วานนี้ (14 ตุลาคม) กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเผยว่า สหรัฐฯ ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) อีกครั้ง หลังเคยประกาศลาออกในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2018 นับเป็นอีกก้าวสำคัญของสหรัฐฯ ที่พยายามจะกลับเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในองค์กรและเวทีระดับนานาชาติในมิติที่หลากหลายอีกครั้ง นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา
โดยสหรัฐฯ จะเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UNHRC ตั้งแต่ปี 2022-2024 (วาระละ 3 ปี) ร่วมกับอีก 46 ประเทศ จาก 5 ทวีป โดยจะได้รับเลือกจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ซึ่ง UNHRC เริ่มก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2006 ดูแล สนับสนุน และปกป้องประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรง
สหรัฐฯ เคยนั่งเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UNHRC มาแล้ว 3 วาระ ก่อนที่จะลาออกเมื่อช่วงกลางปี 2018 โดยในรอบวาระปี 2022-2024 จะมีสมาชิกใหม่ 13 ประเทศ (คาซัคสถาน เบนิน แกมเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ปารากวัย ฮอนดูรัส ลักเซมเบิร์ก ฟินแลนด์ มอนเตเนโกร ลิทัวเนีย และสหรัฐฯ) และสมาชิกเก่าที่ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้ต่ออีก 5 ประเทศ (แคเมอรูน เอริเทรีย โซมาเลีย อินเดีย และอาร์เจนตินา)
นอกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UNHRC ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ได้ตัดสินใจลาออกแล้ว ยังมีอีกหลายองค์กร หลายความร่วมมือ เช่น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO), ความตกลงปารีส (Paris Agreement), องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น ที่รัฐบาลอเมริกันหันหลังให้กับความร่วมมือพหุภาคีและชูนโยบาย America First เป็นแก่นแกนนโยบายหลักที่สำคัญ
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่นี้เข้ามาทำงาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศชัดว่า นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับคุณค่าของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญที่อเมริกันชนยึดถือ ปกป้องเสรีภาพ หยิบยื่นโอกาส สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เคารพหลักนิติธรรมและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างมีศักดิ์ศรี
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เองระบุว่า คณะมนตรี UNHRC มุ่งเป้ามาที่อิสราเอลมากเกินไป ทั้งที่ยังมีอีกหลายประเทศก็ยังมีช่องโหว่และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนไม่ต่างกัน
ภาพ: Denis Balibouse / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2021/10/14/us-elected-to-un-human-rights-council-abandoned-by-trump
- https://www.reuters.com/world/us/us-elected-back-un-human-rights-council-after-trump-era-2021-10-14/
- https://www.nytimes.com/2021/10/14/world/un-us-human-rights-council.html
- ประเทศไทยเคยได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 1 วาระ (ปี 2011-2013) โดย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยเคยได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้ประธานคณะมนตรี UNHRC คนที่ 5 มาแล้ว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2010 – 18 มิถุนายน 2011