×

เปิดแผลเศรษฐกิจจีน: วันที่จีนถอดหน้ากาก… งานยาก (กว่า) รออยู่

04.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • แม้วันนี้จีนถอดหน้ากาก สามารถจัดการกับ ‘วิกฤตทางสาธารณสุข’ ได้แล้ว แต่งานที่ยากและท้าทายยิ่งกว่าคือการจัดการกับ ‘วิกฤตทางเศรษฐกิจ’ ที่หนักหน่วงยิ่งนัก
  • โจทย์ยากของผู้นำจีนที่ต้องรักษาบาดแผลเศรษฐกิจให้หายขาดแบ่งเป็น แผลสดจากพิษโควิด-19 ที่เป็นผลกระทบจากมาตรการของรัฐในช่วงทำสงครามกับไวรัสร้ายนี้, แผลเรื้อรังจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มประกาศเก็บภาษีจากจีนเมื่อกลางปี 2018 และแผลลึกจากโมเดลเศรษฐกิจแบบเก่าของจีนเอง
  • สถานการณ์และบริบทแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จุดแข็งในหลายด้านที่จีนเคยมีได้กลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว จีนวันนี้ไม่มีความได้เปรียบด้านค่าแรงในตลาดแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ขณะเดียวกันจีนเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลง ส่งผลให้ภาคการส่งออกของจีนไม่แข็งแกร่งดังเดิม

ในขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลจีนสามารถจัดการกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศจีนได้แล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังพอมีบ้างก็ล้วนเป็นผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และในการประชุมสองสภาจีนในระหว่างวันที่ 21-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา บรรดาผู้นำระดับสูงของจีนก็ไม่ใส่หน้ากากอนามัยในระหว่างการประชุม จึงเป็นเสมือนการประกาศชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์ว่าจีนสามารถขจัดปัญหาการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสร้ายนี้ได้แล้ว  

 

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้แม้จะเป็นวันที่จีนถอดหน้ากาก สามารถจัดการกับ ‘วิกฤตทางสาธารณสุข’ ได้แล้ว แต่งานที่ยากและท้าทายยิ่งกว่าคือการจัดการกับ ‘วิกฤตทางเศรษฐกิจ’ ที่หนักหน่วงยิ่งนัก 

 

บทความนี้จึงตั้งใจจะตีแผ่เปิดแผลเศรษฐกิจของจีนเพื่อวิเคราะห์ว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่ยังคงเป็นโจทย์ยากของผู้นำจีนที่ต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อแก้ไขให้หมดสิ้นไป โดยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. แผลสดจากพิษโควิด-19 ที่เป็นผลกระทบจากมาตรการของรัฐในช่วงทำสงครามกับไวรัสร้ายนี้ 2. แผลเรื้อรังจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มประกาศเก็บภาษีจากจีนเมื่อกลางปี 2018 และ 3. แผลลึกจากโมเดลเศรษฐกิจแบบเก่าของจีนเอง

 

ปัญหากลุ่มแรก แผลสดจากพิษโควิด-19 ที่เริ่มจากการระบาดของไวรัสร้ายมาตั้งแต่ต้นปี 2020 จนทำให้ทางการจีนต้องประกาศปิดเมืองและปิดประเทศ รวมทั้งสั่งการให้ชาวจีนเก็บตัวอยู่บ้าน ส่งผลให้ธุรกิจภาคการผลิตต่างๆ ต้องหยุดชะงักเป็นเวลานับเดือน กระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของหลายอุตสาหกรรมจนทำให้เศรษฐกิจจีนหดตัวดิ่งเหว ดังจะเห็นได้จากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบถึง 6.8% นับเป็นตัวเลขติดลบที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการประกาศตัวเลข GDP จีนในปี 1992 

 

นอกจากนี้การประกาศล็อกดาวน์ของทางการจีนเพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้กิจการโรงงานหยุดสายการผลิตและร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ต้องปิดทำการ ส่งผลให้แรงงานจีนจำนวนมากต้องตกงาน ล่าสุดมีตัวเลขผู้ตกงานในจีนกว่า 27 ล้านคน 

 

ในด้านต่างประเทศ ภายใต้ข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) จีนได้เน้นสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ผ่านการทุ่มงบปล่อยกู้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศเหล่านั้น แต่จากปัญหาโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจของหลายประเทศที่กู้เงินจากจีนภายใต้ BRI ทำให้ไม่สามารถใช้หนี้คืนจีนได้ โดยเฉพาะประเทศที่ยังคงยากจนและมีรายได้น้อยก็อาจจะขอเจรจาให้รัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการใช้หนี้ เช่น ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย หรือยกเว้นการจ่ายหนี้คืนในระยะสั้น ไปจนถึงการยืดระยะเวลาชำระหนี้ เป็นต้น

 

หากรัฐบาลจีนยอมผ่อนปรนการใช้หนี้หรือยกหนี้บางส่วนให้กับบางประเทศภายใต้ BRI ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์กับจีนก็อาจจะกระทบสถานะทางการเงินของธนาคารจีนที่ปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่ให้ประเทศเหล่านั้น เช่น China Development Bank หรือ China Exim Bank ที่จะต้องหามาตรการต่างๆ มารับมือกับหนี้เสียมูลค่ามหาศาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคการธนาคารอื่นๆ ของจีนที่เกี่ยวข้อง

 

 

ปัญหากลุ่มที่สอง แผลเรื้อรังจากสงครามการค้า นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มประกาศเก็บภาษีจากจีนเมื่อกลางปี 2018 ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจนี้ก็ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ ส่งผลกระทบด้านลบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกของจีนและการจ้างงานที่ลดลง รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนยังคงพึ่งพารายได้จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จากตัวเลขปี 2019 สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของจีน (รองจากตลาดสหภาพยุโรป) ด้วยสัดส่วน 16.7% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน ดังนั้นสงครามการค้าที่ยืดเยื้อย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและการจ้างงานในประเทศจีน

 

นอกจากนี้ความขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่ได้เป็นเพียงแค่สงครามการค้า แต่ได้ขยายผลออกเป็นสงครามในรูปแบบอื่นๆ เช่น สงครามเทคโนโลยี สงครามค่าเงิน และสงครามไวรัส ซึ่งความขัดแย้งที่ฝังรากลึกนี้ได้สร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศจนทำให้โลกถูกแบ่งเป็นสองแกน (Decoupling) และกลายเป็นโลกแห่งความอึมครึมไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อไปอีกนาน

 

ปัญหากลุ่มที่สามและสำคัญที่สุดคือแผลลึกจากโมเดลเศรษฐกิจแบบเก่า ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายผู้นำจีนในทุกยุคสมัยมาจนถึงขณะนี้ เพราะแม้ว่าจีนจะสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดจากโมเดลการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ใช้มาตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิง โดยเน้นใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของแรงงานจีนราคาถูกจำนวนมาก และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการผลิตและส่งออก แต่เป็นการเติบโตในเชิงปริมาณและสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา 

 

โดยเฉพาะในขณะนี้สถานการณ์และบริบทแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จุดแข็งในหลายด้านที่จีนเคยมีได้กลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว จีนวันนี้ไม่มีความได้เปรียบด้านค่าแรงในตลาดแรงงานราคาถูกอีกต่อไป เนื่องจากค่าแรงและต้นทุนการผลิตในจีนปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก ที่สำคัญจีนเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลง ส่งผลให้ภาคการส่งออกของจีนก็ไม่แข็งแกร่งดังเดิม ดังนั้นหากยังคงใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบเก่าก็จะยิ่งสร้างปัญหาต่างๆ ตามมา 

 

สำหรับตัวอย่างปัญหาฝังลึกจากโมเดลเศรษฐกิจแบบเก่าของจีน เช่น 

 

ปัญหาช่องว่างทางรายได้ (Income Gap) จากการที่จีนมุ่งเน้นทุ่มเทการปฏิรูปเศรษฐกิจในพื้นที่มณฑลชายฝั่งของจีนเป็นอันดับแรกก่อน จึงสร้างปัญหาช่องว่างทางรายได้ระหว่างมณฑลชายฝั่งกับมณฑลจีนตอนใน รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนจีนในเขตเมืองกับเกษตรกรจีนในชนบท แม้ว่าในระยะต่อมาทางการจีนได้พยายามกระจายความเจริญไปยังจีนตอนในทางตะวันตกภายใต้นโยบาย Go West แต่ปัญหานี้ก็ยังฝังลึกและในขณะนี้ จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ติดอันดับต้นๆ ของโลก

 

ปัญหารัฐวิสาหกิจจีนที่ยังคงค้างคาและมีจำนวนมาก สร้างภาระค่าใช้จ่ายสูงและขาดทุน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคการผลิตแบบดั้งเดิม หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ปัญหารัฐวิสาหกิจจีนที่มีอยู่จำนวนมาก และยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุน กลายเป็นบริษัทผีดิบ หรือ ซอมบี้ (Zombie companies) ที่ทางการจีนต้องอุ้มผ่านการอุดหนุนเพื่อไม่ให้ล้มละลาย

 

ปัญหาการผลิตเกินตัวในหลายอุตสาหกรรมของจีน เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า หรือการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ จนมีอุปทานผลผลิตล้นเกิน  

 

