หน่วยงานศุลกากรของสหรัฐอเมริกาได้สั่งกักสินค้าของ Uniqlo แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอันเลืองชื่อของแดนซามูไร หลังต้องสงสัยว่าละเมิดคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าที่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงของจีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน
สินค้าดังกล่าวคือ ‘เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย’ ซึ่งถูกกักที่ท่าเรือลอสแอนเจลิส ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม ได้รับการเปิดเผยในเอกสารศุลกากรและการป้องกันชายแดนของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ว่าได้ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของ Uniqlo ที่จะขอให้ยกเลิกคำสั่งกักสินค้า
เอกสารศุลกากรของสหรัฐฯ ระบุว่า Uniqlo ได้โต้แย้งและแสดงหลักฐานว่าผ้าฝ้ายดิบที่ใช้ผลิตเสื้อไม่ได้มาจากซินเจียงของจีน โดยฝ้ายนั้นมาจากออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และบราซิล ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงานชาวอุยกูร์ ถึงกระนั้นศุลกากรของสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตของ Uniqlo นั้นไม่เพียงพอ
Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo กล่าวว่าผิดหวังกับการพิจารณาของศุลกากรสหรัฐฯ โดยออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “Uniqlo มีกลไกที่แข็งแรงในการระบุการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิของคนงานที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหากพบหลักฐานการบังคับใช้แรงงานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ จากซัพพลายเออร์ของเรา เราจะหยุดทำธุรกิจกับซัพพลายเออร์รายนั้น” พร้อมกับย้ำว่า “สินค้าของ Uniqlo ทั้งหมดใช้เฉพาะผ้าฝ้ายที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืนเท่านั้น”
สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาเรื่องการใช้ฝ้ายที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในซินเจียง กลายเป็นความเสี่ยงสำหรับบริษัทญี่ปุ่นได้อย่างไร โดย Bloomberg รายงานเพิ่มเติมว่า ยังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ปิดกั้นการจัดส่งสินค้าอื่นๆ จาก Uniqlo หรือแบรนด์อื่นๆ ภายใต้คำสั่งที่ออกโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ในเดือนธันวาคมหรือไม่ ขณะที่การค้นหาคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้จากศุลกากรของสหรัฐฯ ไม่พบเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
จ้าวลี่เจียน (Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวว่า ซินเจียงไม่มีการบังคับใช้แรงงาน และข้อหาดังกล่าวเป็นการ ‘กลั่นแกล้ง’ จากสหรัฐฯ โดยเขาได้กล่าวในกรุงปักกิ่งว่า “ธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรลุกขึ้นยืนและต่อต้านพฤติกรรมที่ไม่ยุติธรรมของสหรัฐฯ”
การประกาศหยุดใช้ฝ้ายจากซินเจียงของแดนมังกร เพราะสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ กลายเป็นประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงขั้นเกิดกระแส ‘คว่ำบาตร’ สินค้าที่ระบุว่า จะยุติการใช้ฝ้ายจากซินเจียง ซึ่งสำหรับ Uniqlo นั้นไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญของการคว่ำบาตรในจีนเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง H&M ตลอดจน Nike ที่โดนไปค่อนข้างหนัก
อย่างไรก็ตามยอดขายในอเมริกาเหนือคิดเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของยอดรวมของ Fast Retailing บริษัทมหาชนที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น ดังนั้นการถูกกักดังกล่าวจึงคาดว่าจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อรายได้ของบริษัท ซึ่ง ณ เดือนเมษายน มีร้านค้า Uniqlo 47 แห่งในสหรัฐอเมริกา ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นมีอยู่ 809 แห่ง ซึ่งทำรายได้กว่า 1 ใน 5 ของ Fast Retailing
ที่ผ่านมา ทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของ Fast Retailing ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีซินเจียงหลายครั้ง โดยกล่าวว่าบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง กระนั้น Fast Retailing ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020
“ไม่มีผลิตภัณฑ์ Uniqlo ที่ผลิตในภูมิภาคซินเจียง” Fast Retailing กล่าวในแถลงการณ์ “นอกจากนี้ยังไม่มีพันธมิตรด้านการผลิตของ Uniqlo ที่ส่งงานให้กับโรงงานผลิตผ้าหรือโรงปั่นด้ายในภูมิภาคนี้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- H&M กำลังเผชิญ ‘กระแสแบน’ ในจีน หลังตัดความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์จีน จากข้อกล่าวหาบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในซินเจียง
- วิกฤตที่ลุกลาม! H&M อย่างน้อย 6 แห่งในจีน ถูกห้างสรรพสินค้าสั่งปิดแบบไม่มีกำหนด และร้าน 500 สาขาค้นหาไม่ได้แล้วในแอปฯ นำทาง
- H&M ย้ำ พร้อมฟื้นฟูความไว้วางใจของลูกค้าชาวจีน แม้มีร้านถูกปิดไปแล้ว 20 สาขาก็ตาม
- 40-50 สาขาไม่พอแล้ว! Uniqlo ประกาศกร้าวขยายสาขาเพิ่ม 1 เท่าตัว เป็นปีละ 100 สาขาในเอเชีย หลังมองจะเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลก
- Muji สวนกระแส ระบุชัดเสื้อผ้าที่ขายในจีนทำจาก ‘ผ้าฝ้ายซินเจียง’ แม้แบรนด์ยักษ์อื่นๆ จะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์
- Muji มองข้ามความกังวลเกี่ยวกับผ้าฝ้ายซินเจียง ย้ำ ต้องการอยู่ในสถานะที่เปิดร้านปีละ 50 สาขาในแดนมังกร
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/china/uniqlo-shirts-blocked-us-border-january-china-forced-labour-concern-2021-05-19/
- https://asia.nikkei.com/Business/Retail/Uniqlo-denies-Xinjiang-labor-link-after-US-blocks-shirt-shipments2
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-05-19/u-s-blocked-uniqlo-shirts-on-xinjiang-forced-labor-concerns?sref=CVqPBMVg