×

สหรัฐฯ-จีนเริ่มขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันชุดใหม่ แต่ยังเดินหน้าเจรจายุติสงครามการค้า

02.09.2019
  • LOADING...
สงครามการค้า

สหรัฐฯ และจีนต่างฝ่ายต่างเริ่มบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกันเมื่อวานนี้ (1 ก.ย.) ส่งผลให้บรรยากาศของสงครามการค้ากลับมาคุกรุ่น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายยังเดินหน้าเจรจาการค้ารอบใหม่ ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวผสมผสานในเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนตั้งความหวังไว้กับการเจรจาระหว่างสองฝ่าย

 

สำหรับมาตรการภาษีชุดใหม่ของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจีนตั้งแต่เมื่อวานนี้ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 1.12 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นกำแพงภาษีอัตรา 15% เฟสแรกที่เรียกเก็บจากสินค้าจีนรวมมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่วนที่เหลือจะเริ่มเก็บภาษีในเดือนธันวาคมนี้

 

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุวานนี้ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะจัดขึ้นในเดือนนี้ตามแผนที่กำหนดไว้ 

 

สำหรับสินค้าที่ถูกเก็บภาษีชุดนี้ครอบคลุมสินค้าหมวดรองเท้าและอาหาร ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับภาคครัวเรือนอเมริกันราว 800 ดอลลาร์ต่อปี 

 

ขณะที่ฝ่ายจีนก็เริ่มเก็บภาษีอัตรา 5-10% กับสินค้านำเข้าจาก 1 ใน 3 ของบัญชีสินค้า 5,000 รายการ รวมมูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่จีนประกาศไปก่อนหน้านี้

 

ส่วนสินค้าที่เหลืออีก 2 ใน 3 จะเริ่มเก็บภาษีอากรข้าเข้าตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมเป็นต้นไป ซึ่งรวมถึงสินค้าหมวดรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

 

ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้ายังคงกดดันตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นในการซื้อขายภาคเช้าวันนี้ โดยดัชนี Shanghai Composite และ Shenzhen พุ่งขึ้น 1.69% และ 1.72% ตามลำดับ ด้วยแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งได้ปัจจัยบวกจากการที่คณะรัฐมนตรีจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสินค้าไฮเทคเพิ่มขึ้น 

 

ขณะที่ดัชนี Hang Seng ตลาดหุ้นฮ่องกง ขยับลง 0.47% สืบเนื่องจากแรงกดดันของเหตุประท้วงที่รุนแรงขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนดัชนี Nikkei ตลาดหุ้นโตเกียวปรับตัวลง 0.35%, ดัชนี Kospi ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ขยับขึ้น 0.2% และดัชนี  S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ปรับตัวลง 0.46% โดยภาพรวมดัชนี MSCI Asia ปรับตัวลง 0.24% 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising