Vincent Clerc ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกอย่าง Maersk แสดงความเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์กับรายการ Squawk Box Europe ของทางสถานีโทรทัศน์ CNBC เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 สิงหาคม) ว่ายังไม่เห็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ตามที่บรรดานักลงทุนทั้งหลายหวาดวิตกกัน เนื่องจากความต้องการในการขนส่งสินค้าทางเรือยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกอย่าง Maersk การเติบโตของบริษัท จึงมักถูกนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญใช้เป็นมาตรวัดสถานะความแข็งแกร่งของการค้าโลก
ทั้งนี้ ซีอีโอของ Maersk ระบุว่า สิ่งที่ตนเองประสบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือตลาดขนส่งทางเรือและความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และตลาดโดยรวมยังคงมีความยืดหยุ่นท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดภาวะถดถอย พร้อมย้ำว่าความต้องการตู้คอนเทนเนอร์โดยทั่วไปเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจระดับมหภาค
นอกจากนี้ Clerc ยังอธิบายเพิ่มเติมว่าสินค้าคงคลังของสหรัฐฯ ซึ่งหมายรวมถึงสินค้าที่จัดเก็บก่อนส่งมอบหรือแปรรูป ในขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อต้นปี และไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงหรือดูเหมือนจะสามารถบ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการ
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารของ Maersk ย้ำว่า แม้จะสังเกตเห็นตัวเลขที่ไม่อาจคาดเดาได้สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ส่งผลต่อความต้องการขนส่งทางเรืออย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
Clerc ระบุว่า สิ่งที่บริษัทพิจารณาคือ คำสั่งซื้อจากผู้ค้าปลีกและแบรนด์ชั้นนำในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก โดยความต้องนำเข้ามายังสหรัฐฯ ในเดือนที่กำลังจะมาถึงดูเหมือนจะยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ดังนั้น หากใช้บริษัท Maersk เป็นตัวชี้วัด ข้อมูลที่บริษัทมีอยู่ขณะนี้ก็ชี้ไปที่ระดับความเชื่อมั่นที่ดีกว่าระดับการบริโภคในปัจจุบันในสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไป
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ข้อมูลบ่งชี้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเปราะบางและอ่อนแอกว่าที่คาด ส่งผลให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนในตลาดตื่นตระหนกไปตามๆ กัน ฉุดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทให้ร่วงลงอย่างหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ พบว่า สินค้าคงคลังในอุตสาหกรรมการค้าปลีกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรวัดปริมาณการผลิตที่ไม่ต้องการ (Measure of Unwanted Build) ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 5.33% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 7.9386 แสนล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม รายงานที่เผยแพร่โดยแพลตฟอร์มลีสซิ่ง Container xChange เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 สิงหาคม) ระบุว่า ตัวชี้วัดบ่งชี้ว่าสินค้าคงคลังสูงกว่าความต้องการ ซึ่งหมายถึง ‘เวลาที่รุ่งเรือง’ กำลังน้อยลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าสำหรับผู้ค้าตู้คอนเทนเนอร์ ตลาดโลจิสติกส์ และผู้ค้าปลีกที่สต็อกสินค้า
JPMorgan คาด โอกาสเกิด ‘Soft Landing’ 35-40%
ด้าน Jamie Dimon ซีอีโอของ JPMorgan กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า ส่วนตัวยังคงให้น้ำหนักกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ จะมีโอกาสเผชิญกับภาวะ ‘Soft Landing’ อยู่ที่ประมาณ 35-40%
ขณะเดียวกัน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า Dimon ปรับเปลี่ยนมุมมองตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ว่าตลาดมีทัศนคติในแง่ดีเกินไปเกี่ยวกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ Dimon กล่าวว่า โอกาสนั้นยังคงอยู่ในระดับ ‘ใกล้เคียงกัน’ กับที่เคยพูดถึงในช่วงก่อนหน้า
ทั้งนี้ Dimon ชี้แจงว่า สถานการณ์ตลาดโดยรวมยังมีความไม่แน่นอนมากมาย และปัจจัยที่มักทำให้เกิดความตกตะลึงในตลาดอยู่เสมอก็คือ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ ที่อยู่อาศัย การขาดดุล การใช้จ่าย นโยบายการเงินที่เข้มงวด และการเลือกตั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะผู้บริหารสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ วัดจากปริมาณสินทรัพย์ Dimon ยอมรับว่า แม้จะเคยเตือนเรื่องพายุเฮอริเคนทางเศรษฐกิจในปี 2022 แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ และแม้ปริมาณผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้บัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้น แต่สหรัฐอเมริกาในขณะนี้ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอยอีกต่อไป
เขากล่าวเพิ่มว่า โดยส่วนตัวยังรู้สึกระแวงเล็กน้อยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะสามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงให้ได้ตามเป้าหมายที่ 2% ได้จากการใช้จ่ายในอนาคตกับเศรษฐกิจสีเขียวและการทหารหรือไม่ เพราะมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากมาย อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว Dimon ยังคงมีมุมมองในแง่บวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ หากสหรัฐฯ ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย (Mild Recession) หรือแม้แต่เศรษฐกิจถดถอยในระดับที่หนักหน่วงขึ้น สหรัฐฯ ก็ยังคงไม่เป็นไร แน่นอนว่า อาจมีผู้คนตกงานมากขึ้น แต่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเผชิญกับ Hard Landing
อ้างอิง: