×

ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมีนาคม พุ่งสูงเกินคาด ส่งสัญญาณ Fed เลื่อนขึ้นดอกเบี้ย

11.04.2024
  • LOADING...

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมีนาคม พบตัวเลขปรับตัวเพิ่มขึ้นมากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเริ่มลดน้ำหนักความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน และเริ่มประเมินว่า Fed น่าจะเริ่มหั่นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนแทน

 

ดัชนี CPI ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งติดต่อกันเป็นเดือนที่สามนี้ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ไม่ได้เกิดจากการที่ธุรกิจขึ้นราคาในช่วงต้นปีตามที่นักเศรษฐศาสตร์เคยออกมาแย้งไว้อีกต่อไป 

 

ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมยังมีขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่มีรายงานการเติบโตของงานในเดือนเดียวกัน โดยอัตราการว่างงานลดลงเหลือ 3.8% จาก 3.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้างตรงที่ราคาอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เปลี่ยนแปลง และราคายานยนต์ลดลง ส่งผลให้สินค้ากลับมามีภาวะเงินฝืด 

 

Phillip Neuhart ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดและเศรษฐกิจของ First Citizens กล่าวว่า ข้อมูล CPI ล่าสุดไม่ได้ขจัดความเป็นไปได้ของการดำเนินการของ Fed ในปีนี้โดยสิ้นเชิง แต่แน่นอนว่าจะช่วยลดโอกาสที่ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

 

ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.4% จากระดับ 3.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมีนาคม สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์

 

ด้านดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมีนาคม สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์

 

รายงานระบุว่า ราคาน้ำมันเบนซินและที่พักอาศัยเป็นสาเหตุสำคัญมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของดัชนี CPI ในครั้งนี้ ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 0.1% ท่ามกลางต้นทุนของเนย รวมถึงผลิตภัณฑ์ธัญพืชและเบเกอรีที่ลดลง โดยเป็นการลดลงรายเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1989 กระนั้น ราคาเนื้อสัตว์และไข่ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับราคาผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

 

แม้ว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกปีจะลดลงจากจุดสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 แต่แนวโน้มเงินเฟ้อก็แทบจะหยุดนิ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และดัชนีเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ยังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ Fed ที่ 2% 

 

ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้ ‘บริษัทต่างๆ รวมถึงร้านค้าปลีกของชำ ใช้ผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อลดราคา’ โดยไบเดนซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ยังกล่าวอีกว่า ตนเองมีแผนที่จะลดต้นทุนที่อยู่อาศัยด้วยการสร้างและปรับปรุงบ้านมากกว่า 2 ล้านหลัง

 

ทั้งนี้ หลังจากการเปิดเผยดัชนี CPI ได้ไม่นาน ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ปิดตลาดปรับตัวในแดนลบ โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 1.1% ดัชนี S&P 500 ลดลง 1% และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 0.8% เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักมองว่าจะเป็นปัจจัยทำให้ Fed ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

 

ทั้งนี้ รายงานผลสรุปการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม ที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 10 เมษายน ระบุว่าทางคณะกรรมการฯ ต่างกังวลว่าความคืบหน้าเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้ออาจหยุดชะงัก และธนาคารกลางอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้นักลงทุนเลื่อนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ของ Fed เป็นเดือนกันยายน จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนมิถุนายน 

 

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 79.0% ที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิถุนายน หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 42.6% เมื่อวันอังคารที่ 9 เมษายน นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 54.5% ที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30-31 กรกฎาคม หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 25.0% 

 

ดัชนี CPI ที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.5% เช่นเดียวกันกับค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักของโลก เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดนี้จะเป็นปัจจัยให้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงต่อไป  

 

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X