ธนาคารยูโอบี ประกาศในวันนี้ (1 พฤศจิกายน) ว่าได้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อย ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซียและไทยอย่างเสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ขณะที่การเข้าซื้อกิจการในอินโดนีเซียและเวียดนามคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
วี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธนาคารในการขยายธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยในภูมิภาคอาเซียน นอกจากธุรกิจหลักของธนาคารในประเทศสิงคโปร์ โดยหลังเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าซื้อกิจการแล้ว คาดว่าขนาดธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยในทั้ง 4 ประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า มีการให้บริการลูกค้าจำนวน 5.3 ล้านคน และเสริมทีมงานให้แกร่งขึ้นด้วยพนักงานอีก 5,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
“ยูโอบีจะให้ความสำคัญกับการโอนย้ายธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปให้เป็นไปอย่างราบรื่นในทั้ง 4 ประเทศ โดยหวังว่าการโอนย้ายลูกค้าทั้งระบบจะแล้วเสร็จในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า” วีกล่าว
ตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาฐานลูกค้ารายย่อยของยูโอบีในประเทศไทยจะเป็นกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก ขณะที่ฐานลูกค้ารายย่อยในประเทศไทยของซิตี้กรุ๊ป ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน การรวมธุรกิจครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสใหม่ ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรและสาขา ตลอดจนช่องทางการให้บริการที่ขยายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
“การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะทำให้สัดส่วนสินเชื่อไม่มีหลักประกันในพอร์ตของยูโอบีประเทศไทยขยับเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 21% ขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจรายย่อยก็จะเพิ่มขึ้นจาก 54% เป็น 70%” ตันระบุ
ยุทธชัย เตยะราชกุล Head of Personal Financial Services ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ได้ส่งผลให้ธุรกิจรายย่อยของยูโอบีเติบโตขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศ ขณะที่ธุรกิจบัตรเครดิตขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ขณะเดียวกัน ธนาคารยังคาดหวังว่าจะมีฐานลูกค้าในประเทศไทยเติบโตขึ้นอีก 1 เท่าตัว จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านกว่ารายภายใน 3-5 ปี
“ในภาพใหญ่ยูโอบีกรุ๊ปก็มีเป้าหมายจะเพิ่มฐานลูกค้ารายย่อยในภูมิภาคอาเซียนขึ้นเป็น 10 ล้านราย ภายใน 3-5 ปีเช่นกัน ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่า 50% จะมาจากไทย เพราะเรามีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์เท่านั้น” ยุทธชัยกล่าว
ยุทธชัยกล่าวว่า กระบวนการโอนย้ายธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยจากซิตี้แบงก์มาสู่ยูโอบีจะใช้เวลาราว 1 ปี โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ลูกค้าของซิตี้แบงก์จะยังสามารถใช้บริการผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ซิตี้แบงก์ตามเดิมโดยไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด แต่เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้วบริการทุกอย่างจะถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้แบรนด์ยูโอบีทั้งหมด
ยุทธชัยระบุอีกว่า การรวมกิจการรายย่อยในครั้งนี้จะไม่ส่งผลให้หนี้เสีย หรือ NPL ของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมายูโอบีมีหนี้เสียต่ำกว่าอุตสาหกรรมอยู่แล้วราว 20% จากการที่ฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Upper Mass ที่มีรายได้ 25,000-30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ซิตี้แบงก์เองก็มีฐานลูกค้าที่มีคุณภาพและมีการควบคุมความเสี่ยงที่ดี ในทางกลับกันการมารวมกันจึงยิ่งจะทำให้หนี้เสียลดลง
วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล Head of Retail and Brand ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากการโอนย้ายธุรกิจลูกค้ารายย่อยแล้ว ยูโอบียังมีการรับโอนพนักงานจากซิตี้แบงก์จำนวน 1,800 คนมาพร้อมกันด้วย โดยการผสานทีมกันในครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารมีศักยภาพและความสามารถในการดำเนินการให้สำเร็จตามแผนการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซิตี้กรุ๊ปได้ประกาศขายธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคลทั้งหมด 14 แห่งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง และเม็กซิโก ซึ่งปัจจุบันซิตี้ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อขายธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคลไปแล้วทั้งหมด 9 ประเทศ โดยดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อย 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย ในขณะที่ซิตี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการทยอยออกจากกิจการธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคลในเกาหลีใต้และรัสเซีย