×

UNSC ประชุมด่วนกรณีรัฐประหารในเมียนมา ยังไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เนื่องจากจีน-รัสเซียขอเวลาพิจารณา

03.02.2021
  • LOADING...
UNSC ประชุมด่วนกรณีรัฐประหารในเมียนมา ยังไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เนื่องจากจีน-รัสเซียขอเวลาพิจารณา

วานนี้ (2 กุมภาพันธ์) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) เรียกประชุมวาระเร่งด่วน กรณีการก่อรัฐประหารในเมียนมาโดยกองทัพ เพื่อประกันว่ากระบวนการขับเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในเมียนมาจะกลับคืนมาโดยเร็ว พร้อมเพิ่มแรงกดดันให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน และปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี รวมถึงสมาชิกระดับสูงของรัฐบาล 

 

ทางด้าน คริสตีน ชราเนอร์ เบอร์เจเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติ ที่เฝ้าสังเกตการณ์กรณีเมียนมา เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมประณามการกระทำดังกล่าวของกองทัพเมียนมา และเรียกร้องให้คณะมนตรีส่งสัญญาณสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา เพื่อประกันว่าเมียนมาจะไม่ย้อนกลับไปสู่การโดดเดี่ยวตัวเองอีกครั้งในประชาคมโลก

 

โดยการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมาถือเป็นประเด็นสำคัญที่คณะมนตรีจะมีมติและออกแถลงการณ์ร่วมกัน แต่แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากสมาชิกคณะมนตรีทั้ง 15 ประเทศ โดยทูตจีนและรัสเซียขอให้ยืดระยะเวลาดังกล่าวออกไป เนื่องจากจะต้องส่งเรื่องกลับไปยังรัฐบาลที่ประเทศต้นทางของตนเสียก่อน โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเมียนมาอยู่ในขณะนี้

 

ทางด้าน หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า “จีนเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของเมียนมา เราหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะสามารถจัดการกับความขัดแย้งอย่างเหมาะสมภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมาย และปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม

 

ไม่ว่าประชาคมระหว่างประเทศจะแสดงท่าทีอะไรก็ตาม จะต้องเป็นไปเพื่อความมั่นคงทางการเมืองและสังคมของเมียนมา สนับสนุนสันติภาพและการปรองดองสมานฉันท์ และเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น” 

 

ภาพ: Atilgan Ozdil / Anadolu Agency / Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

FYI

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกถาวร 5 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน ซึ่งมีอำนาจวีโต้ และสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศคือ ไนเจอร์, ตูนีเซีย, เคนยา, เวียดนาม, อินเดีย, เอสโตเนีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, เม็กซิโก, ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ที่มาจากการเลือกตั้ง วาระละ 2 ปี และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้ในทันทีเมื่อหมดวาระ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X