×

สหรัฐฯ เผยดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับตัวพุ่งสู่ระดับ 6.5% ย้ำภาพอสังหา ‘ขาลง’ ชัดเจน

24.02.2023
  • LOADING...
ดอกเบี้ยสินเชื่อ

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนองที่อยู่อาศัยระยะยาวของสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่บรรดานักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นการตอกย้ำขาลงของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา 

 

รายงานระบุว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านระยะเวลา 30 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 6.5% จาก 6.32% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 3.89%

 

ทั้งนี้ อัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยสินเชื่อระยะยาวเคยพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ 7.08% ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ( Fed) ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี จนส่งผลต่อการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินต่างๆ ของภาคการเงินสหรัฐฯ และทั่วโลก 

 

ทั้งนี้ ในการประชุม Fed ครั้งแรกในปี 2023 เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่ง Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นครั้งที่ 8 ในเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อยู่ในช่วง 4.5-4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี

 

ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยเริ่มเห็นผลเมื่อมีสัญญาณบวกที่อัตราเงินเฟ้อขยับปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งทำให้ Fed สามารถเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้อีก เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ Fed ในเวลานี้คือการจัดการเงินเฟ้อ และขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันได้ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลง 

 

อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายชุดที่เปิดเผยในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed มีโอกาสขยับขึ้นอีกกว่า 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นแตะ 5.25-5.5% 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising