 

ผลวิจัยพบว่า วัคซีนโควิดให้ประสิทธิภาพสูงถึง 61% ในการป้องกันอาการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล สำหรับทารกที่มารดาได้รับการฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์

 

โดยประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นจะเพิ่มสูงถึง 80% หากมารดาของทารกได้รับการฉีดวัคซีนในช่วง 21 สัปดาห์ จนถึง 14 วันก่อนคลอด ส่วนทารกที่มารดาฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้นพบว่าวัคซีนอาจให้ประสิทธิภาพลดลงถึง 32% 

 

ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะมีผลต่อทารกที่ยังเด็กเกินไปที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรายงานวิจัยฉบับนี้เตือนว่า การประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดที่ฉีดให้แก่หญิงตั้งครรภ์ในช่วงแรก ควรใช้ความระมัดระวังในการตีความ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่วิเคราะห์ข้อมูลนั้นมีจำนวนน้อย

 

จากข้อมูลของ CDC พบว่า หญิงตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการป่วยหนักจากโควิดมากขึ้น และการติดเชื้อโควิดระหว่างตั้งครรภ์สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด การคลอดทารกที่ตายในครรภ์ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์อื่นๆ ได้

 

ขณะที่ ดร.ดานา มีนีย์-เดลแมน ของ CDC ยืนยันว่า CDC ต้องการให้แน่ใจว่าวัคซีนโควิดสามารถช่วยป้องกันได้ทั้งแม่และทารก และสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความพร้อมเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ทันทีที่ต้องการ

 

ภาพ: Gary Coronado / Los Angeles Times via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising