เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (6 กรกฎาคม) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติการใช้งานยารักษาอัลไซเมอร์ชนิดใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเปิดทางให้ประชาชนเข้าถึงยาดังกล่าวได้มากขึ้น
ยารักษาโรคอัลไซเมอร์นี้มีชื่อว่า Leqembi ซึ่งเกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัท Eisai ของญี่ปุ่น และบริษัท Biogen ของสหรัฐฯ โดยผลจากการทดลองทางคลินิกพบว่ายาตัวนี้สามารถลดการเสื่อมถอยของกระบวนการรับรู้ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ได้ในระดับปานกลาง แต่ทั้งนี้งานวิจัยก็ได้กล่าวถึงผลข้างเคียงของยาตัวนี้ที่รวมไปถึงภาวะเลือดออกในสมองและอาการสมองบวม
ยา Leqembi หรือที่รู้จักในชื่อของ Lecanemab เป็นการรักษาโดยแอนติบอดีที่จะถูกฉีดเข้าไปในสมองทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของโปรตีนที่มีชื่อว่าแอมีลอยด์ บีตา (Amyloid Beta) ที่จับตัวกันเป็นแอมีลอย์ด พลาก (Amyloid Plaques) ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง โดยระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาขยายความครอบคลุมของประกันให้รวมถึงยาตัวนี้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับผู้ป่วยได้อย่างมาก เพราะหากไม่มีประกันแล้ว ค่าใช้จ่ายต่อปีจะสูงถึง 26,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9.3 แสนบาทต่อผู้ป่วยหนึ่งคน
เทเรซา บูราคชิโอ (Teresa Buracchio) เจ้าหน้าอาวุโสของ FDA กล่าวในแถลงการณ์ว่า “งานวิจัยนี้ได้รับการรับรองว่ายามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์”
ชิกิตา บรูคส์-ลาชัว (Chiquita Brooks-LaSure) ผู้บริหารหน่วยงานที่ดำเนินโครงการ Medicare กล่าวว่า “นี่เป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับผู้คนนับล้านในประเทศนี้และครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคร้ายแรงนี้”
แฟ้มภาพ: Atthapon Raksthaput Via Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.straitstimes.com/world/united-states/us-makes-new-alzheimers-drug-more-widely-accessible
- https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2018/alzheimer-disease
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/us-fda-grants-standard-approval-eisaibiogen-alzheimers-drug-2023-07-06/