ปัจจุบันส่วนแบ่งในผลผลิตของอุตสาหกรรมชิปอยู่ที่เอเชีย 87% สหรัฐฯ 10% ยุโรปและอื่นๆ 3% ซึ่งบ่งบอกว่าในขณะนี้ประเทศในเอเชียมีความสำคัญต่อการตั้งโรงงานชิปแห่งใหม่ๆ
“ซึ่งถ้าหากเจาะลึกไปที่ส่วนแบ่งในเอเชียจะพบว่าไต้หวันและเกาหลีใต้ครองส่วนแบ่งคนละ 20% ญี่ปุ่น 17% และจีน 16% แม้ว่าเอเชียจะเป็นผู้นำในการผลิตชิป แต่ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถสร้างระบบนิเวศครบวงจรในการผลิตชิปของตน หมายความว่าต่างคนต่างต้องพึ่งพากันในขั้นตอนการผลิตชิปแต่ละประเภท”
Cheng Ting-Fang หัวหน้าผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีของ Nikkei Asia ระบุในงานเสวนาของ Nikkei Forum ในหัวข้อ Untold Story of Chip War: The Underestimated Impact of Export Control ว่า สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะกลายเป็นปลายทางหมายเลข 1 ของบริษัทผลิตชิปในการเคลื่อนย้ายการผลิตจากความขัดแย้งด้านการส่งออกชิประหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้วยปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมที่สุด อีกทั้งรัฐบาลทั้งสองประเทศยังพร้อมอัดฉีดให้แก่บริษัทชิปที่มาลงทุนในประเทศของตน
“ประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการเป็นประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจของโลกมากที่สุด แต่ยังติดปัญหาเรื่องที่ดินและน้ำสะอาดที่ยังไม่เพียงพอ ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้อาจจะไม่สามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดได้มากกว่านี้แล้ว” Fang กล่าว
กระแสการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น บริษัทคอมพิวเตอร์พีซีอย่าง Dell ที่ประกาศลดการผลิตในจีน HP ที่ระบุว่าจะย้ายการผลิตออกจากจีนไปยังเม็กซิโกและไทย หรือแม้แต่ Apple ที่โยกย้ายการผลิต iPhone จากจีนไปยังอินเดีย บ่งบอกว่าอุตสาหกรรมชิปที่จะถูกผลิตในทั่วทุกแห่งบนโลกไม่ใช่แค่จีนที่เป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป
Chris Miller ผู้เขียนหนังสือชื่อดัง Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology กล่าวว่า แม้ทางการจีนมีความพยายามที่จะให้บริษัทจีนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าอุตสาหกรรมชิปของจีนกำลังดำเนินธุรกิจตามที่ทางการจีนคาดหวัง อีกทั้งจีนก็ยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ฉะนั้นคงต้องใช้เวลานานกว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เพราะจะต้องคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการผลิตที่มีประสิทธิภาพกว่าประเทศอื่น
Chris ตั้งข้อสังเกตว่าหากมองในแง่ดีเทคโนโลยีชิปของจีนนั้นตามหลังฝั่งตะวันตกไม่ไกลนัก ขณะที่บริษัทจีนส่วนใหญ่มีส่วนแบ่งเล็กน้อยในอุตสาหกรรมเท่านั้น ฉะนั้นคำถามที่ควรตั้งไม่ใช่การถามว่าต้องใช้เวลานานเท่าไรถึงจะไล่ตามประเทศอื่นๆ ทัน แต่เป็นการตั้งคำถามถึง ‘เครื่องมือ’ ใดที่จีนสามารถนำมาทุ่นแรง และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อย่างเท่าตัว
นี่เป็นโจทย์หลักที่จีนต้องหาคำตอบ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศอย่างสหรัฐฯ พร้อมแข่งขันในการเป็นผู้นำในการผลิตชิปในอนาคต ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็พร้อมแย่งชิงฐานการผลิตที่เกี่ยวข้องกับชิปไปจากจีนเช่นกัน
จีนเตือนสหรัฐฯ พร้อมตอบโต้หากยังออกกฎควบคุมการส่งออกชิป
เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันออกโรงเตือนสหรัฐฯ ว่าทางการจีนพร้อมตอบโต้มาตรการความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นมาที่ประเทศจีน รวมถึงกลไกคัดกรองการลงทุนของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน
Xie Feng กล่าวว่า จีนไม่สามารถนิ่งเฉยได้ในเวลาที่สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรและควบคุมการส่งออก ซึ่งเป็นการยากสำหรับจีนในการรักษาเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐฯ รวมถึงชิปที่ทันสมัย
“จีนไม่สามารถนิ่งเฉยต่อการกระทำนี้ได้ เราจะไม่ทำการยั่วยุ และจะไม่สะดุ้งจากการถูกยั่วยุ แต่เราจะทำการตอบโต้ในแบบของเราอย่างแน่นอน” Xie ระบุบนฟอร์มความมั่นคงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 กรกฎาคม)
การออกโรงเตือนของ Xie เกิดขึ้นหลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการขั้นสุดท้ายของการคัดกรองการลงทุนที่ออกแบบมาเพื่อลดเม็ดเงินที่สหรัฐฯ ลงทุนในหน่วยงานของจีนในภาคส่วนต่างๆ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกองทัพสหรัฐฯ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เตรียมปรับปรุงแผนการควบคุมการส่งออกอย่างกว้างขวางจากปีที่แล้ว เพื่อปิดช่องโหว่และทำให้บริษัท เช่น NVIDIA ค้าขายเซมิคอนดักเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ให้แก่จีนได้ยากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการจีนก็ได้ดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สั่งห้ามหน่วยงานบางแห่งของประเทศซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทที่กำหนดไว้ และเมื่อต้นเดือนนี้ ได้สั่งให้บริษัทจีนที่ส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียมจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อน ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของแร่ธาตุ 2 ชนิดที่จำเป็นในการผลิตชิป
เมื่อพูดถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการทำลายความพยายามของจีนเพื่อให้ได้มาซึ่งชิปที่ทันสมัยที่สุด Xie เปรียบว่าเหมือนกับ “การกีดกันให้อีกฝ่ายใส่ชุดว่ายน้ำที่ล้าสมัยในการแข่งขันว่ายน้ำ แต่ในขณะที่ตัวคุณเองกลับสวมชุดว่ายน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด”
อ้างอิง: