×

FUN FACTS: รวมเกร็ดน่าสนใจที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสหรัฐฯ

24.10.2024
  • LOADING...
การเลือกตั้งสหรัฐฯ

รู้หรือไม่ อับราฮัม ลินคอล์น เคยเป็นบุรุษไปรษณีย์, Teddy Bear ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลต์, เคยสงสัยไหมว่าทำไมภาพวาดของ จอร์จ วอชิงตัน จึงไม่ยิ้ม แถมทำหน้าบึ้งๆ แล้วนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนอกโลกเขาเลือกตั้งอย่างไร รวมเกร็ดน่าสนใจที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา

 

 

1. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ใน ‘วันอังคารแรก’ หลังวันที่ 1 พฤศจิกายน

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ใน ‘วันอังคารแรก’ หลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายน ฉะนั้นวันเลือกตั้งจะอยู่ในช่วงวันที่ 2-8 พฤศจิกายน สำหรับปีนี้วันเลือกตั้งคือ วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2024 และเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 60

 

การเลือกตั้งสหรัฐฯ

 

2. Teddy Bear ถือกำเนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ ประธานาธิบดี ‘ธีโอดอร์ โรสเวลต์’

 

เคยสงสัยไหมว่า Teddy Bear มีที่มาอย่างไร

 

ตำนานเกี่ยวกับตุ๊กตาหมีนี้มีต้นกำเนิดมาจาก ‘ธีโอดอร์ โรสเวลต์

 

ในปี 1902 ตอนที่ ธีโอดอร์ โรสเวลต์ เข้าป่าไปล่าสัตว์ที่มิสซิสซิปปี ปรากฏว่าเขาไม่เจอหมีเลย จึงมีคนพยายามเอาใจโดยการจับหมีมาผูกกับต้นไม้แล้วเรียกโรสเวลต์มาสังหารมัน แต่เขาปฏิเสธที่จะล่าสัตว์ด้วยวิธีการนี้ เรื่องนี้ออกข่าวไปทั่ว จึงมีช่างทำตุ๊กตาหมีขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกของเหตุการณ์นี้ และขอใช้ชื่อเล่นของโรสเวลต์ หรือ ‘เท็ดดี้’ (Teddy) มาเป็นชื่อเรียกของตุ๊กตาที่โด่งดังไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

 

อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรสเวลต์ก็คือ เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็น ‘นักอนุรักษ์ธรรมชาติ’ ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งมีการออกกฎหมายพิทักษ์สัตว์และอุทยานแห่งชาติหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ โดยมีป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มขึ้นมากว่า 150 แห่ง และสร้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 51 แห่ง

 

ในปี 1906 โรสเวลต์ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการช่วยเจรจาสงครามระหว่างรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) ปี 1904-1905 เกิดเป็นสนธิสัญญาพอร์ตสมัธ (Treaty of Portsmouth) ซึ่งเป็นสงครามเพื่อควบคุมพื้นที่บริเวณทางใต้ของแมนจูเรียและคาบสมุทรเกาหลี ญี่ปุ่นชนะในสงครามครั้งนี้ จึงก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจในเวลานั้น

 

เรื่องที่น่าเหลือเชื่อของประธานาธิบดีคนนี้อีกเรื่องก็คือ โรสเวลต์เคยถูกยิงตอนที่กำลังเดินสายหาเสียง แต่โชคดีที่ในกระเป๋าเสื้อมีบทพูดที่เตรียมเอาไว้ ซึ่งหนาถึง 50 หน้า แถมยังพับครึ่งเอาไว้ ประกอบกับมีกล่องแว่นอยู่ในกระเป๋าเสื้อด้วย จึงช่วยลดแรงของกระสุนที่ยิงมา แต่เขาก็ยังได้รับบาดเจ็บอยู่ดี ทว่าโรสเวลต์ปฏิเสธที่จะยกเลิกการปราศรัย และขึ้นพูดกับประชาชนตามที่เตรียมการเอาไว้ โดยใช้เวลาถึงชั่วโมงครึ่งกว่าที่จะลงจากเวทีและเข้ารับการรักษา

 

 

 

3. มีประธานาธิบดี 5 คนที่ไม่ชนะ Popular Vote แต่ได้เป็นประธานาธิบดีจากคะแนนเสียง ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ (Electoral College)

 

จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาทั้งหมด 59 ครั้ง (ยังไม่นับรวมปีนี้) มีประธานาธิบดี 5 คนที่ไม่ชนะ Popular Vote (คะแนนดิบทั่วประเทศ) แต่ชนะเลือกตั้งจากคะแนนเสียง ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ (Electoral College) ได้แก่ จอห์น ควินซี อดัมส์ ในปี 1824, รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ ในปี 1876, เบนจามิน แฮร์ริสัน ในปี 1888, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในปี 2000 และ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016

 

การเลือกตั้งในสหรัฐฯ จะต่างจากประเทศอื่น เพราะไม่ได้นับจากคะแนนดิบหรือ Popular Vote ว่าใครได้คะแนนมากที่สุดแล้วจะชนะ แต่ประชาชนในแต่ละรัฐจะลงคะแนนให้ฝ่ายที่ตนเลือก แล้วคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐจะไปเลือกประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง โดยแต่ละรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน รัฐใหญ่ประชากรเยอะก็จะมีจำนวนผู้แทนมากกว่า เช่น แคลิฟอร์เนียมี 54 คน, เท็กซัส 40 คน ส่วนรัฐที่ประชากรน้อยอย่างอะแลสกาจะมีแค่ 3 คน ส่วนใหญ่แล้วแต่ละรัฐจะใช้ระบบ ‘Winner Takes All’ คือ ถ้าประชาชนเลือกพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน คณะผู้เลือกตั้งก็จะเลือกพรรคนั้นเช่นกัน

 

แต่จาก 50 รัฐ มีเพียง 2 รัฐ คือ ‘เมนและเนแบรสกา’ เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้วิธีการนี้ แต่เลือกใช้ระบบ ‘Congressional District Method’ ซึ่งจะแบ่งคะแนนโหวตของคณะผู้เลือกตั้งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกตามคะแนน Popular Vote แบบผลรวมของรัฐ โดยจะได้ตัวแทน 2 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ คะแนน Popular Vote ตามเขต เขตละ 1 คน (เมนมี 2 เขต และเนแบรสกา 3 เขต)

 

ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งมากกว่าครึ่งหนึ่งของคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งทั้งประเทศมีอยู่ 538 คน หากฝ่ายใดได้รับเสียงโหวต 270 เสียงขึ้นไปก็จะได้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปครอง

 

 

4. แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ เป็น ‘ประธานาธิบดีคนเดียว’ ในประวัติศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย (รวม 4 สมัย) เพราะเป็นช่วงที่เกิด ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’

 

ปกติแล้วประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย (สมัยละ 4 ปี คือไม่เกิน 8 ปี) แต่มีเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกถึง 4 สมัย ซึ่งก็คือ ‘แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์’ ในปี 1933-1945 เพราะโรสเวลต์เป็นประธานาธิบดีในยุคที่สภาวะบ้านเมืองไม่มั่นคง ตอนแรกเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) จากนั้นในสมัยหลังก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยโรสเวลต์เสียชีวิตในช่วงต้นของสมัยที่ 4 เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติลง ดังนั้น แฮร์รี เอส. ทรูแมน รองประธานาธิบดีในขณะนั้นจึงขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

 

 

5. จอร์จ วอชิงตัน เป็น ‘ประธานาธิบดีคนแรก’ ที่ได้รับเลือกด้วย ‘คะแนนเสียงเอกฉันท์’

 

นอกจาก จอร์จ วอชิงตัน จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ แล้ว เขายังเป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ โดยได้คะแนนเสียง 69 คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 69 คนในเวลานั้น

 

การเลือกตั้งสหรัฐฯ

 

6. โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 แต่จริงๆ แล้วสหรัฐฯ มีประธานาธิบดี 45 คน

 

โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 แต่หากนับจริงๆ แล้วสหรัฐฯ มีประธานาธิบดี 45 คน เพราะ ‘โกรเวอร์ คลีฟแลนด์’ ดำรงตำแหน่ง 2 สมัยไม่ติดกัน คือ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 22 และ 24 (หากดำรงตำแหน่ง 2 สมัยติดกันจะนับเป็น 1)

 

 

7. นักบินอวกาศที่ประจำอยู่สถานีอวกาศนอกโลกสามารถ ‘เลือกตั้งผ่านอีเมลได้’

 

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็น ‘สิทธิพื้นฐาน’ ของประชาชนอเมริกัน คนที่ไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ก็ลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ได้ หรือแม้แต่นักบินอวกาศที่ประจำอยู่สถานีอวกาศนานาชาตินอกโลกก็ยังสามารถโหวตผ่านระบบอีเมลที่ปลอดภัยได้ โดยกฎหมายการเลือกตั้งของนักบินอวกาศนี้ออกมาเมื่อปี 1997 ที่รัฐเท็กซัส ซึ่งสมัยนั้น ‘จอร์จ ดับเบิลยู. บุช’ ยังเป็นผู้ว่าการรัฐ และเป็นคนเซ็นผ่านร่างกฎหมายนี้ โดยในขณะนั้น ‘บิล คลินตัน’ เป็นประธานาธิบดี

 

 

8. ประธานาธิบดีคนแรกที่ได้นั่งรถไฟ, รถยนต์, เครื่องบิน, เรือดำน้ำ

 

ปี 1833 แอนดรูว์ แจ็กสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 7) เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้ขึ้นรถไฟ และเรียกรถไฟว่า ‘ม้าเหล็ก’ ด้วย

 

ปี 1843 ธุรกิจยานยนต์เริ่มถือกำเนิดในสหรัฐฯ และประธานาธิบดีคนแรกที่ได้นั่งรถยนต์ก็คือ วิลเลียม แมคคินลีย์ (ประธานาธิบดีคนที่ 25)

 

ปี 1905 ธีโอดอร์ โรสเวลต์ (ประธานาธิบดีคนที่ 26) เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้ลงเรือดำน้ำและบังคับเรือเองด้วย โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการทดสอบเรือดำน้ำ

 

ปี 1910 ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ได้นั่งเครื่องบินรุ่นแรกๆ กับพี่น้องตระกูลไรต์ แต่ประธานาธิบดีที่ได้เดินทางโดยเครื่องบินแบบเต็มรูปแบบและข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกคือ แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ในปี 1943

 

การเลือกตั้งสหรัฐฯ

 

9. จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่บินด้วย ‘เครื่องบิน Air Force One’ ที่ใช้สำหรับประธานาธิบดีโดยเฉพาะ

 

ปี 1962 จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่บินด้วยเครื่องบินที่สร้างขึ้นสำหรับประธานาธิบดีโดยเฉพาะอย่าง Air Force One (ยุคนั้นเป็นเครื่องบิน Boeing 707 ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็น Boeing 747)

 

 

10. อับราฮัม ลินคอล์น เคยเป็นบุรุษไปรษณีย์ และ จิมมี คาร์เตอร์ เคยเป็นเกษตรกร

 

ประธานาธิบดีหลายคนไม่ได้มีพื้นเพมาจากการเป็นนักการเมืองมาก่อน แต่มีหลากหลายอาชีพก่อนหน้านั้น

 

อับราฮัม ลินคอล์น (ประธานาธิบดีคนที่ 16) ทำมาแล้วหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุรุษไปรษณีย์, พนักงานพายเรือ, พนักงานขายของ, ทหาร, ทนาย จนมาเป็นสมาชิกรัฐสภา และประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการจารึก ‘เรื่องการเลิกทาส’

 

แอนดรูว์ จอห์นสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 17) เคยทำอาชีพช่างตัดเสื้อ ตอนเด็กๆ ครอบครัวเขายากจนมากจึงไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่อแต่งงานกับ เอลิซา แมคคาร์เดิล เธออ่านหนังสือและสอนทั้งการเขียน การสะกดคำ และการลงทุน ให้กับประธานาธิบดีคนนี้ จนทั้งสองสร้างตัวขึ้นมาได้

 

วอร์เรน จี. ฮาร์ดิง (ประธานาธิบดีคนที่ 29) เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เขาบอกว่าอาชีพนี้รวมความน่าสนใจทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันคือ การเขียนและโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโลก

 

เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (ประธานาธิบดีคนที่ 31) เคยเป็นวิศวกรเหมืองแร่มาก่อน และเดินทางไปสำรวจเหมืองแร่ในหลายทวีป เช่น ออสเตรเลียและจีน

 

ลินดอน บี. จอห์นสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 36) ตอนอายุ 12 ปี เคยพูดกับเพื่อนในห้องเรียนว่า สักวันหนึ่งเขาจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยก่อนจะมาทำงานการเมืองนั้น เขาเคยเป็นครูและใช้เงินส่วนตัวซื้ออุปกรณ์กีฬาให้กับนักเรียนที่ยากไร้อีกด้วย

 

ส่วน จิมมี คาร์เตอร์ (ประธานาธิบดีคนที่ 39) เคยเป็นเกษตรกรทำไร่ ก่อนที่จะหันหน้าเข้าสู่เส้นทางการเมืองและนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ปัจจุบันคาร์เตอร์อายุครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ

 

 

11. ภาพของ จอร์จ วอชิงตัน มักไม่ค่อยยิ้ม เพราะเขาใส่ฟันปลอมแทบทั้งปาก

 

จอร์จ วอชิงตัน มักไม่ค่อยยิ้มในภาพวาดต่างๆ จะเป็นหน้าหันข้าง หน้าบึ้งๆ เพราะประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ผู้นี้ใส่ฟันปลอมแทบทั้งปาก ตอนที่เข้าพิธีสาบานตนนั้นเขาเหลือฟันแท้เพียงซี่เดียว แล้วใส่ฟันปลอมชุดพิเศษที่ทำจากฟันของสัตว์และทองคำ ในสมัยโบราณวัสดุที่เอามาทำฟันปลอมหลากหลายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้, ฟันฮิปโป, ทอง, โลหะ หรือแม้แต่ฟันของทาส

 

 

12. โดนัลด์ ทรัมป์ เคยเป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์ Home Alone

 

หลายคนอาจเคยเห็น โดนัลด์ ทรัมป์ ปรากฏตัวในศึกมวยปล้ำของสหรัฐฯ แต่ทรัมป์ยังเคยเป็น ‘นักแสดงรับเชิญ’ ในภาพยนตร์และซีรีส์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่น Home Alone และ Sex and the City และยังเคยได้รับรางวัลนักแสดงสมทบยอดแย่ (Razzie Awards) จากเรื่อง Ghosts Can’t Do It ด้วย

 

 

13. ประธานาธิบดี 4 คน เกิดและเสียชีวิตใน ‘วันชาติสหรัฐฯ’ (4 กรกฎาคม)

 

ประธานาธิบดีมากถึง 3 คน เสียชีวิตใน ‘วันชาติสหรัฐฯ’ ได้แก่

 

จอห์น อดัมส์ (ประธานาธิบดีคนที่ 2) ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแมสซาชูเซตส์ซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้เข้าไปอยู่ในทำเนียบขาว

 

โทมัส เจฟเฟอร์สัน (ประธานาธิบดีคนที่ 3) เป็นนักคิด นักเขียน เก่งทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา และการคำนวณ พูดได้ถึง 6 ภาษา คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, กรีก, ละติน, อิตาลี และสเปน นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เขียน ‘คำประกาศอิสรภาพ’ (Declaration of Independence) อีกด้วย

 

เจมส์ มอนโร (ประธานาธิบดีคนที่ 5) ดำรงตำแหน่งในสมัยที่ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข เรียกว่ายุค ‘Era of Good Feelings’ ซึ่งแผ่ขยายอาณาเขตของสหรัฐฯ ไป โดยการเจรจาซื้อแผ่นดินบริเวณรัฐฟลอริดาจากสเปนในราคา 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1819 และในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 มอนโรชนะการเลือกตั้งแบบไม่มีคู่แข่ง ทั้งยังเป็นผู้เขียน ‘หลักการมอนโร’ (Monroe Doctrine) เกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ ต้องการดำรงอยู่อย่างสงบและโดดเดี่ยว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาณานิคมของยุโรป แต่ก็ไม่ยอมให้ประเทศใดมาแทรกแซงสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

 

ขณะที่ประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่เกิดในวันชาติสหรัฐฯ คือ แคลวิน คูลิดจ์ (ประธานาธิบดีคนที่ 30) เกิดวันที่ 4 กรกฎาคม 1872 เขาเป็นคนพูดน้อยมากจนได้รับสมญานามว่า ‘Silent Cal’ เคยมีคนพนันกันว่าจะทำให้ประธานาธิบดีพูดมากกว่า 2 คำให้ได้ ซึ่งคูลิดจ์ตอบกลับว่า “You lose” (คุณแพ้ (แล้ว))

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X