×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: เล่าระบบการเมือง-การเลือกตั้งสหรัฐฯ ตั้งแต่ออกสตาร์ทสู่เส้นชัยทำเนียบขาว

28.09.2020
  • LOADING...
Donal Trump Joe Biden

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีบทบาททางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจอย่างสูงในระดับโลก กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 59 ในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ดังนั้นจึงเป็นที่จับตามองไปทั่วโลก เพราะจะเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์การเมือง และเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ 

 

สหรัฐฯ มีระบบการเมืองเป็นแบบไหน ระบบเลือกตั้งบ้านเขาเป็นอย่างไร กว่าจะได้ผู้สมัครมาชิงชัยกัน พวกเขาต้องผ่านเส้นทางอะไรบ้าง ก่อนจะถึงเส้นชัยทำเนียบขาว THE STANDARD จะเล่าสรุปให้อ่านกัน

 


 

 

การเมืองเรื่องอำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุล

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกากันสักเล็กน้อย สหรัฐอเมริกานั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของทางการว่าเป็นแบบ ‘Constitutional Federal Republic’ หรืออาจจะแปลได้ว่าเป็นแบบสหพันธ์สาธารณรัฐแบบมีรัฐธรรมนูญ ใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจที่ได้รับอิทธิพลมาจากมองเกสติเออร์ นักคิดชาวฝรั่งเศส ซึ่งแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในระดับรัฐบาลกลางออกจากกัน 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ใช้อำนาจเหล่านี้ต่างก็ตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันด้วย ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐ และทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายบริหาร สามารถ ‘วีโต้’ หรือยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรส ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติได้ เสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ความยินยอมจากวุฒิสภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝั่งตุลาการเองก็สามารถปฏิเสธกฎหมายหรือคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ออกมาจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารได้เช่นกัน อย่างที่พวกเราก็คงจะเคยได้ยินข่าวอยู่บ้าง ส่วนฝั่งสภาคองเกรสซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถใช้อำนาจควบคุมเรื่องงบประมาณของฝ่ายบริหารได้ นอกจากนี้ ระบบการปกครองของสหรัฐฯ ยังมีการแบ่งแยกอำนาจไปยังรัฐบาลระดับรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่นอีกด้วย

 

แถมอีกนิดว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังมีบทบาทเรื่องอื่นๆ อีก เช่น การต่างประเทศ การเจรจาสนธิสัญญา การเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด แบบนี้เป็นต้น

 


 

 

แล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นอย่างไร 

สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกๆ 4 ปี ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนในปีที่ต้องมีการเลือกตั้ง ดังนั้นโดยปกติประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงมีวาระการดำรงตำแหน่งสมัยละ 4 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย 

 

ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด มีอายุ 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐฯ โดยถูกต้องตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 14 ปี

 


 

 

เลือกตั้งขั้นต้น: เมื่อประชาชนหาตัวแทนพรรคไปชิงชัย

ฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเริ่มต้นขึ้นในแต่ละรัฐด้วยการเลือกตั้งขั้นต้น 2 แบบ ได้แก่

 

  1. การเลือกตั้งแบบคอคัส คือการที่สมาชิกพรรคการเมืองเดียวกันในแต่ละชุมชนจะมารวมตัวกันในที่สาธารณะ อภิปรายแสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและนโยบายต่างๆ แล้วตามด้วยการลงคะแนนโดยการหย่อนบัตรลงหีบ หรือนับเสียงโหวตอย่างเปิดเผย ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดจะได้จำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนนในจำนวนที่ลดหลั่นกัน จากนั้นตัวแทนผู้ลงคะแนนเหล่านี้จะไปร่วมการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค และไปโหวตให้กับผู้สมัครรายที่ตนสนับสนุนในที่ประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

 

และ 2. การเลือกตั้งแบบไพรมารี เป็นการลงคะแนนเลือกตั้งหรือกาชื่อผู้สมัครในคูหาเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคโดยตรง ซึ่งในบางรัฐก็ให้เฉพาะสมาชิกพรรคได้เลือกตั้งแบบไพรมารี แต่บางรัฐก็ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสามารถร่วมลงคะแนนได้ และเช่นเดียวกันกับคอคัส ผู้สมัครที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดจะได้จำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนน (Delegate) ในจำนวนที่ลดหลั่นกันเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค และตัวแทนผู้ลงคะแนนเหล่านี้ก็จะไปโหวตให้ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนในที่ประชุมดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้การลงคะแนนเลือกตั้งแบบคอคัสและไพรมารีในบางรัฐก็ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เช่น ฝั่งพรรครีพับลิกันไม่มีการเลือกตั้งแบบคอคัสหรือไพรมารีในบางรัฐ อาทิ แคนซัส, อะแลสกา, เซาท์แคโรไลนา, แอริโซนา หรืออย่างรัฐเนวาดา ฝั่งรีพับลิกันก็เปลี่ยนการลงคะแนนแบบคอคัสไปเป็นการโหวตแบบทางเลือก เป็นต้น นอกจากนี้การลงคะแนนแบบคอคัสและไพรมารีในหลายรัฐยังเปลี่ยนแปลงกำหนดการหรือเปลี่ยนให้ไปลงคะแนนทางไปรษณีย์ อันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วย

 

อีกคำศัพท์ที่น่าสนใจก็คือคำว่า Super Tuesday ซึ่งก็หมายถึงวันอังคารที่จะมีการเลือกตั้งคอคัสและไพรมารีเกิดขึ้นพร้อมกันหลายรัฐมากที่สุด ซึ่งในการเลือกตั้งของอเมริกาหนนี้ Super Tuesday ก็คือวันที่ 3 มีนาคมนั่นเอง

 


 

 

เมื่อสองรัฐแรกคือหมุดหมายสำคัญ

ตามปกติแล้ว รัฐไอโอวาจะเป็นสนามเลือกตั้งแบบคอคัสสนามแรก และรัฐนิวแฮมป์เชียร์ก็จะเป็นสนามเลือกตั้งแบบไพรมารีสนามแรก – คำถามคือ ความเป็นสองสนามแรกสำคัญอย่างไร

 

มันสำคัญก็เพราะว่าสองสนามแรกจะได้รับความสนใจอย่างสูง ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่โดดเด่นในสองสนามนี้มีแนวโน้มที่จะรักษาความสนใจจากสื่อมวลชน คะแนนนิยมจากประชาชน รวมถึงรักษาแนวโน้มของการได้เงินสนับสนุนในการรณรงค์หาเสียงไว้ได้ นับเป็นการช่วงชิงโมเมนตัมในการเลือกตั้งของรัฐถัดๆ ไปที่จะเกิดขึ้นตามมา นอกจากนี้ เรามีแนวโน้มที่จะได้เห็นผู้สมัครหลายรายทุ่มเวลาลงพื้นที่หาเสียงกับประชาชนแบบต่อหน้าในการเลือกตั้งสองสนามแรกนี้ด้วย และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้สมัครที่ทำผลงานได้ไม่ดีในสนามแรกๆ ก็มีแนวโน้มที่จะหาเงินสนับสนุนได้ยาก อาจไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ และนำไปสู่การถอนตัวจากการแข่งขันในที่สุดนั่นเอง

 


 

ประชุมใหญ่พรรคการเมือง: มากกว่าการหาตัวแทนพรรค คือการดึงดูดความสนใจของประชาชน

หลังกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นที่กินเวลายาวนานหลายเดือน ในที่สุดก็จะถึงการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง หรือที่เรียกกันว่า National Convention น่าเสียดายที่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การประชุมใหญ่ของสองพรรคใหญ่อย่างรีพับลิกันและเดโมแครตในปีนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ทั้งลดขนาด และเปลี่ยนไปจัดการประชุมทางไกลแทน 

 

โดยหลักแล้วในการประชุมนี้จะมีการเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และตัวแทนผู้ลงคะแนนก็จะโหวตเลือกผู้สมัครที่พวกเขาต้องการให้เป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ และหากในการโหวตรอบแรกผลปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากตัวแทนผู้ลงคะแนน ก็จะมีการโหวตในรอบต่อๆ ไปเกิดขึ้นตามมา 

 

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ระยะหลังๆ การโหวตดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นเพียงรอบเดียว สาเหตุเพราะจะมีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงคนเดียวจากแต่ละพรรคที่ได้จำนวนตัวแทนผู้ลงคะแนนมากที่สุด และโดดเด่นขึ้นมาจากผลการเลือกตั้งขั้นต้น ทำให้เรามักจะทราบอยู่แล้วว่าผู้สมัครรายไหนจะได้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการก่อนที่การประชุมใหญ่ของพรรคจะเริ่มต้น 

 

แล้วถ้าเรารู้ชื่อตัวแทนพรรคก่อนถึงการประชุมใหญ่กันอยู่แล้ว แล้วการประชุมใหญ่ของพรรคจะสำคัญอย่างไรล่ะ คำตอบคือการประชุมใหญ่เป็นตัวดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนที่มีต่อพรรคและตัวแทนพรรค เป็นเวทีที่บุคคลสำคัญของพรรคได้ปรากฏตัวและกล่าวปราศรัยต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีการโหวตรับรองจุดยืนและนโยบายของพรรค และยังถือเป็นการเริ่มต้นการหาเสียงสำหรับวันเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ แม้การหาเสียงโดยผู้ที่เป็นตัวแทนพรรคอาจเริ่มล่วงหน้าไปนานแล้วก็ตาม

 

หลังจากขั้นตอนการเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นตัวแทนพรรคเสร็จสิ้น ก็จะตามมาด้วยการเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งปกติแล้วผู้ที่เป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็จะเลือกผู้ที่จะมาเป็นคู่หูร่วมชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีไว้ด้วย และอย่างที่เราคงทราบกันดีแล้ว ฝั่งรีพับลิกันมี โดนัลด์ ทรัมป์ และ ไมค์​ เพนซ์ ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยในตำแหน่งเดิม ส่วนฝั่งเดโมแครตมี โจ ไบเดน ในฐานะตัวแทนพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และคามาลา แฮร์ริส เป็นตัวแทนลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั่นเอง

 

และเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่ของพรรค จากนี้ตัวแทนพรรคจะลุยหาเสียง ร่วมเวทีดีเบต เพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนอย่างเข้มข้น ก่อนไปถึงวันเลือกตั้งทั่วไป

 


 

วันเลือกตั้งทั่วไป: การเลือกประธานาธิบดีที่ต้องฝากคนอื่นไปเลือกอีกที

และในที่สุด เราก็มาถึงวันเลือกตั้งทั่วไป 3 พฤศจิกายนที่ทั่วโลกรอคอย แม้ชาวอเมริกันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจะกาบัตรลงคะแนนโดยเลือกจากชื่อตัวแทนพรรคที่ลงชิงชัยเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่อยู่บนบัตร ซึ่งอาจจะเป็นการลงคะแนนล่วงหน้า หรือลงคะแนนที่คูหา หรือลงผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้ แต่พวกเขากลับไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่พวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้กลุ่มบุคคลที่เรียกว่า ‘ผู้เลือกตั้ง’ หรือ Electors เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ไปลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่ง 

 

ผู้เลือกตั้งที่รวมกันเป็นคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral College ในแต่ละรัฐมีจำนวนไม่เท่ากัน โดยหาได้จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐนั้นซึ่งผันแปรตามจำนวนประชากร บวกกับจำนวนสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีเท่ากันที่ 2 คนต่อรัฐ ยกเว้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ใช้กฎต่างออกไปเล็กน้อย กระบวนการนี้ทำให้รัฐใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนียมีผู้เลือกตั้งถึง 55 คน ขณะที่รัฐเล็กอย่างมอนแทนา หรือนอร์ทดาโคตา มีผู้เลือกตั้งเพียง 3 คน และทั้งสหรัฐฯ มีผู้เลือกตั้งรวม 538 คน

 

ผู้เลือกตั้ง 1 คนจะสามารถโหวตเลือกประธานาธิบดีได้คนละ 1 เสียง และผู้ที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี จะต้องได้รับเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงโหวตทั้งหมด หรือเท่ากับอย่างน้อย 270 เสียงจาก 538 เสียงนั่นเอง

 


 

เมื่อผู้ชนะ Popular Vote อาจไม่ชนะการเลือกตั้ง

แล้วจำนวนเสียงโหวตของประชาชนอเมริกันที่เข้าคูหา หรือ Popular Vote จะนำมาคำนวณเป็นจำนวนผู้เลือกตั้งที่จะไปโหวตเลือกประธานาธิบดีให้พวกเขาได้อย่างไร คำตอบคือในรัฐส่วนใหญ่ ‘ไม่ต้องคำนวณ’ เพราะหากชาวอเมริกันในรัฐนั้นเลือกตัวแทนพรรคที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรายใดมาเป็นอันดับ 1 ตัวแทนพรรครายนั้นก็จะได้เสียงผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นไปทั้งหมด หรือที่เรียกกันว่ากฎ Winner-Take-All ยกเว้นในสองรัฐที่ใช้ระบบต่างออกไป คือรัฐเมน และเนแบรสกา

 

และด้วยรูปแบบนี้เองทำให้ตัวแทนพรรคที่ลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีบางราย แม้จะได้คะแนนเสียงแบบ Popular Vote มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะชนะการเลือกตั้ง เพราะอาจจะแพ้เสียงจากจำนวนผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral Vote ก็เป็นได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2016 ที่ชนะคะแนน Popular Vote แต่กลับแพ้คะแนน Electoral Vote ให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ นั่นเอง

 


 

สู่ทำเนียบขาว 

หลังการนับคะแนนสิ้นสุดลง บรรดาผู้เลือกตั้งจะมารวมตัวกันในเดือนธันวาคม และจะโหวตเลือกประธานาธิบดีจากพรรคที่ตัวเองให้การสนับสนุนเท่านั้น ก่อนที่คะแนนโหวตเหล่านี้จะถูกนับอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม และหลังจากที่ประชุมร่วมของสภาคองเกรสรับรองเสียงโหวตเหล่านี้ ตัวแทนพรรคที่ได้คะแนนตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป จะกลายเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนต่อไป ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนที่ขั้นบันไดหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 20 มกราคม 2021

 

ภาพ: Shutterstock, Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising