สำนักงานงบประมาณรัฐสภา (Congressional Budget Office: CBO) ออกโรงเตือนให้รัฐบาลสหรัฐฯ เร่งปรับงบประมาณการคลังให้สมดุล หลังประเมินว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวพุ่งขึ้นแตะ 181% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายในปี 2053 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า อันเป็นผลพวงจากการขาดดุลการคลังในระดับสูง เพราะการใช้จ่ายของรัฐบาลที่มากขึ้น และรายได้จากภาษีที่เก็บได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
บ่งชี้ได้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพึ่งพาหนี้มากขึ้นเพื่อจ่ายค่าประกันสังคม, Medicare, ทหาร, โครงสร้างพื้นฐาน และโครงการต่างๆ มากมายที่เป็นประโยชน์ต่อครัวเรือนนับล้าน
อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ที่สูงขึ้นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาถึงการใช้จ่ายที่ขาดดุลในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กระนั้นตัวเลขของ CBO ก็ทำให้สบายใจได้เล็กน้อยว่าการขาดดุลประจำปีหลังปี 2042 มีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานของหน่วยงานเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมหลักและอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปีโมเดลที่ CBO แสดงไว้ ซึ่งหมายความว่าตัวเลขในรายงานสามารถปรับปรุงได้เมื่อมีการปรับเปลี่ยนโยบาย
ขณะเดียวกันก็มีคำเตือนอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายนิติบัญญัติอาจจะเผชิญข้อจำกัดทางการคลังเมื่อการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังปี 2026 ซึ่งได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากค่ารักษาพยาบาลและประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับประชากรสูงวัย บวกกับการคาดการณ์ที่ว่า อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานจะลดลงมาอยู่ที่ 60.3% ในปี 2053 จาก 62.2% ในปัจจุบัน
ในส่วนของรายได้รัฐคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2026 แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มรายรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลังจากการลดภาษีภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีกำหนดหมดอายุหลังปี 2026 ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับการคาดการณ์ของ CBO คือ ทำเนียบขาวต้องการคงการลดภาษีบางส่วนไว้ ขณะที่พรรครีพับลิกันต้องการลดภาษีส่วนใหญ่อย่างถาวร ดังนั้น รายได้รัฐจึงอาจต่ำกว่าที่ CBO คาดการณ์ไว้
สำหรับปี 2023 CBO คาดการณ์ว่า หนี้สินซึ่งวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปีนี้จะสูงขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับประมาณการในรายงานผลกระทบงบประมาณระยะยาวของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ในปีนี้รายงานยังประเมินว่า สหรัฐฯ จะมีอัตราการว่างงานสูงถึง 4.7% แม้ว่าอัตราการว่างงานในปัจจุบันจะอยู่ที่ 3.7%
อ้างอิง: