×

‘พรมทอมือจากขยะพลาสติกในทะเล’ ครั้งแรกของโลก อีกการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Upcycling เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
27.09.2019
  • LOADING...
Upcycling

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • ‘UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019’ งานที่จัดแสดงผลงานการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมจากกระบวนการ Upcycling วัสดุเหลือใช้สู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า และสามารถใช้จริงในที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ
  • นอกจากบล็อกคอนกรีตผสมขยะพลาสติกสำหรับถนนและทางเดิน ตลอดจนคอนกรีตและวัสดุไม้เทียมจากขยะพลาสติก ที่สามารถนำไปใช้ในอาคารทั้งภายนอกและภายใน ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ ‘พรมทอมือที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเล’ ครั้งแรกของโลก นุ่มจนไม่เชื่อว่าทำจากขยะ
  • พร้อมไขข้อข้องใจ ทำไมต้องขยะ และขยะเกี่ยวอะไรกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์?

ทำไมต้องขยะ และขยะเกี่ยวอะไรกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์? นี่คือคำถามที่ THE STANDARD ถามตัวเองอยู่ในใจก่อนที่จะเดินเข้าไปในงาน ‘UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019’ งานที่จัดแสดงผลงานการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมจากกระบวนการ Upcycling วัสดุเหลือใช้สู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า และสามารถใช้จริงในที่อยู่อาศัยหลากหลายรูปแบบ

 

ในความรู้สึกเรา ‘ขยะ’ ก็คือขยะ และคำว่า ‘รีไซเคิล’ ที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงนี้ ด้วยคนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้สองคำนี้มักจะมาคู่กันเสมอ และสิ่งที่มักจะเห็นคือ ขยะที่ถูกนำมารีไซเคิลแล้วเผลอๆ รูปลักษณ์และอายุการใช้งานสั้นลงด้วย เช่น กระดาษจากแผ่นสีขาวเมื่อผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วกลายเป็นกระดาษลังสีน้ำตาลหม่นๆ ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าใช้ใส่ของ

 

แต่จากการได้เดินเข้าไปในงานทำให้ความรู้สึกและความเข้าใจของเราเปลี่ยนไปทันที เพราะสิ่งที่เห็นขยะได้ถูกแปลงไปอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์เดิมๆ และเป็นในแบบที่เราคาดไม่ถึง ทั้งบล็อกคอนกรีตผสมขยะพลาสติกสำหรับถนนและทางเดิน ซึ่งสามารถนำอิฐที่ได้ไปปูทางเท้า ปูพื้นถนน 

 

Upcycling

 

ตลอดจนคอนกรีตและวัสดุไม้เทียมจากขยะพลาสติก ที่สามารถนำไปใช้ในอาคารทั้งภายนอกและภายใน ตั้งแต่ผนังห้อง หลังคา เฟอร์นิเจอร์ ทางเดินเท้า และส่วนที่ตกแต่งพื้นที่สีเขียวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมองผ่านๆ แทบจะไม่รู้สึกเลยว่าทำจากขยะพลาสติก

 

แต่ไฮไลต์ที่สุดในงานนี้ถูกยกให้กับ ‘พรมทอมือที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเล’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแรกของโลก หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ‘เมืองไทย’ ติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก มากถึง 1 ล้านตันต่อปี ที่ขยะถูกปล่อยลงสู่ทะเล โดย 80% ของขยะในทะเลเป็นพลาสติก ว่ากันว่าอีก 30 ปีต่อจากนี้ขยะในทะเลจะมากกว่าจำนวนปลา ถือเป็นเรื่องน่าตกใจและทุกคนต้องหันมาร่วมมือร่วมใจกัน

 

Upcycling

 

‘พรมทอมือที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเล’ เป็นอีกตัวอย่างที่เราเชื่อว่า จะเห็นหนึ่งในต้นแบบที่จะทำให้หลายคนหันมาตระหนัก และมองเป็นไอเดียในการนำขยะจากท้องทะเลมาพัฒนาให้มีคุณค่าขึ้น จากคำบรรยายในงานเราได้ข้อมูลว่า การนำขยะมาทำเป็นพรม 1 ตารางเมตร ใช้ขยะมากถึง 2-3 กิโลกรัม ซึ่งสวยจนไม่คิดว่าเป็นขยะมาก่อน และจากที่ทดลองจับเส้นใยที่ทอขึ้นมา แทบไม่ต่างจากเส้นด้ายทั่วไป เผลอๆ นุ่มกว่าด้วยซ้ำ

 

ทุกสิ่งที่เราเห็นทางศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ซึ่งเป็นเจ้าของงานยืนยันว่า จะถูกนำไปใช้จริงๆ ในโครงการที่กำลังก่อสร้าง และจะเห็นได้ในไม่ช้า โดยเฉพาะกับโครงการ ‘เดอะ ฟอเรสเทียส์’ (The Forestias) มูลค่าโครงการ 9 หมื่นล้านบาท บนที่ดินเนื้อที่กว่า 300 ไร่ย่านบางนา

 

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ให้ข้อมูลอีกว่า นอกเหนือจากพรมทอมือ หรือถนนแล้ว ยังจะมีการตั้งโรงนึ่งขยะให้กลายเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพสูงสำหรับปั่นไฟเครื่องทำน้ำเย็นส่งไปที่ตึกต่างๆ ทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ไม่มีคอมเพรสเซอร์ และลมร้อนที่เป่าออกไป ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานที่ค้นคว้าโดย RISC

 

Upcycling

 

ย้อนกลับมาถึงคำถามที่เกริ่นไปข้างต้น รศ.ดร.สิงห์ ให้คำตอบกับเราว่า 

 

“จริงๆ แล้วผมไม่ได้สนใจขยะใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศในปี 2003 ได้มาสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้นวัตกรรม ตั้งแต่การประหยัดพลังงาน การออกแบบแสงธรรมชาติ ลมธรรมชาติตามแบบสถาปนิกทั่วไป

 

“แต่ต่อให้ออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงาน ดีต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหนก็ตาม ตอนก่อสร้างเห็นขยะตำตาทุกวัน เลยฉุกคิดว่า นี่เรากำลังออกแบบ Green Building อยู่ แต่ทำไมถึงสร้างขยะได้มากเท่านี้ ซึ่งไม่มีไซต์งานไหนที่ไม่มีขยะ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่า ทำไมต้องขยะ เพราะเรากำลังออกแบบ Green Building อยู่ แล้วตกลง Green Building ทำลายโลกอยู่ใช่ไหม ถ้าทำลายโลกอยู่แสดงว่าตึกไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเลย ต่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหนก็ตาม แต่กระบวนการสร้างขึ้นมากลับก่อให้เกิดขยะเต็มไปหมด

 

“เป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บขยะจากไซต์ก่อสร้าง และจากซัพพลายเออร์ด้วย ใครที่มาเป็นซัพพลายเออร์ของโครงการจะถูกไปเยี่ยมที่โรงงาน ปกติแล้วสถาปนิกจะเจอซัพพลายเออร์ที่ออฟฟิศ เปิดแคตตาล็อกแล้วเลือกจากในนั้น แต่ ณ ตอนนั้นความตั้งใจคือเก็บขยะจากไซต์ก่อสร้างและทั้งลูป เพราะอย่างน้อยจะได้สอนนักศึกษาได้ว่า การทำ Green Building ควรดูทั้งกระบวนการ เป็นการเรียนการสอนล้วนๆ ก่อนที่จะเข้ามาทำงานใน RISC

 

“ณ ปัจจุบันวัสดุ Upcycle ที่นำมาใช้กับอาคารยังมีอยู่น้อยมาก ตอนนี้ได้สัก 10% ก็ถือว่ายากแล้ว เช่น แค่กระเบื้องก็มหาศาลแล้ว เพราะเรากำลังพูดถึงตึกอยู่ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ คนไม่ทำมากกว่า คนไม่ยอมใช้กับไม่ยอมทำมาคู่กันเลย ทำเสร็จคนไม่ใช้ กับ คนอยากใช้ แต่ไม่มีสิ่งของ และ MQDC อยู่ในกลุ่มที่อยากใช้แต่ไม่มีของ เราเลยตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนขึ้นมา เพื่อพัฒนาสิ่งของเพื่อจะได้นำไปใช้”

 

Upcycling

 

หลายคนอาจสงสัยระหว่างคำว่า Recycle และ Upcycle ต่างกันอย่างไร จริงๆ แล้ว Upcycle เป็นซับเซตของ Recycle เพียงแต่กระบวนการ Upcycle คือการทำให้วัสดุที่นำมา Recycle มีคุณภาพและใช้งานได้ยาวนานกว่าของเดิม

 

รศ.ดร.สิงห์ ทิ้งทายว่า อยากให้งาน ‘UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019’ เป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจสำหรับทุกคน เพราะเรารู้ดีว่าขยะพลาสติกทะเลเยอะมาก MQDC ใช้เจ้าเดียวเยอะไหม ใช้เยอะ แต่ขยะจะหมดทะเลไหม คงไม่หมดในทันที่ ที่มาของงานในวันนี้เพื่อหาแนวร่วมมาช่วยกันใช้ หากใช้กันเยอะๆ โอกาสที่มหาสมุทรจะปราศจากขยะอาจจะมี แต่ MQDC รายเดียวจะไม่ไปถึงจุดนั้น น้ำทะเลจะไม่ขาวสะอาด ไมโครพลาสติกจะไม่หายไป ถ้าไม่ช่วยกัน 

 

“เราต้องการให้คนเห็นความสำคัญ และช่วยกันใช้ แค่คนทั่วไปเห็นความสำคัญ เราก็ดีใจแล้ว แต่ถ้าสามารถสร้างแรงกระเพื่อมถึงขนาดที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ 10 แห่ง มานั่งรวมบนเวทีแล้วบอกว่า ทุกรายจะใช้การ Upcycle มาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุด และเป็นเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X