ปัญหาหนี้ ทั้งที่เป็นหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจากพฤติกรรมของคนจีนยุคใหม่

 

ปัญหาภาคการเงิน เช่น ปัญหาธนาคารเงา (Shadow Banking) ที่เป็นการปล่อยสินเชื่อนอกระบบมูลค่ามหาศาล    

 

 

ปัญหา Capital Flight การผ่องถ่ายโอนเงินออกนอกประเทศจีน จากการที่จีนยังคงมีการควบคุมบัญชีทุน (Capital Account Control) หากต้องการเคลื่อนย้ายเงินทุนเกินกว่าที่กำหนดต้องรายงานต่อหน่วยงาน State Administration of Foreign Exchange หรือ SAFE ทำให้นักธุรกิจจีนจำนวนไม่น้อยใช้วิธีลักลอบโอนเงินออกนอกประเทศในรูปแบบต่างๆ 

 

ปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหามณฑลนิยม ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

 

จีนจะแก้ปัญหา/รักษาเยียวยาแผลทางเศรษฐกิจอย่างไร 

ประการแรก ในการแก้ปัญหาในระยะสั้น รัฐบาลจีนได้ทุ่มเทงบประมาณและนำมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมุ่งเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เช่น จีนวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินหยวนวงเงิน 1 ล้านล้านหยวน เพื่อระดมทุนสำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China – PBOC) เน้นช่วยเหลือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ด้วยการอัดฉีดปล่อยสินเชื่อสู่ภาคเศรษฐกิจผ่านทางธนาคารท้องถิ่น วงเงินสูงถึง 4 แสนล้านหยวน ด้วยการรับซื้อสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเป็นจำนวน 40% ให้กับกิจการ SMEs จีนเป็นระยะเวลา 6 เดือนจนถึงปลายปี 2020 โดยผู้กู้จะต้องชำระเงินกู้ให้กับทาง PBOC ในระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น

 

นอกจากนี้ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress – NPC) ประจำปี 2020 นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีนได้ประกาศที่จะสร้างเสถียรภาพใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. การจ้างงาน 2. การเงิน 3. การลงทุนจากต่างประเทศ 4. การค้าระหว่างประเทศ 5. การลงทุนภายในประเทศ และ 6. การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการประกันความมั่นคง 6 ด้าน ได้แก่ 1. หลักประกันการมีงานทำ 2. ความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชน 3. หลักประกันกลไกตลาดทำงานอย่างมีเอกเทศ 4. ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน 5. ความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน และ 6. สภาพสังคมที่ดำเนินไปอย่างราบรื่น 

 

จะสังเกตได้ว่าทั้ง 6 เสถียรภาพและ 6 หลักประกัน วนกล่าวถึงประเด็น ‘การจ้างงาน’ จึงสะท้อนว่าในปีนี้จีนให้ความสำคัญกับการจ้างงานมากกว่าการตั้งเป้าตัวเลข GDP และตั้งเป้าที่จะสร้างงานใหม่ในเขตเมืองมากกว่า 9 ล้านตำแหน่ง

 

สำหรับเหตุผลเบื้องลึกที่จีนให้ความสำคัญกับการจ้างงานและไม่ให้คนจีนต้องตกงาน เพราะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางสังคมตามมา หากคนจีนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ ก็อาจจะไม่พอใจรัฐบาลจนเกิดการเรียกร้องหรือออกมาประท้วง ทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะในปีหน้า 2021 จะครบวาระ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจีนเตรียมฉลองใหญ่ตาม ‘ความฝันของจีน’ จึงต้องพยายามทุกรูปแบบที่จะป้องกันปัญหาทางสังคมที่อาจจะกระทบการเมืองและสั่นคลอนการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (รวมไปถึงการออกกฎหมายความมั่นคงในเรื่องฮ่องกงและการเริ่มใช้ความเด็ดขาดในการปราบผู้ประท้วงฮ่องกง ก็เพื่อให้จบก่อนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ที่จีนตั้งใจจะฉลองใหญ่วาระครบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย) 

 

 

อย่างไรก็ดี ในการเยียวยารักษาแผลจากพิษเศรษฐกิจต่างๆ ในครั้งนี้ย่อมจะไม่ง่ายเหมือนเดิม และจีนเริ่มหมดมุกจากการทุ่มงบรัฐลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แม้เคยใช้ได้ผลในอดีต เช่น ในช่วงการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 จีนทุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของรัฐในการก่อสร้างโครงการต่างๆ เช่น ขยายการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ถนน สะพาน สนามบิน ท่าเรือ และอื่นๆ จนในตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานของจีนขยายเพิ่มไปมากจนครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว และเริ่มเกิดปัญหาหนี้สะสมของรัฐบาลมณฑล รวมทั้งปัญหาความคุ้มค่าของหลายโครงการที่ทุ่มลงทุนไป เช่น การสร้างสะพานข้ามทะเลฮ่องกง-มาเก๊า-จูไห่ ที่ลงทุนไปมาก แต่มีการใช้งานน้อย และมีต้นทุนค่าดูแลรักษาที่สูงมาก

