×

เปิดรอยร้าวสหรัฐฯ-จีน ความสัมพันธ์ตกต่ำสะสมสู่อาฟเตอร์ช็อกการเมืองโลก

16.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ความสัมพันธ์ที่ตกต่ำระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ได้เริ่มมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกขณะนี้ หากแต่มีรอยร้าวและความขัดแย้งที่สะสมมาหลายเรื่อง ครอบคลุมมิติการเมืองและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปัญหาทะเลจีนใต้ กรณีไต้หวันและฮ่องกง ความมั่นคง การแข่งขันทางเทคโนโลยี และสงครามการค้า  
  • เราอาจเปรียบความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในการเมืองโลกที่มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระยะๆ 
  • ภาพการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเด่นชัดขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังจาก สีจิ้นผิง ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจีน เขาต้องการนำพาจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในทุกๆ ด้าน ขณะที่สหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชูนโยบายที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ส่งผลให้สองประเทศต้องเผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากกล่าวถึงคู่ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ที่เป็นกระจกสะท้อนใบใหญ่ของบรรยากาศการเมืองโลก และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศของนานาชาติ ไม่มีคู่ไหนสำคัญไปกว่าคู่ของสหรัฐฯ กับจีนในปัจจุบัน เพราะประเทศหนึ่งเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และมีแสนยานุภาพทางทหารเกรียงไกรที่สุด ขณะที่อีกประเทศกำลังผงาดขึ้นมาท้าทายบัลลังก์ของสหรัฐฯ ทั้งในแง่อิทธิพลทางการเมือง ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 และกำลังจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตลอดจนขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและกำลังทหารที่ไล่กวดกระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ

 

การที่สองประเทศมหาอำนาจช่วงชิงความเป็นผู้นำทางยุทธศาสตร์ในมิติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความมั่นคงนั้น ได้ฉายภาพของการแข่งขันที่ดุเดือดมากกว่าความร่วมมือ โดยสำหรับสหรัฐฯ แล้ว พวกเขาหวาดระแวงจีนว่ากำลังเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกที่สหรัฐฯ วางรากฐานมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้จีนยังเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ที่วอชิงตันจัดเป็นภัยคุกคามเบอร์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น

 

การเป็นพันธมิตรกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้ช่วยวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนอย่างที่คิด ด้วยภูมิทัศน์การเมืองและสถานการณ์โลกที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้ทั้งสองชาติกลับกลายมาเป็นคู่แข่งในเวลาต่อมา แม้ว่าภาพรวมความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นหยิบจับอาวุธขึ้นมาทำสงครามประหัตประหารแบบประจันหน้ากัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ได้ราบรื่นตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี หรือนับตั้งแต่ 2 ประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1979 เป็นต้นมา ซ้ำร้ายยังเกิดความระหองระแหงหรือมีเรื่องให้บาดหมางกันอยู่เป็นระยะ

 

ภาพการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเด่นชัดยิ่งขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังจาก สีจิ้นผิง ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจีน เขามีปณิธานอันแรงกล้าในการสานฝันที่เรียกว่า ‘China Dream’ เพื่อนำพาจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในทุกๆ ด้าน ขณะที่สหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชูนโยบาย America First (อเมริกาต้องมาก่อน) และ Make America Great Again (ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง) ส่งผลให้สองประเทศต้องเปิดหน้าชนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

บทความนี้จะพาไปย้อนดูความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจของโลก เพื่อให้เห็นภาพใหญ่และทำความเข้าใจความสัมพันธ์อันซับซ้อนนี้ได้ดียิ่งขึ้น ไปดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ทั้งคู่ยังขัดแย้งกันอยู่ ก่อนทำนายแนวโน้มในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อ และวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เป็นตัวเร่งให้ปัญหาต่างๆ ประดังขึ้นมาพร้อมกันได้อย่างไร

 

 

สงครามการค้า: แผ่นดินไหวใหญ่ที่สะเทือนภูมิทัศน์การค้าโลก

เราอาจเปรียบความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในการเมืองโลกที่มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระยะๆ

 

ภาพความสัมพันธ์ที่ตกต่ำลงสุดขีดในปัจจุบันไม่ได้เริ่มมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกขณะนี้ หากแต่มีรอยร้าวและความขัดแย้งที่สะสมมาหลายเรื่องและหลายปี

 

หนึ่งในข้อพิพาทที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนตกต่ำถึงขั้น ‘นิวโลว์’ ในหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่คือ ‘สงครามการค้า’ ที่มีจุดเริ่มต้นในปี 2018 ในยุคของทรัมป์ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกและดิสรัปต์ห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ โดยหากไม่นับวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังสร้างความหายนะไปทั่วโลกขณะนี้แล้ว สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวงที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

 

ทรัมป์ปักใจเชื่อมาตลอดว่า จีนใช้การค้าที่ไม่เป็นธรรมเอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ ในทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนเรื่อยมา ดังนั้นเมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เขาจึงไม่รีรอที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้โดยขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 ซึ่งทำให้จีนตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน จนทำให้สงครามการค้าลุกลามใหญ่โตจนสะเทือนตลาดการเงินทุกหย่อมหญ้า

 

หนึ่งในข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้จีนเร่งแก้ไขเพื่อยุติเทรดวอร์คือ ให้จีนซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาขาดดุล รวมทั้งแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเปิดทางให้บริษัทอเมริกันเข้าถึงระบบการเงินของจีนได้มากขึ้น

 

หลังสหรัฐฯ และจีนห้ำหั่นกันบนสมรภูมิการค้าเกือบ 18 เดือนเต็ม ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สงบศึกกันได้ด้วยข้อตกลงการค้าเฟส 1 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขว่า สหรัฐฯ จะระงับหรือลดกำแพงภาษีลง แลกกับจีนต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 2 ปี เทียบจากฐานปี 2017 โดยแบ่งเป็นการเพิ่ม 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 และ 1.23 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2021

 

แต่อุปสรรคสำคัญที่คาดไม่ถึงก็คือ วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นหลังจีน-สหรัฐฯ เซ็นดีลการค้าเฟส 1 ไปแล้ว อาจทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ไม่ได้ตามเป้าในปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐฯ กลับมาใช้มาตรการทางภาษีกับจีน และทำให้สงครามการค้าระอุขึ้นอีกระลอก

 

ศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คาดว่า ยอดการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ ไปจีนอาจมีมูลค่าเพียง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งต่ำกว่ายอด 1.86 แสนล้านดอลลาร์ตามเงื่อนไขในข้อตกลง 

 

แต่ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวเป็นการมองเผื่อไว้ในกรณีเลวร้ายที่สุด เพราะจีนอาจชดเชยโดยซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจากไข้โควิดแล้ว

 

แต่ถึงกระนั้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเฟส 2 ซึ่งเป็นฉบับที่ทรัมป์มองว่าจะเป็นตัวยุติข้อพิพาททางการค้ากับจีนอย่างสมบูรณ์ก็ยังดูไม่คืบหน้านัก โดยสองฝ่ายยังต้องตกลงกันในประเด็นสำคัญที่ยังไม่ลงรอย เช่น ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในจีน ซึ่งดูแล้วใช่ว่าจะตกลงกันได้ง่ายๆ และยังน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะ 

 

เมื่อพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกันแล้ว ทำให้มีแนวโน้มสูงที่สงครามการค้าอาจยืดเยื้อต่อไป โดยเฉพาะถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยในเดือนพฤศจิกายนนี้ เราอาจได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ บนเส้นทางที่ขรุขระและไม่แน่นอนไปอีก 4 ปีเป็นอย่างน้อย

 

 

Huawei: ภัยคุกคามความมั่นคงที่วอชิงตันหวาดหวั่น

บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งในช่วงที่สหรัฐฯ และจีนกำลังทำสงครามการค้ากันอย่างดุเดือด ส่วนหนึ่งสหรัฐฯ มองว่า Huawei อยู่เบื้องหลังการขโมยเทคโนโลยีและข้อมูลลับทางการค้า นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังหวาดระแวงการผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นของ Huawei ในฐานะผู้นำเทคโนโลยี 5G ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐฯ

 

นับจนถึงกลางปี 2019 Huawei ลงนามกับคู่สัญญา 42 ประเทศ ในการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G โดยจำนวนนี้มี 25 ประเทศที่อยู่ในยุโรป แต่ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง และพยายามโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ หันหลังให้กับเทคโนโลยีของ Huawei โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มพันธมิตร  Five Eyes ที่มีข้อตกลงแชร์ข่าวกรองร่วมกันอย่างแคนาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

 

สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า การติดตั้งฮาร์ดแวร์ของ Huawei อาจสร้างประตูหลังบ้านให้รัฐบาลจีนเข้าสอดแนมข้อมูลการสื่อสารของประเทศต่างๆ หรือเปิดทางให้แฮกเกอร์เจาะระบบไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่ปลอดภัย

 

นอกจากนี้ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังเคยขู่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 ด้วยว่า การใช้เทคโนโลยี 5G ของ Huawei อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้ทั้ง Huawei และรัฐบาลจีนต่างออกมาคัดค้าน พร้อมกล่าวหาวอชิงตันด้วยว่า พยายามหว่านเมล็ดพันธุ์ของความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ

 

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎแบนไม่ให้หน่วยงานของสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์ของ Huawei รวมถึงออกกฎห้ามบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ไม่ให้ขายอุปกรณ์แก่ Huawei ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการค้าที่ระอุในปีที่แล้ว

 

ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ กับ Huawei และจีนยังบานปลายไปถึงกรณีการจับกุม เมิ่งหว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Huawei ซึ่งเป็นบุตรสาวของ เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Huawei โดยสหรัฐฯ กล่าวหาว่า เมิ่งละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรโดยแอบให้ความช่วยเหลืออิหร่าน และได้ออกหมายจับให้แคนาดาควบคุมตัวเธอเพื่อนำมาดำเนินคดีในสหรัฐฯ โดยคดีของเมิ่งถูกมองว่าเป็นหนึ่งในหมากต่อรองที่ทรัมป์ใช้ในการเจรจาข้อตกลงการค้ากับจีน

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อขัดขวางผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ออกแบบชิปโดยใช้เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ ไม่ให้ส่งออกสินค้าแก่ Huawei Technologies หากไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล เพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของ Huawei ด้วย

 

ประเด็นของ Huawei ที่เข้ามาอยู่แกนกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจึงเป็นมหากาพย์ที่ต้องติดตามกันยาวๆ ซึ่งการแก้ปัญหาจะมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น และอาจผูกโยงกับประเด็นการค้าที่สหรัฐฯ โฟกัสกับการปกป้องเทคโนโลยีของชาวอเมริกัน 

 

 

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้: ปมร้าวฉานที่มีดุลอำนาจในภูมิภาคเป็นเดิมพัน

อีกหนึ่งประเด็นคาราคาซังที่ทำให้สหรัฐฯ และจีนขัดแย้งกันเรื่อยมาคือ ปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งเริ่มต้นมาจากการที่จีนพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่เกาะและน่านน้ำโดยลากเส้นประ 9 เส้นครอบคลุมพื้นที่ 85% ในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับอาณาเขตเพื่อนบ้านหลายประเทศและน่านน้ำสากล

 

เกาะและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ถือเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล และเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก มีสินค้าเคลื่อนผ่านคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี 

 

นับจากปี 2015 จีนพยายามเข้าครอบครองทะเลจีนใต้โดยเปลี่ยนแนวปะการังและโขดหินเป็นเกาะเทียม และสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์ และนำเครื่องบินรบและทหารไปประจำการเพื่อแสดงสิทธิ์การเป็นเจ้าของ

 

การสร้างเกาะเทียมบนพื้นที่ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนสร้างความไม่พอใจแก่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน รวมถึงไต้หวันที่ต่างก็หวาดระแวงกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่สหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบหรือเครื่องบินออกลาดตระเวนในบริเวณใกล้เคียงเพื่อท้าทายจีน ซึ่งหลายครั้งก็หวิดเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้น แต่สำหรับสหรัฐฯ แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องทำเพื่อแสดงจุดยืนให้เห็นว่า วอชิงตันไม่ยอมรับการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เพียงฝ่ายเดียวของจีน ทั้งยังเป็นการยืนยันด้วยว่าสหรัฐฯ มีสิทธิเดินเรืออย่างเสรีในน่านน้ำสากล

 

ไม่เพียงแต่รัฐบาลของทรัมป์เท่านั้น รัฐบาลในยุคประธานาธิบดี บารัก โอบามา ก็ส่งสารเตือนจีนอย่างแข็งกร้าวเรื่อยมา ให้จีนหยุดพฤติการณ์ครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งที่ผ่านมาจีนก็ยังพัฒนาเกาะต่างๆ ให้เป็นฐานทัพทางทหารอย่างต่อเนื่อง

 

จีนมองว่า การที่สหรัฐฯ ส่งเรือแล่นใกล้เกาะที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ถือเป็นการยั่วยุ และนั่นก็ทำให้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จีนได้เสริมเขี้ยวเล็บบนเกาะต่างๆ ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลไปประจำการ รวมถึงสร้างหลุมปล่อยขีปนาวุธ

 

และในช่วงที่หลายชาติ รวมถึงสหรัฐฯ กำลังสาละวนกับการแก้วิกฤตโควิด-19 ในประเทศอยู่นั้น จีนเดินหมากที่อาจเป็นตัวพลิกเกมทั้งกระดานอย่างเงียบๆ ด้วยการจัดตั้งเขตบริหารใหม่ 2 เขต ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่บนเกาะปะการังเฟียรีครอสในหมู่เกาะสแปรตลี และเกาะวูดีในหมู่เกาะพาราเซล รวมทั้งตั้งชื่อเกาะเล็กและแนวปะการังรวม 80 เกาะ เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

 

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างข้อเท็จจริงใหม่ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างในการควบคุมพื้นที่ขนาด 3.62 ล้านตารางเมตรในทะเลจีนใต้ และบีบให้ประเทศเพื่อนบ้านสละสิทธิ์ที่เคยกล่าวอ้าง รวมถึงสิทธิในอาณาเขตภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสถานภาพไปจากเดิมในแบบที่กู้กลับคืนไม่ได้อีกต่อไป

 

ดุลอำนาจในบริเวณนี้จึงกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสหรัฐฯ ก็กำลังจับตาอย่างไม่ลดละ เพราะผลประโยชน์บริเวณพื้นที่ยุทธศาสตร์นี้ยังคงเย้ายวนใจสำหรับประเทศมหาอำนาจ

 

 

 

ปัญหาไต้หวันและนโยบายจีนเดียว: ระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ

จีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนมาตลอด ดังนั้นการเจริญสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่จึงต้องยอมรับเงื่อนไขที่ว่าในโลกนี้ไม่มีสองจีน แต่มีจีนเพียงหนึ่งเดียว ตามนโยบายจีนเดียว หรือ One China Principle ซึ่งหลักการดังกล่าวผูกปมที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้นสำหรับนานาชาติในการกำหนดนโยบายต่างประเทศต่อจีนและไต้หวันในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติแทนไต้หวันในปี 1979

 

ในทางพฤตินัย จีนและไต้หวันต่างมีรัฐบาลปกครองโดยไม่ขึ้นแก่กันตั้งแต่สมัยสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี 1949 หรือหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศชัยชนะและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กรุงปักกิ่งในปีนั้น ส่วนรัฐบาลก่อนหน้านั้นในชื่อสาธารณรัฐจีนนำโดย เจียงไคเชก (เจี่ยงเจี้ยสือ) ได้ลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลใหม่บนเกาะไต้หวันแทน

 

กาลเวลาผ่านไป จีนยังถือว่าไต้หวันเป็นเพื่อนร่วมชาติ จนมีคำพูดติดปากที่ผู้นำจีนใช้เรียกไต้หวันอยู่เสมอว่า ‘ไถวันถงเปา’ (台湾同胞) หรือไต้หวันเพื่อนร่วมชาติ โดยในอดีตที่ผ่านมาจีนแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวทุกครั้ง หากมีสัญญาณว่าไต้หวันต้องการเอกราชหรือเป็นประเทศอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับจีน หรือจีนเห็นว่ามีการกระทำอื่นใดของประเทศใดก็ตามที่ขัดต่อหลักนโยบายจีนเดียวที่เป็นกฎเหล็กของจีน

 

เมื่อเดือนมกราคม 2019 สีจิ้นผิง ประกาศย้ำชัดว่า ไต้หวันจะไม่ได้เป็นประเทศเอกราชอย่างแน่นอน และจีนก็พร้อมใช้กำลังทหารเพื่อรวมชาติกับไต้หวันเป็นหนึ่งเดียวหากจำเป็น

 

ส่วนในไต้หวันเอง แม้มีประชาชนและพรรคการเมืองที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นรัฐอิสระจากจีนอยู่ไม่น้อย แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการประกาศแยกตัวอย่างเป็นทางการ และคนส่วนใหญ่ก็ยังสนับสนุนสถานภาพเดิมที่เป็นอยู่ คือไม่แยกแต่ก็ไม่รวม 

 

อีกหนึ่งตัวแปรที่มีความสำคัญต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันคือท่าทีและนโยบายของสหรัฐฯ แม้รัฐบาลวอชิงตันจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งอย่างเป็นทางการและยอมรับนโยบายจีนเดียว แต่ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็รักษาความสัมพันธ์ในระดับที่ไม่เป็นทางการกับไทเปด้วย ซึ่งสร้างความหวาดระแวงให้กับจีนเสมอมา

 

ในยุครัฐบาลทรัมป์ สหรัฐฯ แสดงท่าทีสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผยมากขึ้น ซึ่งทำให้จีนขุ่นเคืองอย่างไม่ต้องสงสัย โดยในเดือนพฤษภาคม 2019 จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเวลานั้นได้พบปะกับเจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูงของไต้หวัน ซึ่งเป็นการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความมั่นคงของสองฝ่ายเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี 

 

จากนั้น 3 เดือนให้หลัง ทรัมป์ได้เซ็นอนุมัติขายอาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหญ่ให้ใต้หวัน ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 ฝูงใหม่ ซึ่งตอนนั้น หัวชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนประกาศเตือนว่า สหรัฐฯ จะต้องแบกรับผลลัพธ์ที่ตามมา หากรัฐบาลยังคงดึงดันแทรกแซงกิจการในไต้หวัน พร้อมย้ำว่า ปัญหาไต้หวันเป็นกิจการภายในของจีนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และผลประโยชน์ด้านความมั่นคง

 

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ไต้หวันถือเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการควบคุมการระบาด แม้อยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 180 กิโลเมตร ความสำเร็จของไต้หวันทำให้หลายประเทศยกย่องและยกโมเดลของไต้หวันเป็นแบบอย่างในการรับมือกับไวรัส เรื่องนี้สร้างความไม่สบายใจให้กับจีนเป็นอย่างยิ่ง เพราะบทบาทที่เพิ่มขึ้นในเวทีโลกของไต้หวันกำลังท้าทายหลักการจีนเดียวในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

เกิดกระแสเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) รับไต้หวันเป็นชาติสมาชิก เพราะในอดีตถูกจีนที่มีอิทธิพลทางการเมืองในนั้นคัดค้านมาตลอด ขณะที่ไต้หวันได้อาศัยความสำเร็จเรื่องการรับมือไวรัส ขยายบทบาทของตนในเวทีโลก ประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน ประกาศแคมเปญ ‘ไต้หวันช่วยได้ และไต้หวันกำลังช่วย’ โดยสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และอุปกรณ์การแพทย์แก่ประเทศต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างจีนกับไต้หวันในการช่วยเหลือประเทศที่เผชิญกับวิกฤตโรคระบาด หรือที่เรียกว่า ‘การทูตหน้ากาก’ โดยหลังจากนี้เราอาจได้เห็นการแข่งกันในลักษณะนี้ระหว่างสองชาติจากสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันกันมากขึ้นในยุคความปกติใหม่ (New Normal) นี้  

 

แต่ตราบใดที่ไต้หวันไม่ประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช และจีนไม่ใช้กำลังทางทหารกับไต้หวัน สงครามใหญ่ที่จะบีบให้สหรัฐฯ ต้องเลือกข้างอาจไม่เกิดขึ้น กระนั้นปัญหาไต้หวันก็ยังเปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ เพราะจีนถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พวกเขายอมทุ่มสุดตัว แม้ต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม

 

วิกฤตประท้วงฮ่องกง: ความท้าทายต่อหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ

สถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สร้างความบาดหมางระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในปี 2019 โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีสนับสนุนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเรือนในฮ่องกง รวมถึงหนุนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย แต่จีนมองว่า สหรัฐฯ พยายามแทรกแซงกิจการในประเทศ 

 

ชนวนประท้วงรุนแรงในฮ่องกงเมื่อปี 2019 มาจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เปิดทางให้ทางการฮ่องกงสามารถส่งตัวนักโทษการเมืองหรือผู้เห็นต่างไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดกระแสลุกฮือของประชาชนที่หวาดระแวงอิทธิพลของจีนและหวั่นเกรงว่าหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ชาวฮ่องกงหวงแหนจะถูกทำลายลง 

 

แม้ท้ายที่สุดสภานิติบัญญัติของฮ่องกงและ แคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จะประกาศถอนร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างถาวร แต่การประท้วงก็บานปลายไปสู่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นประชาธิปไตย 

 

จนกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังสภาคองเกรสผลักดันร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง (Hong Kong Human Rights and Democracy Act) เพื่อสกัดอิทธิพลและการแทรกแซงของจีนในฮ่องกง โดยทรัมป์ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 

 

กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ ประเมินระดับสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองของฮ่องกงเป็นประจำทุกปี และมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิพลเรือนในฮ่องกง ซึ่งจีนมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างโจ่งแจ้ง

 

เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อความสัมพันธ์ปักกิ่ง-วอชิงตันอย่างแน่นอน และเป็นอีกปมขัดแย้งที่ยากจะคลี่คลาย 

 

 

 

โควิด-19 กับความปกติใหม่ในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตั้งแต่ต้นปี 2020 มาจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ค้นพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ทรัมป์โจมตีจีนว่าจัดการกับโรคระบาดไม่โปร่งใสและปกปิดข้อมูลจนเป็นเหตุให้ไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยในสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก (1.4 ล้านราย และ 85,898 ราย ตามลำดับ) (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2020)

 

ทรัมป์ยอมรับว่า วิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นการโจมตีแผ่นดินสหรัฐฯ ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เลวร้ายกว่าเหตุการณ์ญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 1941 และเหตุวินาศกรรมที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือ 9/11 เมื่อปี 2001 ซึ่งสองเหตุการณ์นี้นำไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ในเวลาต่อมา โดยเหตุการณ์แรกทำให้สหรัฐฯ โดดเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนเหตุการณ์หลังนำไปสู่สงครามปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ซึ่งทำให้ภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิงนับจากนั้น

 

ย้อนกลับมาที่วิกฤตโควิด สหรัฐฯ และจีนทำสงครามวิวาทะโดยต่างฝ่ายต่างโยนความผิดให้แก่กันว่าล้มเหลวในการรับมือโรคระบาด ทรัมป์ชี้ว่า จีนควรหยุดยั้งไวรัสไม่ให้ระบาดออกนอกประเทศตั้งแต่ต้น นอกจากนั้นยังมีกระแสโจมตีจีนด้วยข้อสันนิษฐานว่า ไวรัสอาจหลุดจากแล็บสถาบันไวรัสวิทยาในเมืองอู่ฮั่น สืบเนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่หละหลวม

 

ขณะที่จีนตอบโต้สหรัฐฯ โดยแนะนำให้โฟกัสกับปัญหาในประเทศก่อน และหยุดเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ หรือทำให้ประชาคมโลกเข้าใจผิดเกี่ยวกับจีน  

 

นี่ยังไม่รวมทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ เช่น ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ไวรัสโคโรนา 2019 อาจมาจากการเพาะขึ้นโดยมนุษย์ในห้องทดลองเมืองอู่ฮั่น หรือจีนอ้างว่าไวรัสอาจมาจากทหารอเมริกันที่นำเชื้อมาปล่อยที่อู่ฮั่น ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงการกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานน่าเชื่อถือมาสนับสนุนแต่อย่างใด ขณะที่ WHO ระบุว่า จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับมาจนถึงเวลานี้ บ่งชี้ได้ว่าไวรัสมาจากสัตว์ป่า ไม่ได้เกิดจากฝีมือมนุษย์

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงนี้จึงมีความไม่แน่นอนสูง อาจผันผวนขึ้นลงเหมือนตลาดหุ้น บางคนเปรียบเป็นรถไฟเหาะตีลังกา จากวันที่ชื่นมื่นที่สองฝ่ายจับมือลงนามข้อตกลงการเฟส 1 ในเดือนมกราคม สู่จุดตกต่ำสุดขีดในเดือนพฤษภาคม ที่ทรัมป์ขู่ว่าอาจตัดความสัมพันธ์กับจีน เพื่อลงโทษจีนกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งสองเหตุการณ์นี้ห่างกันไม่ถึง 5 เดือน 

 

ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า การตัดสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น ยิ่งปีนี้เป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยแล้ว การจะตัดสินใจดำเนินนโยบายอะไรจะต้องคิดหน้าคิดหลังเป็นพิเศษ 

 

สำหรับสหรัฐฯ แล้ว สิ่งที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้าคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ลำพังเศรษฐกิจก็ย่ำแย่จากไวรัสอยู่แล้ว สหรัฐฯ จึงอยู่ในสภาพที่อ่อนแอเกินกว่าที่จะสู้รบตบมือกับจีน ถ้าไม่เกิดโควิด-19 เสียก่อน สหรัฐฯ ก็อาจตอบโต้จีนแบบแลกหมัดกันได้แบบที่ทำในสงครามการค้าในปีที่ผ่านมา 

 

ดร.ประพีร์ มองว่า แนวนโยบายของทรัมป์ที่เราเห็นกันเป็นปกติคือทรัมป์มักสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อบีบให้ประเทศต่างๆ หันมาเจรจาด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการด้านผลประโยชน์แห่งชาติ โดยที่ผ่านมาทรัมป์ทำได้ผลกับจีนในสมรภูมิสงครามการค้า หรือกับหลายประเทศ แต่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป

 

หลังวิกฤตไวรัสสิ้นสุดลง หลายประเทศอาจทบทวนแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศใหม่ (หรือบางประเทศอาจทบทวนกันไปแล้ว) องค์การระหว่างประเทศอาจถูกลดทอนความสำคัญลงอีก ขณะที่หลายชาติจะหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาซัพพลายเชนในต่างประเทศ

 

หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ กำลังพิจารณาย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนอย่างจริงจัง ซึ่งหนึ่งในมาตรการตอบโต้ที่สหรัฐฯ อาจทำในเวลานี้คือ การโน้มน้าวบริษัทอเมริกันให้ย้ายฐานการผลิตหรือตัดบริษัทจีนออกจากซัพพลายเชนสหรัฐฯ เหมือนกับที่สหรัฐฯ พยายามจะตัดซัพพลายสินค้าเทคโนโลยีที่ป้อนสายพานผลิตของ Huawei

 

อีกสิ่งที่น่าจับตาหลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายก็คือ หากจีนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ไม่ได้ตามเป้าที่กำหนดในปีนี้ ก็อาจเป็นปัจจัยที่สหรัฐฯ กลับมาใช้มาตรการทางภาษีกับจีน และทำให้เทรดวอร์ปะทุขึ้นอีกระลอก กรณีเลวร้ายที่สุดคือ สหรัฐฯ อาจถอนตัวจากข้อตกลงทั้งหมด ซึ่งทำให้โอกาสที่ทั้งคู่จะทำข้อตกลงการค้าเฟส 2 แทบริบหรี่และห่างไกลความจริงทุกขณะ และเมื่อถึงตอนนั้นอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง 

 

โจทย์ใหญ่สำหรับจีนในเวลานี้ รวมถึงในอนาคตข้างหน้าก็คือ จีนจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นบนเส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจอย่างเต็มตัว เพราะพวกเขาจะถูกตั้งคำถามด้วยความเคลือบแคลงมากขึ้น ท่ามกลางกระแสเกลียดชังจีนที่กำลังก่อตัวไปทั่วโลก เนื่องจากโควิด-19 เป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจและแนวทางการรับมือกับโรคระบาด จีนจะทำอย่างไรเพื่อให้นานาประเทศกลับมาไว้ใจ เป็นคำถามที่พวกเขาต้องตอบและทำให้ได้  

 

นอกจากการตอบโต้กันทางเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่จะเป็นไปได้ในความสัมพันธ์ยุค New Normal นี้ก็คือ การทำสงครามข้อมูลข่าวสารที่เราจะเห็นกันเป็นปกติหลังจากนี้ 

 

เช่นเดียวกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่จะคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ และจีนเผชิญหน้ากันได้ทุกเมื่อ

 

ทั้งหมดคือรอยร้าวและความขัดแย้งที่สะสมมาจากอดีต โดยโควิด-19 เป็นเพียงปมปัญหาใหม่และตัวเร่งปฏิกิริยาให้ความขัดแย้งขยายวง มีความเป็นไปได้สูงว่าข้อพิพาทต่างๆ จะไม่ยุติลง แม้ว่าวิกฤตโรคระบาดจะคลี่คลายไปแล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์ในต่างประเทศเชื่อว่า จีนและสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการซ่อมแซมความสัมพันธ์และประสานรอยร้าวระหว่างกัน    

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising