การเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ชาวอเมริกันยังจะต้องออกไปใช้สิทธิเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาด้วย ซึ่งก็ถือได้ว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลือกประธานาธิบดี โดยบทความนี้จะพาไปสำรวจสนามเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภากันว่ามีอะไรน่าจับตาบ้าง
วุฒิสภาสำคัญอย่างไร
วุฒิสภาเป็นหนึ่งในสองสภาของรัฐสภาสหรัฐฯ (สภาคองเกรส) การที่ร่างกฎหมายใดๆ จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้นั้นจำเป็นต้องได้รับการรับรองโดยเสียงส่วนมากของทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร (ตามด้วยการเซ็นอนุมัติโดยประธานาธิบดี) ดังนั้นการควบคุมเสียงข้างมากให้ได้ทั้งสองสภาจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน เพื่อที่พรรคจะได้ผลักดันกฎหมายที่รองรับนโยบายของตน
หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของวุฒิสภาคือการรับรองการแต่งตั้งตำแหน่งทางการเมืองของประธานาธิบดี เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี หัวหน้าระดับสูงของหน่วยงาน นักการทูต และผู้พิพากษา (รวมทั้งผู้พิพากษาของศาลสูงสุดที่กำลังเป็นข่าวดังในขณะนี้) ถ้าพรรคตรงข้ามกับประธานาธิบดีครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา พวกเขาก็อาจจะใช้อำนาจของวุฒิสภาไม่อนุมัติให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ที่ว่าได้ตามใจชอบ ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดก็คงจะไม่พ้นกรณีที่ ส.ว. ของพรรครีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนั้นไม่อนุมัติให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่งตั้ง เมอร์ริก การ์แลนด์ ขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดในปี 2016
โครงสร้างของวุฒิสภา
วุฒิสภาของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ส.ว. ทั้งหมด 100 คน โดยที่แต่ละมลรัฐมีที่นั่งในวุฒิสภาเท่ากันคือมลรัฐละ 2 คน โดยไม่เกี่ยงว่ามลรัฐนั้นจะมีประชากรมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มลรัฐขนาดเล็กมีสิทธิมีเสียงในสภาสูงพอๆ กับมลรัฐขนาดใหญ่ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างของสภาสูงไว้แบบนี้ก็เพื่อเป็นการปกป้องมลรัฐขนาดเล็กไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิจากมลรัฐขนาดใหญ่ หลังจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้มลรัฐขนาดเล็กมีสิทธิมีเสียงที่น้อยกว่าในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว
การเลือกตั้ง ส.ว. นั้นจะเป็นการเลือกตั้งในระดับมลรัฐ กล่าวคือทั้งมลรัฐถือเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง (ไม่แยกลงเป็นเขตย่อยๆ แบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี วาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. นั้นอยู่ที่ 6 ปี และทุกๆ 2 ปี สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 จะครบวาระ และต้องมีการเลือกตั้งเพื่อหาผู้มาดำรงตำแหน่งในวาระถัดไป
การโหวตในวุฒิสภานั้นใช้เสียงข้างมากคือ 51 จาก 100 เสียง ในกรณีที่เสียงโหวตนั้นเท่ากันที่ 50 ต่อ 50 เสียง รองประธานาธิบดีในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่งจะเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงตัดสิน (Tie-breaker) ซึ่งก็แปลได้ง่ายๆ ว่าพรรคของประธานาธิบดีต้องการแค่ 50 เสียงเพื่อที่จะโหวตชนะ ในขณะที่พรรคตรงข้ามต้องการ 51 เสียง
ภูมิทัศน์การเมืองของการเลือกตั้งในปี 2020
ในปี 2020 จะมีการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งหมด 35 ที่นั่งจาก 34 มลรัฐ โดยสาเหตุที่ต้องเลือกมากกว่า 1 ใน 3 ของสภาเป็นเพราะมีการเลือกตั้งซ่อมด้วย ซึ่ง 2 ที่นั่งที่เพิ่มเข้ามาคือที่นั่งในมลรัฐแอริโซนา เพื่อทดแทนอดีต ส.ว. จอห์น แมคเคน ที่เสียชีวิตในปี 2018 และที่นั่งในมลรัฐจอร์เจีย เพื่อทดแทนอดีต ส.ว. จอห์นนี ไอแซคสัน ที่ลาออกเมื่อปี 2019 ด้วยปัญหาสุขภาพ
ในปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยจำนวน ส.ว. 53 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคเดโมแครตมีอยู่ 47 ที่นั่ง ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้เดโมแครตจำเป็นต้องชิงที่นั่งคืนมาจากรีพับลิกันให้ได้อย่างน้อย 3 ที่นั่ง (ในกรณีที่ไบเดนชนะ) หรือ 4 ที่นั่ง (ในกรณีที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2)
แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มสูงมากที่เดโมแครตจะเสียที่นั่งของตัวเองไปให้รีพับลิกัน 1 ที่นั่ง ซึ่งก็คือที่นั่งในมลรัฐแอละแบมา เพราะมลรัฐนี้เป็นมลรัฐสีแดงเข้มที่ในปี 2016 ทรัมป์ชนะ ฮิลลารี คลินตัน ขาดลอยไปถึงเกือบ 30% ส่วน ส.ว. คนปัจจุบันของพรรคเดโมแครตอย่าง ดัก โจนส์ นั้นชนะการเลือกตั้งในคราวที่แล้วด้วยสถานการณ์พิเศษ กล่าวคือคู่แข่งของเขาในรอบนั้นคือ รอย มัวร์ ซึ่งถูกแฉระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่าเคยมีคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง ทำให้คะแนนนิยมของเขาตกต่ำสุดขีดจนโจนส์พลิกล็อกกลับมาชนะอย่างหวุดหวิดที่ 2%
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งรอบนี้โจนส์ไม่ได้โชคดีแบบนั้นแล้ว เพราะพรรครีพับลิกันส่งผู้สมัครที่มีประวัติไม่ด่างพร้อยอย่าง ทอมมี ทูเบอร์วิลล์ ที่เคยเป็นทั้งโค้ชและนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลมาก่อน นักวิเคราะห์ทางการเมืองรวมทั้งนักกลยุทธ์ของพรรคเดโมแครตเองดูเหมือนจะยอมทำใจแล้วว่าพวกเขาจะต้องเสียที่นั่งของโจนส์ไปแน่ๆ ซึ่งก็แปลว่าเดโมแครตจำเป็นต้องชนะ 4-5 ที่นั่งเพื่อที่จะชิงเสียงข้างมากในสภาสูงกลับคืนมา ในบทความนี้เราจะมาพูดถึง 8 มลรัฐที่เดโมแครตมีโอกาสจะแย่งที่นั่งจากรีพับลิกันมาได้
โคโลราโด
โคโลราโดเคยเป็นมลรัฐสีม่วง (อยู่ตรงกลางๆ อาจจะโหวตให้เดโมแครตหรือรีพับลิกันก็ได้) มาก่อน แต่ในช่วง 10 ปีหลังโคโลราโดกลายเป็นมลรัฐสีน้ำเงิน (โหวตให้เดโมแครต) เข้มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของเมืองเอกอย่างเดนเวอร์ที่ดึงดูดคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมเข้าไปทำงาน การเลือกตั้งในปี 2016 คลินตันชนะทรัมป์ไปถึง 5% และการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐในปี 2018 จาเรด โพลิส ของเดโมแครตก็ชนะการเลือกตั้งไปถึง 11% ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับ ส.ว. โครี การ์ดเนอร์ จากพรรครีพับลิกันที่จะรักษาเก้าอี้นี้ไว้ได้ ที่สำคัญคู่แข่งของเขาคือ จอห์น ฮิกเกนลูเปอร์ ที่มีดีกรีเป็นถึงอดีตนายกเทศมนตรีเดนเวอร์ และผู้ว่าการรัฐโคโลราโดที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวโคโลราโด ทำให้ผลโพลที่ออกมาในปีนี้ทุกสำนักต่างพูดตรงกันว่าฮิกเกนลูเปอร์นั้นมีคะแนนนำแบบหายห่วง
แอริโซนา
แอริโซนาเคยเป็นมลรัฐสีแดง (โหวตให้รีพับลิกัน) มาก่อน แต่เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองเอกอย่างฟีนิกซ์ที่ดึงดูดคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม และการอพยพเข้ามาของคนฮิสแปนิกซึ่งมีแนวโน้มไม่ชอบทรัมป์ และพรรครีพับลิกันที่มีแนวคิดต่อต้านการอพยพ ทำให้แอริโซนามีความเป็นมลรัฐสีแดงที่เจือจางลงมาเรื่อยๆ ยิ่งในการเลือกตั้งปีนี้ ความนิยมของทรัมป์และผู้ว่าการรัฐที่เป็นรีพับลิกันยิ่งตกต่ำมาก เพราะแอริโซนาเป็นหนึ่งในมลรัฐที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 หนักหน่วงที่สุด ทำให้ชาวแอริโซนาจำนวนมากไม่พอใจการบริหารจัดการของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน โพลแทบทุกสำนักยืนยันตรงกันว่าไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์ และผู้สมัคร ส.ว. ของเดโมแครตอย่าง จอห์น เคลลี (ซึ่งเป็นอดีตนักบินอวกาศ) ก็มีคะแนนนำเจ้าของที่นั่งเดิมอย่าง มาร์ธา แมคซัลลี ชนิดหายห่วง
เมน
เมนเป็นมลรัฐสีน้ำเงิน แต่เจ้าของที่นั่งจากพรรครีพับลิกันอย่าง ซูซาน คอลลินส์ มีชื่อเสียงในฐานะที่เธอเป็นคนที่อยู่ตรงกลางๆ (Centrist) สามารถทำงานได้กับทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน ดังนั้นเธอจึงได้รับความนิยมชมชอบอย่างสูงจากคนในมลรัฐ (แม้กระทั่งสมาชิกพรรคเดโมแครตจำนวนมากก็ชอบเธอ) อย่างในปี 2008 ที่โอบามาชนะแมคเคนไปถึง 17% ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็สามารถเอาชนะคู่แข่งจากเดโมแครตได้อย่างถล่มทลายถึง 23%
อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ความเป็นคนกลางๆ ของเธอดูเหมือนจะหายไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากที่เธอโหวตรับรองให้ เบรท คาวานา ได้เป็นตุลาการของศาลสูงสุด ทั้งๆ ที่เขาถูกกล่าวหาว่าเคยมีคดีล่วงละเมิดทางเพศ โพลทุกสำนักชี้ตรงกันว่าคะแนนนิยมของเธอนั้นตามคู่แข่งอย่าง ซารา กิเดียน อยู่ราวๆ 4-5%
นอร์ทแคโรไลนา
นอร์ทแคโรไลนาเคยเป็นมลรัฐสีแดงมาก่อนตามธรรมชาติของมลรัฐในเขตภาคใต้ แต่อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง ความเป็นมลรัฐสีแดงของนอร์ทแคโรไลนาก็อ่อนลงมาก เพราะการเติบโตของเมืองแห่งการศึกษาและการแพทย์อย่างราลี เดอแรม และเชเปิลฮิลล์ ที่ดึงดูดคนผิวขาวที่มีการศึกษาและมีแนวคิดแบบเสรีนิยมเข้าไปทำงาน รวมทั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองเอกอย่างชาร์ลอตต์ ที่มีประชากรผิวสีที่มีความจงรักภักดีต่อพรรคเดโมแครตเป็นจำนวนมาก
โพลจากรัฐนอร์ทแคโรไลนาก็ระบุตรงกันว่า แคล คันนิงแฮม จากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนิยมเหนือเจ้าของเก้าอี้เดิมอย่าง ทอม ทิลลิส ถึงแม้ว่าคะแนนจะไม่มากเหมือนที่โคโลราโด แอริโซนา และเมนก็ตาม
จอร์เจีย
กรณีของจอร์เจียจะคล้ายกับนอร์ทแคโรไลนา กล่าวคือจอร์เจียเคยเป็นมลรัฐสีแดงมาก่อนตามธรรมชาติของภาคใต้ แต่เพราะการเติบโตของมหานครอย่างแอตแลนตา ทำให้จอร์เจียกลายสภาพมาเป็นมลรัฐสีม่วงแทน แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการเติบโตของแอตแลนตาจะไม่รวดเร็วเท่าในกรณีของนอร์ทแคโรไลนา ทำให้รีพับลิกันยังคงความได้เปรียบในมลรัฐนี้ในระดับหนึ่ง
แม้ผลโพลส่วนใหญ่จะบอกว่าทรัมป์ยังมีคะแนนนำที่จอร์เจีย แต่บางโพลก็บอกว่าไบเดนมีคะแนนนำ ส่วนผลโพลของ ส.ว. นั้นก็ออกไปในทางเดียวกัน คือเจ้าของที่นั่งอย่าง เดวิด เพอร์ดู ยังมีคะแนนนำอยู่ แต่ก็มีบางโพลเหมือนกันที่บอกว่าผู้ท้าชิงจากเดโมแครตอย่าง จอน ออสซอฟฟ์ มีคะแนนนำอยู่เล็กน้อย
ไอโอวา
ไอโอวาเป็นมลรัฐในเขตมิดเวสต์ที่แต่เดิมนั้นเคยเป็นมลรัฐสีม่วงมาก่อน แต่กระนั้นก็ดี ในการเลือกตั้งปี 2016 ทรัมป์ชนะคลินตันไปอย่างถล่มทลายถึง 10% เพราะนโยบายของทรัมป์ในเรื่องการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศเป็นที่ถูกอกถูกใจชนชั้นแรงงานผิวขาว ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของมลรัฐ อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งปีนี้ไอโอวากลับมาเป็นมลรัฐสีม่วงอีกครั้ง เพราะพรรคเดโมแครตได้ส่งไบเดนซึ่งมีภาพลักษณ์ของการเป็นชนชั้นกลางที่เข้าอกเข้าใจชนชั้นแรงงาน ไม่เหมือนคลินตันที่มีภาพลักษณ์ของการเป็นชนชั้นสูง ทำให้ความนิยมในหมู่ชนชั้นแรงงานผิวขาวของไบเดนไม่ย่ำแย่เหมือนสมัยคลินตัน
ผลโพลส่วนใหญ่บอกว่าทรัมป์ยังคงมีคะแนนนำเล็กน้อยที่ไอโอวา ซึ่งก็เป็นภาพเดียวกับที่เราเห็นในการเลือกตั้ง ส.ว. ที่เจ้าของตำแหน่งเดิมจากรีพับลิกันอย่าง โจนี เอิร์นส์ต มีคะแนนนำผู้ท้าชิงจากเดโมแครตอย่าง เทเรซา กรีนฟิลด์ เล็กน้อย
มอนทานา
มอนทานาเป็นมลรัฐสีแดงที่ทรัมป์น่าจะชนะไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้แน่ๆ แต่การเลือกตั้ง ส.ว. ของมลรัฐน่าสนใจอย่างมาก เพราะผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตอย่าง สตีฟ บัลลัค มีดีกรีเป็นถึงผู้ว่าการรัฐคนปัจจุบันที่มีคะแนนนิยมสูงมากจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ยอดเยี่ยม ทำให้คะแนนนิยมของเขาในตอนนี้สูสีคู่คี่กับเจ้าของที่นั่งจากพรรครีพับลิกันอย่าง สตีฟ เดน
เซาท์แคโรไลนา
เซาท์แคโรไลนาเป็นอีกหนึ่งมลรัฐสีแดงในภาคใต้ที่ทรัมป์น่าจะชนะในเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน แต่สำหรับการเลือกตั้ง ส.ว. นั้น เจ้าของเก้าอี้จากรีพับลิกันอย่าง ลินเซย์ แกรม กลับมีปัญหาเฉพาะตัว กล่าวคือเขาเคยกล่าววิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์อย่างเสียๆ หายๆ ในช่วงที่ทรัมป์กำลังหาเสียงในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรครีพับลิกัน ทำให้ฐานเสียงส่วนหนึ่งของทรัมป์ยังมีความไม่พอใจอยู่ลึกๆ และที่สำคัญคู่แข่งจากเดโมแครตอย่าง เจมี แฮร์ริสัน เป็นนักการเมืองที่มีเสน่ห์ ปราศรัยเก่ง และระดมทุนได้มาก ผลโพลล่าสุดนั้นบอกว่าแกรมยังมีคะแนนนำอยู่ แต่อยู่ในระดับไม่เกิน 3-4%
ในภาพรวมเราจะเห็นได้ว่าเดโมแครตน่าจะเสียที่นั่งไป 1 ที่แน่ๆ และมีโอกาสสูงมากที่จะชิงคืนมาจากรีพับลิกันได้ 3-4 ที่นั่ง โดยมีอีกประมาณ 4 ที่นั่งที่เดโมแครตยังอยู่ในวิสัยที่จะชนะได้ แต่ก็มีโอกาสแพ้รีพับลิกันเช่นกัน ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วเดโมแครตจะได้ที่นั่งเพิ่ม 3-4 ที่นั่งเพื่อกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาสูงได้หรือไม่นั้นจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้หรืออาจไม่เกิดขึ้นพอๆ กัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์