×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ‘คะแนนเสียงคนดำมีความหมาย’ เมื่อสีผิว เชื้อชาติ และกระแส Black Lives Matter อาจกำหนดชัยชนะประธานาธิบดี

25.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 mins. read

 

  • การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวกลายเป็นปัจจัยหาเสียงหลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์
  • โจ ไบเดน ประกาศสนับสนุน Black Lives Matter และสัญญาจะสร้างอเมริกาที่ทุกเชื้อชาติเท่าเทียมกัน
  • โดนัลด์ ทรัมป์ วางจุดยืนผู้สมัครที่ยึดมั่นในกฎหมายและระเบียบ พร้อมหนุนตำรวจใช้กำลังกับผู้ประท้วง
  • ผู้สังเกตการณ์ทำนาย หากโผไม่เปลี่ยน ทรัมป์จะพ่ายแพ้

“ผมหายใจไม่ออก” แม้เสียงคร่ำครวญด้วยความเจ็บปวดของชายผิวดำจะส่งไปไม่ถึงตำรวจผิวขาวซึ่งกำลังใช้เข่ากดทับลำคอของเขาบนถนนในเมืองมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การเสียชีวิตของชายชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ และภาพการดิ้นรนเป็นครั้งสุดท้ายของเขาใต้ความทารุณของตำรวจส่งผ่านไปถึงผู้คนทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลก 

 

ปรากฏการณ์จอร์จ ฟลอยด์ ที่คืนชีพการรณรงค์ทวงสิทธิคนผิวดำ หรือ ‘Black Lives Matter’ ให้กลับมาสะเทือนการเมืองสหรัฐฯ อีกครั้ง เปรียบได้กับการลุกฮือด้วยความคับแค้นใจยาวนานนับปี หลังการลอบสังหาร มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 1968 

 

“มันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้าเราทำแค่ประท้วง… จงใช้อารมณ์ของพวกคุณในการเลือกตั้ง จงใช้ความคับแค้นใจในคูหา” ผู้ปราศรัยคนหนึ่งกล่าวต่อผู้ประท้วง ในการชุมนุมหนึ่งจากจำนวนนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 

หากการจากไปของคิงได้ทำลาย ‘ความฝัน’ สู่ชีวิตที่ดีขึ้นและเท่าเทียมของคนผิวดำ การเสียชีวิตของฟลอยด์กำลังสานทอเศษเสี้ยวของ ‘ความฝัน’ นั้นผ่านแรงกระเพื่อมที่อาจพลิกผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้

 

จอร์จ ฟลอยด์ เสียชีวิตจากการใช้กำลังเข้าจับกุมของตำรวจ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2020 

 

และที่สำคัญ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองคนได้เลือก ‘นวม’ ที่สวมใส่ขึ้นสังเวียนนี้เป็นที่เรียบร้อย โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ผู้ประกาศทลายกำแพงสีผิว สร้างความเท่าเทียมในสังคม กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สนับสนุนการทำงานของตำรวจ รวมถึงการใช้กำลังเพื่อสร้าง ‘ระเบียบสังคม’

 

พลานุภาพของปรากฏการณ์จอร์จ ฟลอยด์

ผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ The New York Times ร่วมกับ Siena College เมื่อกลางปีที่ผ่านมา พบว่าผู้มีสิทธิลงคะแนน 59% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนผิวขาว 52% เชื่อว่าการเสียชีวิตของฟลอยด์เป็นหลักฐานถึงการใช้ความรุนแรงที่เกินควรของตำรวจต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ขณะที่เสียงสนับสนุน Black Lives Matter กับเสียงสนับสนุนการทำหน้าที่ของตำรวจได้คะแนนที่ไล่เลี่ยกันคือ 44% และ 43% ตามลำดับ

 

ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การเสียชีวิตของฟลอยด์ได้เปลี่ยนทัศนคติของชาวอเมริกัน และชูให้ประเด็นการเหยียดสีผิวกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยลงคะแนน โดยเฉพาะเมื่อสองผู้สมัครชิงประธานาธิบดีมีทัศนคติและความคิดเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างกันชัดเจน

 

หากเทียบเป็นกีฬามวย อาจพูดได้ว่าทรัมป์พ่ายแพ้ในยกแรก เหมือนคำพังเพยไทยที่ว่า ‘ปลาหมอตายเพราะปาก’ เพราะแม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามแสดงความเห็นใจครอบครัวของฟลอยด์และเห็นด้วยกับการเรียกร้องความยุติธรรมของผู้ประท้วง แต่เขากลับยังใช้ถ้อยคำเชิงเหยียดสีผิวอยู่ พร้อมสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังของตำรวจว่าเป็นมาตรการจำเป็นเพื่อรับมือเหตุจลาจลและปล้นสะดม

 

“ฉันไม่เคยเข้าใจคำว่าสามัคคีรวมใจกันจนได้ฟังวิธีการพูดของทรัมป์” ริตา ฮอปกินส์ วัย 55 ปี ที่มองตนเองเป็นกลางทางการเมืองมาตลอด ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times “วันนี้ฉันตระหนักแล้วว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีพูดมันสร้างความแตกแยกได้จริงๆ”

 

กลับกัน ไบเดนเล็งเห็นถึงพลังของกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนผิวดำที่อาจพลิกผลเลือกตั้งได้ จึงพยายามวางจุดยืนสนับสนุน Black Lives Matter และนำเสนอนโยบายสร้างความเท่าเทียมให้ทุกเชื้อชาติในสหรัฐฯ ผ่านการลดช่องว่างความร่ำรวย ขยายโครงการอาคารสงเคราะห์ และการลงทุนในประชากรผิวดำ ลาติโน และชนพื้นเมืองอเมริกัน 

 

หลักฐานที่เด่นชัดว่าเดโมแครต ‘เดิมพัน’ กับการรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมคือการประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งจัดผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการประดับตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และกิจกรรมประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจผ่านโลกเสมือนจริง

 

“เราจะเป็นประชากรรุ่นที่ขจัดมลทินของการเหยียดเชื้อชาติออกไปจากอัตลักษณ์ของประเทศได้สำเร็จหรือไม่” ไบเดนถามระหว่างการปราศรัยตอบรับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 

 

โจ ไบเดน ปราศรัยรับการเสนอชื่อเป็นผู้แทนพรรคเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

“ผมเชื่อว่าพวกเราทำได้ ผมเชื่อว่าพวกเราพร้อมแล้ว”

 

ผู้นำแห่ง ‘กฎหมายและระเบียบ’

ในขณะที่ภาพลักษณ์ของไบเดนในฐานะผู้สมัครที่มุ่งรณรงค์สร้างความเท่าเทียมเด่นชัดขึ้น ทรัมป์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เขาสร้างจุดยืนในฐานะผู้สมัครที่สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายและสร้างระเบียบให้สังคม หรือพูดง่ายๆ คือเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้ประท้วง Black Lives Matter นั่นคือ ‘เจ้าหน้าที่ตำรวจ’ 

 

“กลุ่มภราดรภาพตำรวจภูมิใจที่จะประกาศรับรองผู้สมัครที่เรียกร้องการใช้กฎหมายและสร้างระเบียบทั่วประเทศของเรา” ประธานสหภาพตำรวจที่มีสมาชิกกว่า 3.5 แสนคนออกแถลงการณ์รับรองทรัมป์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

ขณะที่หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามโจมตีจุดยืนหนุนผู้ประท้วงของไบเดนว่าจะนำสหรัฐฯ ไปสู่สถานะ ‘ไร้กฎหมาย’ เพราะผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครตได้ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในหลายเมือง ทั้งที่ความเป็นจริงคือการประท้วงปะทุขึ้นจากการที่ตำรวจใช้ปืนยิงคนผิวดำจนเสียชีวิต

 

ทรัมป์ยังตีตราการรณรงค์ Black Lives Matter ว่าเป็น ‘สัญลักษณ์แห่งความเกลียดชัง’ ‘การแบ่งแยก’ ‘ลัทธิมาร์กซิสม์’ และ ‘ไม่เป็นผลดีต่อคนผิวดำเอง’ 

 

 

วาทกรรมของทรัมป์ได้ผล ผลสำรวจความคิดเห็นโดยเว็บไซต์ Politico และ Morning Consult ที่จัดทำเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่าเสียงสนับสนุน Black Lives Matter ในหมู่ผู้มีสิทธิลงคะแนนลดลงจาก 61% ในเดือนมิถุนายนเหลือ 52% เท่านั้น 

 

นักจัดทำโพล คอร์เนล เบลเชอร์ ชี้ว่า “นี่เป็นผลโดยตรงจากยุทธศาสตร์ของทรัมป์และสถานี Fox News”

 

เบลเชอร์อธิบายต่อว่า แม้การประท้วงจะ ‘ประสบความสำเร็จด้วยดี’ สร้างพลวัตต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ แต่เสียงสนับสนุนที่ลดลงเป็นผลจากการที่ทรัมป์นิยามการประท้วงว่าเต็มไปด้วย ‘ความรุนแรง’ และเป็น ‘อนาธิปไตย’ แบบย้ำแล้วย้ำอีก แทนที่จะกล่าวถึงข้อเท็จจริงว่าการประท้วงเชื่อมโยงกับความทารุณของตำรวจและความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ

 

ชั้นเชิงการ ‘บิดเบือนข้อเท็จจริง’ ของทรัมป์ทำให้คะแนนนิยมของเขาคงอยู่ที่ 42% แต่ตัวเลขนี้ก็แลกมากับเสียงสนับสนุนไบเดนที่เพิ่มขึ้นเป็น 47% ต่อ 39% เมื่อถามชาวอเมริกันว่าคิดว่าผู้สมัครคนใดจะสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนได้ดีกว่ากัน 

 

 

“ยังมีใครอีกหรือที่เชื่อว่าหากทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยแล้วความรุนแรงในสหรัฐฯ จะลดลง… เราต้องการความยุติธรรมในสหรัฐฯ เราจำเป็นต้องมีความปลอดภัยในสหรัฐฯ” ไบเดนปราศรัยในรัฐเพนซิลวาเนีย 

 

ตำรวจ-ทหารหน้าคูหา

แม้ทรัมป์จะพยุงคะแนนนิยมของตนเองไม่ให้ต่ำลงกว่านี้ได้ แต่ยังถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง และตามหลังไบเดนอยู่ชนิดที่ว่าหากไม่เกิดปรากฏการณ์ ‘หักปากกาเซียน’ หลายคนทำนายแล้วว่าทรัมป์จะแพ้ 

 

จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ผู้นำสหรัฐฯ จะเกิดอาการ ‘ร้อนอาสน์’ หรือเก้าอี้ร้อน สังเกตได้จากวาทกรรมชุดใหม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สุ่มเสี่ยงจะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หากอนุญาตให้ผู้มีสิทธิลงคะแนน (โดยเฉพาะคนที่เชียร์พรรคเดโมแครต) ลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ได้

 

ปกติแล้วการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะอนุญาตให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนล่วงหน้าผ่านการส่งไปรษณีย์ได้ แต่ศึกเลือกตั้งในปีนี้ทางการรณรงค์ให้ผู้คนส่งจดหมายมาลงคะแนนกันมากขึ้น เนื่องจากมองว่าหากให้ผู้คนไปยืนต่อแถวหน้าคูหากันมากๆ จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ยอดผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูง

 

ด้วยข้ออ้างถึงแนวโน้มเกิดการทุจริตเลือกตั้ง ทรัมป์ยอมรับกับผู้ประกาศข่าวสถานี Fox News ว่าเขาจะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยลาดตระเวนบริเวณหน่วยเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะถือเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ว่าตำรวจหนุนทรัมป์ 

 

 

ความพยายามขับเคลื่อนตำรวจและทหารเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของทรัมป์เด่นชัดขึ้น เช่น การเกณฑ์ตำรวจท้องถิ่นมาสลายผู้ประท้วงที่ชุมนุมกันอย่างสันติใกล้ทำเนียบขาว และขู่ว่าจะส่งตำรวจพร้อมอาวุธครบมือไปยังเมืองต่างๆ ที่เป็นฐานเสียงเดโมแครต เป็นต้น

 

ไบเดนหนุนสิทธิคนผิวดำ ‘ยังไม่สุด’

เจอร์รี บรูว์เออร์ คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ The Washington Post วิเคราะห์ว่า ‘การตื่นรู้เรื่องเชื้อชาติ’ (Racial Reckoning) ของปี 2020 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่คนอเมริกันผิวขาวยอมรับว่าพวกเขาไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ แต่มุ่งมั่นจะปรับปรุงให้ดีขึ้น ผสมผสานกับความหลากหลายและความกล้าของผู้ประท้วงที่มุ่งมั่นรณรงค์ แม้ต้องเผชิญการจับกุม แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง นี่ยังไม่นับรวมความเสี่ยงต่อชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

 

“แต่นักการเมืองสหรัฐฯ ตื่นรู้ในเรื่องนี้เพียงพอหรือยัง” บรูว์เออร์ตั้งคำถาม พร้อมวิจารณ์นโยบายของไบเดนเรื่องการสร้างความเท่าเทียมให้คนทุกเชื้อชาติในสหรัฐฯ ว่า ‘ยังไปไม่สุด’ เพราะการแก้ปัญหา ‘การเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ’ (Systemic Racism) บรรจุเป็นเพียงหัวข้อย่อยของการฟื้นฟูสภาพชีวิตชาวอเมริกันภายใต้นโยบาย ‘Build Back Better’ เท่านั้น

 

“ชีวิตคนดำมีความหมาย ไม่ได้เป็นเพียงคะแนน คนดำมีคุณค่าเท่านั้น” ไม่เพียงแค่กับชาวอเมริกันผิวดำ ไบเดนยังต้องพิสูจน์ตัวเองให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเชื้อสายเอเชีย ลาติโน และเยาวชน ว่าเขาเป็นผู้สมัครที่ฝากอนาคตไว้ได้ หากเขาต้องการเป็นผู้สมัครแห่งความเท่าเทียมอย่างแท้จริง 

 

ท้ายสุด บรูว์เออร์วิเคราะห์เชิงเสนอแนะว่า “คำพูดกับการกระทำมันไม่เหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่แค่การชวนพี่ชายของฟลอยด์มาพูดคุย นั่งฟังการเสวนาผ่าน Zoom แล้วพร่ำประณามเรื่องการเหยียดเชื้อชาติเท่านั้น” 

 

 

หากทีมไบเดนยังก้าวข้ามแนวทางหาเสียงแบบเดิมๆ นี้ไม่พ้นก็จะไม่สามารถเพิ่มแต้มต่อให้ตัวเองเพื่อเอาชนะทรัมป์ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของไบเดนในตอนนี้ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ แม้จะมีคะแนนนิยมนำในหลายโพล เพราะยังอีกนานหลายสัปดาห์กว่าจะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน

 

อีกทั้งต้องอย่าลืมว่าปรากฏการณ์ ‘หักปากกาเซียน’ เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2016 หลังทรัมป์เอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน ไปได้ ท่ามกลางความไม่เชื่อของผู้เชี่ยวชาญและประชาชนจำนวนมาก

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising