ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาพรรครีพับลิกันได้จัดการเลือกตั้งขั้นต้นไปแล้ว 5 มลรัฐ คือที่มลรัฐไอโอวา, นิวแฮมป์เชียร์, เนวาดา, เซาท์แคโรไลนา และมิชิแกน ซึ่งอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็สามารถเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง นิกกี เฮลีย์ ไปได้อย่างเด็ดขาดในทุกๆ สนาม ซึ่งชัยชนะที่มลรัฐเซาท์แคโรไลนาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็น่าจะถือเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงของเฮลีย์ไปเสียแล้ว เพราะนี่คือมลรัฐบ้านเกิดของเธอที่เธอเคยเป็นผู้ว่าการรัฐมาก่อน (ทรัมป์ชนะเฮลีย์ที่นี่ไปอย่างเด็ดขาดถึง 20%)
อย่างไรก็ดี การที่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่งนั้นจะได้เป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ เขาหรือเธอจะต้องชนะการเลือกตั้งที่การประชุมใหญ่ของพรรค (ซึ่งของรีพับลิกันจะจัดขึ้นที่เมืองมิลวอคกี มลรัฐวิสคอนซิน ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้) โดยที่เขาหรือเธอจะต้องรวบรวมเสียงของคณะผู้แทนเลือกตั้งจากแต่ละมลรัฐหรือ Delegate ให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของ Delegate ทั้งหมด ซึ่งก็แปลว่าในทางทฤษฎีแล้วเฮลีย์สามารถต่อสู้กับทรัมป์ไปได้เรื่อยๆ จนกว่าทรัมป์จะรวบรวม Delegate ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของ 2,429 เสียง (1,215 เสียง) แต่เฮลีย์ก็ได้ประกาศแล้วว่าเธอจะต่อสู้ถึงแค่ Super Tuesday เท่านั้น และจะถอนตัวจากการลงสมัคร หากเธอไม่สามารถชนะที่มลรัฐใดๆ ได้เลย
Super Tuesday
Super Tuesday เป็นคำที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองชอบใช้เรียกวันอังคารของเดือนมีนาคม ที่หลายๆ มลรัฐจัดการเลือกตั้งขั้นต้นพร้อมๆ กัน ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่แต่ละมลรัฐจะจัดการเลือกตั้งในวันที่แตกต่างกัน
ในปีนี้ Super Tuesday จะมีขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม ซึ่งจะมี 15 มลรัฐที่จัดเลือกตั้งพร้อมกัน (อันได้แก่ แอละแบมา, อาร์คันซอ, อะแลสกา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, เมน, แมสซาชูเซตส์, มินนิโซตา, นอร์ทแคโรไลนา, โอคลาโฮมา, เทนเนสซี, เท็กซัส, ยูทาห์, เวอร์มอนต์, เวอร์จิเนีย รวมถึงเขตการปกครองอเมริกัน ซามัว) และมี Delegate ให้ชิงชัยถึงเกือบ 900 เสียง ซึ่งถึงแม้ว่าจำนวน Delegate ที่มีให้ชิงชัยจะไม่เพียงพอให้ทรัมป์มีเสียงเกิน 1,215 เสียง แต่ถ้าเฮลีย์ยอมแพ้และขอถอนตัว เขาก็จะไม่มีคู่แข่งหลงเหลืออีก และจะได้เป็นผู้แทนพรรคอย่างไม่เป็นทางการ (Presumptive Nominee) ในวันนั้นนั่นเอง
โพลของมลรัฐต่างๆ ของ Super Tuesday นั้นมีไม่มาก แต่ผลโพลเท่าที่มีรวมถึงผลการเลือกตั้งจาก 5 มลรัฐแรกบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทรัมป์จะกวาดชัยชนะแบบถล่มทลายในทุกๆ มลรัฐ
เฮลีย์กำลังทำอะไรอยู่
ว่ากันตามจริง เฮลีย์ควรจะรู้ตัวว่าโอกาสที่เธอจะเอาชนะทรัมป์ได้นั้นแทบจะเป็นศูนย์ตั้งแต่เธอพ่ายแพ้แก่เขาที่มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ (ที่เป็นมลรัฐของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีการศึกษาสูงและมีแนวคิดแบบกลางขวา) และเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์เมื่อเธอพ่ายแพ้ในมลรัฐเซาท์แคโรไลนาที่เป็นบ้านเกิดของเธอ เฮลีย์ควรจะถอนตัวไปก่อนหน้านี้ แต่เธอก็ยังยืนกรานที่จะขอแข่งในสนาม Super Tuesday ต่อ ทั้งๆ ที่เธอรู้ว่ากำลังมุ่งหน้าสู่การพ่ายแพ้แบบแลนด์สไลด์
เฮลีย์กำลังคิดอะไรอยู่?
นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนเชื่อว่าเหตุผลที่เฮลีย์ยังคงขออยู่ในสนามต่อนั้นมีอยู่สองข้อ อันดับแรกเลยคือเฮลีย์เชื่อว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะติดหล่มทางกฎหมายจนไม่สามารถเป็นผู้แทนพรรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีจลาจลที่รัฐสภาที่นำไปสู่การถอนสิทธิการเลือกตั้งของเขาแล้วถึง 3 มลรัฐ (โคโลราโด, เมน และอิลลินอยส์) ซึ่งคดีนี้ก็กำลังถูกพิจารณาที่ศาลสูงสุด (Supreme Court) ดังนั้นการที่เธอเป็นคู่แข่งคนเดียวที่เหลือของทรัมป์ก็อาจสร้างความชอบธรรมให้เธอเป็นตัวเลือกแทนเขาในกรณีที่ศาลตัดสินออกมาในทางไม่เป็นคุณแก่ทรัมป์
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เฮลีย์อาจมองไกลกว่านั้น เธออาจมองไปถึงการเลือกตั้งในปี 2028 โดยที่เธอมองว่าทรัมป์อาจแพ้การเลือกตั้งให้กับไบเดนในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ และนั่นก็อาจเป็นจุดจบของยุคของการเมืองแบบทรัมป์ในพรรครีพับลิกัน และเธอก็จะได้เครดิตว่านักการเมืองไม่กี่คนที่กล้ายืนหยัดต่อสู้กับทรัมป์ในยุคที่เขาเรืองอำนาจ และควรจะเป็นผู้นำพรรคคนต่อไปในยุคหลังทรัมป์
เกาะติด การเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ได้ที่ เว็บไซต์พิเศษ : เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 และ Facebook : THE STANDARD
ภาพ: Win McNamee / Getty Images