 

ประการที่สอง ในการแก้ปัญหาในระยะยาว จีนจำเป็นต้องเร่งปรับโมเดลเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ เน้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การมุ่งขจัดความยากจนและยกระดับรายได้ของคนจีนจะเป็นการช่วยปลดปล่อยพลังการบริโภคของชนชั้นกลางจีนในยุคใหม่ 

 

และจำเป็นต้องเดินหน้าผลักดันสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เน้นใช้ประโยชน์จากฐาน Data มวลข้อมูลปริมาณมหาศาลจากการที่จีนมีพลเมืองเน็ตกว่า 900 ล้านคน และมีการใช้จ่ายผ่าน Mobile Payment กว่า 600 ล้านบัญชี จึงทำให้จีนมีแต้มต่อในการนำมวลข้อมูลดิจิทัลมหาศาลเหล่านี้มาพัฒนาเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ เช่น AI รวมไปถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบ 5G และระบบนำทาง BeiDou Navigation Satellite System หรือระบบ BDS ของจีนที่เป็นคู่แข่งกับระบบนำทาง GPS ทั้งหมดนี้เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจจีนสู่ Platform Economy อย่างเต็มตัว และเป็นการปรับภาคการผลิตมาเน้นภาคบริการให้มากขึ้น มุ่งใช้ประโยชน์จากแรงงานจีนที่มีทักษะยุคใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแรงงานทักษะด้านนี้ของจีนมีมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 8 เท่า

 

โดยสรุป แม้ว่าในวันนี้จีนได้เอาชนะวิกฤตสาธารณสุขและได้ถอดหน้ากากอนามัยออกแล้ว แต่ยังคงมีโจทย์ยากยิ่งกว่าในทางเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างท้าทาย ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเคยสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงของจีนเฝ้าระวังปัญหา ‘หงส์ดำ’ คือภัยมืดที่ไม่คาดคิดและป้องกันไม่ได้ (เช่น วิกฤตโควิด-19) และปัญหา ‘แรดเทา’ คือภัยคุกคามที่ใหญ่หลวง แม้ว่าจะป้องกันได้ แต่ไม่ง่าย (เช่น สงครามการค้า) ดังนั้นจากนี้ไปจีนต้องเจอกับปัญหาที่ซับซ้อนและอ่อนไหว ก็ต้องตามลุ้นอย่างระทึกว่าจีนจะจัดการฝ่าฟันสารพัดปัญหาที่แสนหนักหน่วงเหล่านี้ได้สำเร็จหรือไม่

 

หมายเหตุ: สำหรับมาตรการและเป้าหมายทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่นายกรัฐมนตรีจีนประกาศต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress – NPC) ประจำปี 2020 เช่น 

 

  • จีนจะอัดฉีดเพื่อเยียวยาระบบเศรษฐกิจ โดยใช้งบประมาณขาดดุลราว 3.6%
  • กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อหรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ 3.5%
  • สนับสนุนการผลิตด้านเกษตรกรรม โดยจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมาตรฐานสูงอีก 5.33 ล้านเฮกตาร์ เพื่อให้มั่นใจว่าจีนจะสามารถจัดหาอาหารที่เพียงพอให้กับประชาชน 1.4 พันล้านคนได้โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ
  • เพิ่มบทบาทของเงินทุนต่างประเทศ รวมไปถึงการปรับลดรายการธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน (Negative List) ลงด้วย
  • เพิ่มการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่อง (Free Trade Zone) และเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนแบบบูรณาการ (Integrated Bonded Area) แห่งใหม่ในพื้นที่ทางตอนกลางและทางตะวันตกของประเทศ 
  • เดินหน้าผลักดันแนวคิดริเริ่ม Internet Plus อย่างเต็มรูปแบบ และสร้างจุดแข็งสำหรับการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัล
  • เดินหน้าส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของภาคเอกชน และสร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจเอกชนจะสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการสนับสนุนด้านนโยบายได้อย่างเท่าเทียม
  • ยกระดับการพัฒนาระบบสาธารณสุข มุ่งเน้นปรับปรุงระบบการรายงานโดยตรง และการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ รวมถึงเพิ่มการใช้จ่ายในการพัฒนาวัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีการทดสอบที่รวดเร็ว ตลอดจนเพิ่มห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ และการจัดหาวัสดุฉุกเฉิน ฯลฯ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising