×

ทูตไทยยื่นจดหมายถึงเลขาธิการ UN คณะมนตรีความมั่นคงฯ นัดถกปมไทย-กัมพูชาวันนี้

25.07.2025
  • LOADING...
ภาพทูตไทยยื่นจดหมายถึงสหประชาชาติ ปมความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา

สถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาถูกยกระดับสู่เวทีความมั่นคงสูงสุดของโลก เมื่อทั้งสองประเทศได้ยื่นจดหมายประท้วงถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) กล่าวหากันและกันว่าเป็นฝ่ายเริ่มต้นการรุกรานทางทหาร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยล่าสุด UNSC ได้กำหนดจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์นี้แล้วในวันนี้ (25 กรกฎาคม)

 

ไทยเดินเกมทูตเต็มขั้น ชี้ ‘กัมพูชา’ รุกราน

 

เชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการถึงประธาน UNSC, อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และบรรดาผู้แทนถาวรของชาติสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด

 

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า กัมพูชากระทำการ ‘รุกรานทางทหาร’ ต่ออธิปไตยของไทย โดยเริ่มจากการลอบวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในดินแดนไทย และเปิดฉากโจมตีดินแดนไทยใน 4 จังหวัดอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ส่งผลให้มีทหารและพลเรือนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ไทยจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิในการป้องกันตนเอง (Right of Self-Defence) ตามกฎบัตรสหประชาชาติ และเรียกร้องให้ประชาคมโลกกดดันให้กัมพูชายุติการกระทำอันก้าวร้าวและกลับสู่การเจรจาโดยทันที

 

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ฝ่ายกัมพูชาก็ยื่นหนังสือโต้แย้ง โดยกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายเริ่มการโจมตีก่อน

 

จับตาประชุมฉุกเฉิน UNSC วันนี้

 

คณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งมี อาซิม อิฟติคาร์ อาหมัด เอกอัครราชทูตปากีสถาน เป็นประธานหมุนเวียนในเดือนนี้ ได้กำหนดจัดประชุมฉุกเฉิน (Emergency Session) ตามคำร้องของทั้งสองประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • วันที่ 25 กรกฎาคม เวลา 15.00 น. ตามเวลามหานครนิวยอร์ก (ตรงกับเวลา 02.00 น. ของวันที่ 26 กรกฎาคม ตามเวลาประเทศไทย)

 

  • ผู้เข้าร่วมชี้แจง:
    • ฝ่ายไทย: เชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยฯ
    • ฝ่ายกัมพูชา: เจีย แก้ว (Chhea Keo) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรกัมพูชาฯ

 

  • องค์ประชุม 15 ชาติสมาชิก: ที่ประชุมจะรับฟังข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย ประกอบด้วย
    • สมาชิกถาวร (P5): จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
    • สมาชิกไม่ถาวร (วาระ 2024-2025): แอลจีเรีย กายอานา เกาหลีใต้ เซียร์ราลีโอน และสโลวีเนีย
    • สมาชิกไม่ถาวร (วาระ 2025-2026): เดนมาร์ก กรีซ ปากีสถาน ปานามา และโซมาเลีย

 

คาดว่าการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่ายจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตาท่าทีและแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจาก UNSC ซึ่งจะมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อทิศทางของสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising