×

จากเด็กเอ็นทรานซ์ โอเน็ต สู่ #dek61 เมื่อความเท่าเทียมและเสถียรภาพของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีอยู่จริง

07.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 MINS READ
  • แฮชแท็กอันลือลั่น #dek61 จากทวิตเตอร์ คือการพูดถึงปัญหาที่เกิดจากระบบการเข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2561 รูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า TCAS หรือ Thai University Center Admission System ซึ่งเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษานี้เป็นครั้งแรก
  • พี่ลาเต้ เว็บเด็กดี หรือพี่โดม จากเว็บ Eduzone คือผู้ใหญ่ผู้มีคุณูปการแก่การศึกษาไทย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นครูชื่อดังหรือเจ้าของสถาบันสอนพิเศษขวัญใจนักเรียน และเราเองก็เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีอิทธิพลที่ส่งผลถึงรุ่นต่อรุ่นตั้งแต่ในยุค #dek54 ของผู้เขียนจนถึงปัจจุบัน
  • ‘ความไม่แน่นอน’ คือสิ่งที่ #dek62 หรือเด็กที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้ารู้สึกกังวลที่สุดจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในปีนี้

หากคุณได้ติดตามข่าวสารหรือเป็นนักเลื่อนนิ้วตัวยงในทวิตเตอร์ คุณคงคุ้นเคยกับแฮชแท็กอันลือลั่น #dek61 อันเป็นแฮชแท็กที่พูดถึงประเด็นการเข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2561 หรือเด็กกลุ่มล่าสุดที่กำลังจะก้าวพ้นวงจรกระโปรงบานขาสั้นไปสู่วัยมหาวิทยาลัยด้วยระบบรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า TCAS หรือ Thai University Center Admission System ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษานี้เป็นครั้งแรก เป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งสารภาพตามตรงว่าเราเองในฐานะผู้ที่เคยผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาก่อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราถึงกับ ‘ตามไม่ทัน’ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือนี่คือ ‘ความก้าวหน้า’ ด่านแรกของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาประเทศให้สอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล?

 

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้คือสิ่งซับซ้อนที่สุดที่คนในรุ่นก่อนๆ อาจไม่เข้าใจ ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แต่รวมไปถึงผู้จัดสอบเองก็ดีที่อาจจะยังไม่เข้าใจธรรมชาติและวิถีชีวิตของนักเรียนไทยมากพอ ทั้งการให้สิทธิ์เด็กนักเรียนสายวิทย์-คณิตที่อยากเรียนแพทย์ได้เลือกคณะมากกว่าเด็กสายศิลป์ การปรับระบบการรับตรงของทุกๆ มหาวิทยาลัยให้มารวมกันไว้ที่เดียว หรือการเปิดเลือกอันดับคณะที่อยากเข้าเรียนหลายๆ รอบ นำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลจากเด็กนักเรียนไทย ตัวเด็ก #dek61 เองก็คงพยายามเข้าใจกระบวนการนี้อย่างลึกซึ้ง เพราะมันหมายถึงอนาคตของตัวพวกเขาเอง แต่พวกเราคนอื่นๆ ที่ไม่ต้องไปสอบกับพวกเขาล่ะ เราควรจะต้องทำความเข้าใจสิ่งนี้ไหม อย่างน้อยก็ลองมองดูลูกหลานในชายคาตัวเองสักหน่อยว่าพวกเขากำลังเผชิญอะไรกันอยู่

 

THE STANDARD ถือโอกาสสำรวจสถานการณ์ของ #dek61 และปัญหาที่เด็กรุ่น 61 นี้พบเจอ เอื้อนเอ่ยส่งต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนที่เคยผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาก่อนตั้งแต่ยุคเอ็นทรานซ์จนถึงปัจจุบัน เพื่อรับฟังถึงประสบการณ์ ทัศนคติ ส่งต่อวิธีคิดและกำลังใจให้เด็กปี 61 รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อเผชิญปัญหาโดยลำพัง

 

พูดกันตรงๆ เถอะว่าประเทศไทยยังคงให้คุณค่าของนักเรียนไม่เท่ากัน เด็กสายวิทย์-คณิตมักเป็นเด็กที่เก่งกว่าเสมอในสายตาครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่บางครอบครัวที่ยังคงยัดเยียดความคิดว่า ‘ต้องเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ’ ‘ต้องสอบให้ติด’ และดูเหมือนว่าในปีพุทธศักราช 2561 วิธีคิดดังกล่าวยังคงตามหลอกหลอนสังคมนี้อยู่เสมอ จึงทำให้เกิดความคิดเห็นบางส่วนของ #dek61 ในทวิตเตอร์เริ่มเกิดความกดดัน ความเครียดที่ถูกความคาดหวังจากครอบครัวถาโถมเข้ามาอย่างไม่ตั้งตัว

 

ปัจจุบันการสอบติดหรือสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยรัฐมันไม่ใช่ปัญหาแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังมันเป็นการสร้างอะไรบางอย่างเช่นกัน

 

“เหตุผลเดียวที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกสอบติดมหาวิทยาลัยรัฐคือมันราคาถูก ถูกกว่าเยอะมากในยุคนั้น ถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนหลายเท่า หรือการสอบติดเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งปัจจุบันมันไม่ได้สำคัญอะไรเลยนะ ลองเปรียบเทียบ มันเหมือนกับการยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันการสอบติดหรือสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยรัฐมันไม่ใช่ปัญหาแล้ว ได้รับการยอมรับเยอะขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังมันเป็นการสร้างอะไรบางอย่างเช่นกัน” เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว THE STANDARD เธอเป็นหนึ่งในผู้ผ่านระบบเอ็นทรานซ์ ในขณะที่เรากำลังเล่าเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นปัจจุบันให้เธอฟัง คนรอบข้างในวงสัมภาษณ์เองก็มีปฏิกิริยาที่น่าสนใจ ทั้งการกล่าวคำว่า ‘บ้า’ ‘โหดจัง’ หรือการตั้งคำถามว่า ‘แล้วทั่วโลกเขาใช้ระบบอะไรกันวะ?’

 

ตัวอย่างการประกาศผลสอบเอ็นทรานซ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ในปี 2530
Photo: YouTube – chainant

 

#dekEntrance วัดใจพร้อมกันทั้งประเทศ

แน่นอนว่าการสอบเอ็นทรานซ์ (Entrance Examination) นั้นเป็นวิธีที่ละมุนละม่อมและเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว วัดใจพร้อมกันทั้งประเทศด้วยการสอบรอบเดียวในช่วงปี 2516-2542 (ส่วนช่วงยุคเอ็นทรานซ์ 2 ในปี 2542-2548 จะมีการสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะทั้งหมด 2 รอบ) ติดก็ติด ไม่ติดก็คือไม่ติด และคีย์เวิร์ดที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ อย่างเช่น ‘ฝนรหัสคณะ’ ‘จุดเทียนดูผลสอบที่บอร์ด’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเอกลักษณ์ที่จดจำได้ของผู้ที่ผ่านการสอบมาในยุคนั้น

 

 

“ทำไมมันซับซ้อนจังวะ” คือคำอุทานของ อธิษฐาน กาญจนะพงศ์ #dek47 หนึ่งในโปรดิวเซอร์ทีมพอดแคสต์ของ THE STANDARD เมื่อเราเล่าวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของ #dek61 ให้เขาฟังทั้งเรื่องวิธีการสอบ การคัดเลือกถึง 5 รอบ นำมาซึ่งมูลค่าการสอบที่เป็นเม็ดเงินมากมาย

 

“คือตอนรุ่นเรา อยากจะสอบอะไรก็สอบ เด็กศิลป์จะไปสอบเลขก็ไป ถ้าไหว ในยุคที่เราสอบ โดยธรรมชาติหลายๆ คนจะโดนบล็อกอยู่แล้ว เพราะหลายๆ คณะจะเขียนข้อกำหนดไว้เลยว่าต้องการคะแนนของวิชาไหนบ้าง ซึ่งเด็กแต่ละคนมันสามารถปลดปล่อยความสามารถตัวเองได้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพ มันจะไม่โดนบล็อกด้วยตัวระบบแบบนี้ วัดกันที่ศักยภาพล้วนๆ

 

“ถ้าเป็นคำตอบในเชิงธุรกิจ มันแย่มากเลยนะ มันเหมือนการตัดสินชีวิตโดยใช้เงินเป็นปัจจัยให้คนเข้าถึงสิทธิ์นั้น เหมือนเอาเงินแลกโอกาส จะเก่งจะไม่เก่งก็ควรชี้ชะตาด้วยศักยภาพของเด็กเอง อย่าให้เงินมาเป็นรูปธรรมในการเอาเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ควรสร้างทางเลือกให้เด็กมากกว่านี้ แล้วสังคมมันก็จะเข้าใกล้คำว่าเท่าเทียมอย่างที่ทุกคนอยากให้มันเป็น”

 

คุณรู้หรือไม่ว่าค่าสมัครสอบของระบบ TCAS นี้จะทำให้ผู้ปกครองหรือเด็กๆ สูญเสียเงินกันไปมากเท่าไร พร้อมแล้วคุณลองหยิบเครื่องคิดเลขมาคำนวณพร้อมๆ กัน

  • ค่าสมัครสอบวิชาพื้นฐานอย่าง GAT-PAT ค่าสอบตัวละ 140 บาท (และแน่นอนว่าไม่ได้สอบกันแค่ตัวสองตัว)
  • หากลูกของคุณอยากเรียนหมอ ต้องเสียค่าสอบวิชาความถนัดทางการแพทย์อีก 800 บาท ค่าสมัครสอบ 9 วิชาสามัญอีกตัวละ 100 บาท
  • หากตั้งใจจะยื่นคะแนนในรอบรับตรงร่วม (รอบ 3) ต้องเสียค่ายื่นสมัครอันดับละ 200 บาท และแต่ละอันดับจะต้องเสียค่าดำเนินการและยืนยันสิทธิ์อีก 100 บาท เท่ากับว่าหากเลือกครบทั้ง 4 อันดับจะต้องเสียเงิน 900 บาท
  • และถ้าหากว่าในรอบรับตรงร่วมยังไม่ติดอีก คุณก็ต้องพาลูกหลานของคุณไปยื่นคะแนนเข้าสู่รอบแอดมิชชัน (รอบ 4) ซึ่งเสียค่ายื่นสมัครอันดับละ 150 บาท หากจะยื่นอันดับเพิ่มเติมต้องเสียเพิ่มอันดับละ 50 บาท เพราะฉะนั้นหากเลือกครบ 4 อันดับในรอบนี้จะต้องเสียเงินทั้งหมด 250 บาท

 

ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้เหมือนๆ กัน คุณน่าจะเข้าใจได้ ส่วนอีกหนึ่งคนอย่าง นทธัญ แสงไชย #dek48 โปรดิวเซอร์ทีมพอดแคสต์ของ THE STANDARD เอง ผู้เป็นกลุ่มนักเรียนที่ใช้ระบบการสอบเอ็นทรานซ์รุ่นสุดท้ายในปี 2548 นั้นก็มีความคิดเห็นบางส่วนในฐานะที่เขาเองก็ติดตามแฮชแท็ก #dek61 มาบ้าง “สำหรับเรา เราว่าการเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่ทุกอย่างจริงๆ แต่จริงๆ เราเองก็ผ่านระบบนั้นมา เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นการเลือกสังคม เลือกอะไรบางอย่างต่างหาก แต่การสอบติดมันไม่ได้หมายความว่าเก่ง มันไม่ใช่เครื่องพิสูจน์เดียว และที่ได้ตามอ่านในทวิตเตอร์ เราเองก็อยากฝากถึงผู้ปกครอง พ่อแม่ทุกคนก็คงเครียดและกังวลในสถานการณ์แบบนี้ เพราะทางออกมันดูแย่ และเราทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นทีมเดียวกับลูก”

 

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์
Photo: YouTube – GTHChannel

 

#dek49 ผลผลิตของระบบการศึกษาไทยที่ถูกบั่นทอนจิตใจซ้ำแล้วซ้ำอีก

ถ้าให้เปรียบเทียบความเลวร้ายของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองไทย ปี 2549 คือปีหนึ่งที่ทุกคนจดจำได้ โดยเฉพาะการที่ค่ายหนัง GTH ได้เก็บภาพประวัติศาสตร์การสอบเหล่านั้นผ่านเด็กผู้ชาย 4 คนที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายในการ ‘เปลี่ยนระบบการสอบ’ เป็นครั้งแรก ซึ่งภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์’ ที่เข้าฉายในอีกหนึ่งปีให้หลังคือบันทึกหน้าหนึ่งที่ระบบการศึกษาไทยทำการบั่นทอนจิตใจเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อให้เหลวแหลกประหนึ่งดินสอ 2B ที่ทู่เกินฝน

 

ปี 2549 คือปีที่ปรับเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากเดิมที่เป็นระบบเอ็นทรานซ์ มาเป็นระบบที่ชื่อว่า ‘แอดมิชชัน’ เป็นปีแรก ท่ามกลางความไม่รู้อีโหน่อีเหน่ใดๆ ของนักเรียน โดยยุคนั้นจะแบ่งการสอบเก็บ คะแนนไว้ยื่นเข้าคณะต่างๆ 2 ครั้ง และแน่นอนว่าศัตรูของเด็กไทยในครั้งนี้คือ ‘O-NET’ และ ‘A-NET’ (ซึ่งพัฒนามาเป็น GAT/PAT ในภายหลัง) สอบครั้งเดียว รอบเดียว พร้อมกันทั่วประเทศ

 

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสามัญ (Ordinary National Educational Test: O-NET) คือชื่อจริงของ O-NET อันเป็นการสอบความรู้รวบยอดปลายช่วงชั้น 6 ภาคเรียน โดยผู้จะต้องทำการสอบคือนักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ทำการทดสอบความรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ รวม 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาสอบในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นการสอบประจำปีเพียงครั้งเดียวอย่างถาวร

 

ส่วน A-NET หรือ Advanced National Educational Test คือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในระดับขั้นสูงแบบเฉพาะทางสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น โดยเป็นการเอื้ออำนวยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้คัดผู้เข้าเรียนที่มีความรู้ตรงความถนัดตามสาขาวิชาเรียน

 

 

“เราได้โควตาเรียนดีตั้งแต่ตอนเริ่มเรียน ม.6 เทอม 2 ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเรียนหรือเร่งอ่านหนังสือมาก แต่ตัวเราเองก็ลงสมัครสอบทุกอย่างไว้นะ เหมือนอยากวัดความรู้และอยากเก็บคะแนนไว้ใช้ เผื่อเกิดฉุกละหุกอะไร คือยุคนั้นมันจะมี ‘บัณฑิตแนะแนว’ ที่จะมาทำตารางเปรียบเทียบคะแนนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศว่าต้องมีช่วงคะแนนเท่าไรถึงเท่าไรจึงจะมีสิทธิ์สมัครเข้าคัดเลือก แล้วหลายคณะก็มีแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของสายวิทย์ ของสายศิลป์” บพิตร วิเศษน้อย บรรณาธิการเว็บไซต์ Dooddot คือหนึ่งในเด็กที่สอบในศักราชนั้น และสิ่งที่เขาเล็งเห็นในเรื่องการสอบครั้งนี้คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียนไทย

 

“ต้องเข้าใจก่อนว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดที่เราเรียนมาเขาแบ่งสายวิทย์กับศิลป์ไปถึงความฉลาดกับนิสัยเลยนะ สายวิทย์คือเด็กเรียน ประพฤติดี สายศิลป์คือเด็กโง่ นิสัยแย่ เราจะเห็นความแตกต่างทางความเครียดของเด็กกรุงเทพฯ และเด็กต่างจังหวัด อย่างเด็กในเมืองก็ต้องต่อสู้กับเรื่องพ่อแม่ว่าจะได้เรียนแบบที่ชอบไหม เพราะโอกาสมันมีมากกว่า ในขณะที่เด็กในโรงเรียนต่างจังหวัดอย่างเราส่วนใหญ่คือมองการสอบแอดมิชชันเป็นเรื่องปกติเหมือนสอบทั่วไปเลย เพราะพวกเขามั่นใจเลยว่าไม่มีทางไปแข่งขันได้หรอก อย่างมากสุดก็ได้มหาวิทยาลัยตามหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น”

 

ตอนนั้น สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดนด่าเยอะมาก เพราะเขาเปิดรับสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ประเทศเรายังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกบ้านขนาดทุกวันนี้ ทุกอย่างเลยเกิดขึ้นที่โรงเรียน สมัครสอบในร้านอินเทอร์เน็ตก็มี

 

“จริงๆ ปีที่เราสอบมันเริ่มมีปัญหาตั้งแต่การประกาศระบบแล้ว อย่างการจัดสอบ O-NET ในช่วงกลางเทอมแรกของ ม.6 ตอนนั้นหลายโรงเรียนถึงขั้นต้องเร่งสอนให้ทันเพื่อให้คลุมเนื้อหาที่ O-NET อาจจะออก อีกเรื่องคือตอนนั้น สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดนด่าเยอะมาก เพราะเขาเปิดรับสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ประเทศเรายังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกบ้านขนาดทุกวันนี้ ทุกอย่างเลยเกิดขึ้นที่โรงเรียน สมัครสอบในร้านอินเทอร์เน็ตก็มี พอหลายคนมาคาดหวังกับแอดมิชชันก็เกิดปัญหาตามมาเป็นพรวนเลย ทั้งเรื่องการประกาศผล มีเคสการประกาศ T-Score เอาจริงๆ ก็ร้องไห้กันทั้งประเทศ ถึงขั้นที่ สทศ. ต้องออกมาประกาศแถลงออกทีวีว่าคะแนนผิดพลาด คิดดูสิ มันผิดพลาดจนเกินไป ทุกคนบอกเลยว่าเป็นปีที่เหมือนผู้ใหญ่เล่นสนุกกับการทดลองระบบ แต่กับเด็กนั้นไม่เลย เด็กเครียดมาก”

 

ยิ่งเล่ายิ่งเห็นภาพ ฟังดูแล้วเหมือนประสบการณ์ที่น่าจดจำครั้งหนึ่งที่พวกเขาผ่านมันมาได้ แต่หากย้อนกลับไปในยุคนั้นและเป็นตัวเราเองที่จะต้องเข้าสอบในระบบดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเท่าไร ซึ่ง #dek61 นี้เองก็กำลังตกที่นั่งเดียวกันกับ #dek49 กับการทดสอบระบบการศึกษาแบบใหม่ และมั่นใจว่าประเทศของเราไม่เคยมีเสถียรภาพในเรื่องนี้จริงๆ เลยสักระบบเดียว

 

“พูดตรงๆ ว่าสงสารเด็กปีนี้มาก แต่อย่างที่สองคือแปลกใจ แปลกใจที่ประเทศเราทดลองระบบการสอบเข้าบ้าบออะไรแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้วนะ แต่ก็นั่นแหละ เราว่าเด็กไทยทุกวันนี้ หน้าที่คือเป็นหนูทดลองให้ผู้ใหญ่ แต่ต้องจำไว้ว่าถ้าเราไม่ติดคณะที่หวังไว้ มันไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งนะ เราอยากให้โทษระบบด้วยส่วนหนึ่ง มันคืออุปสรรคขัดขวางความฝันของเด็กไทยทุกคนจริงๆ

 

“เอาแค่เรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ เราก็ไม่เห็นเลยว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันของคนในสังคมอย่างไร จึงไม่แปลกอะไรที่ธุรกิจเรียนพิเศษมันจะเติบโต เพราะผู้ใหญ่กำลังยิ่งทำให้เด็กเครียด ความจริงเรายังเชียร์ให้มีสอบสัมภาษณ์กับสอบตรงนะ คือมันวัดกันแบบตัวต่อตัว ไม่ต้องไปแข่งกับใครเลย มหาวิทยาลัยควรไม่ใช่ที่แข่งขันแล้ว มันควรเป็นที่สำหรับการศึกษาหาความรู้เข้าตัว มันคือที่เติมเต็มแพสชันและทำฝันให้เป็นจริง”

 

ถ้าเราไม่ติดคณะที่หวังไว้ มันไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งนะ เราอยากให้โทษระบบด้วยส่วนหนึ่ง มันคืออุปสรรคขัดขวางความฝันของเด็กไทยทุกคนจริงๆ

 

ตัวอย่างกระดาษคำตอบของข้อสอบ GAT หรือความถนัดทั่วไป

 

#dek54 เด็กน้อยขี้โกง

ตัวผู้เขียนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และแน่นอนว่าปีที่เราเข้าสอบนั้นคือปี 2554 อันได้ชื่อว่าเป็นปีของ ‘เด็กขี้โกง’ ไม่ใช่ว่ามีการโกงข้อสอบแบบครูพี่ลินในหนังเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง แต่อย่างใด แต่เราหมายถึงโอกาสในการสอบที่มากกว่าคนทุกรุ่นที่ผ่านมา หลังจากเปลี่ยนมาใช้ระบบแอดมิชชันกับการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นนี้สามารถสอบ GAT-PAT ได้ถึง 5 ครั้ง (2 ครั้งในปี 2553 พร้อมกับพี่ๆ ม.6 และอีก 3 ครั้งในปี 2554 ที่ตัวเองขึ้น ม.6) ซึ่งเป็นเหมือนการลองเชิงให้นักเรียนในช่วงปีนี้ได้ลองสอบวิชาเหล่านั้น แต่นั่นก็หมายความว่าพวกเรามีโอกาสที่จะสามารถทำคะแนน ‘ที่ดีที่สุด’ ได้ถึง 5 ครั้ง ซึ่งมากกว่าทุกๆ รุ่นที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ไทย

 

 

#dek58 และผู้ใหญ่ที่อยู่เคียงข้างมาเสมอ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีหลายบุคคลในสังคมที่มีคุณูปการแก่การศึกษาไทย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นครูชื่อดังหรือเจ้าของสถาบันสอนพิเศษขวัญใจนักเรียน และเราเองก็เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีอิทธิพลที่ส่งผลถึงรุ่นต่อรุ่น ได้ยินชื่อเขาบ่อยๆ ตั้งแต่ยุคก่อนหน้าเราก็ดี ยุคเราก็ดี หรือยุคหลังจากเราอย่าง เช่น พลอยชนนี สุขปานประดิษฐ์ นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกกับเรา เธอมีที่พึ่งในเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่คุณอาจจะคุ้นเคยชื่อของเขา

 

ทวิตเตอร์ของพี่ลาเต้ เว็บเด็กดี ที่มีผู้ติดตามอยู่ราว 7 แสนคน

 

“หนูเองก็ติดตามทวิตเตอร์ของพี่ลาเต้ เว็บเด็กดี หรือพี่โดม จากเว็บ Eduzone ซึ่งเขามีส่วนช่วยมาก ทั้งเป็นกระบอกเสียงให้เรา เป็นเหมือนผู้แจ้งเตือนให้เราตลอดว่าตอนนี้ระบบเป็นอย่างไร มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสอบตรงบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ตอนเรียนอยู่ ม.6 ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ทางโรงเรียนก็จะมีการจัดติวให้ก่อนเข้าคาบเรียนที่ 1 ตลอดค่ะ และช่วงประมาณเทอมที่ 2 โรงเรียนก็จะหยุดเรียนให้ 1 วันทุกวันจันทร์ เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ”

 

“เท่าที่อ่านๆ มาในทวิตเตอร์ หนูรู้สึกสงสาร เพราะระบบ TCAS มันแบ่งเป็นหลายรอบมาก เด็กที่ยื่นได้ไปแล้วเขาก็ไม่ให้เคลียร์ริงเฮาส์ (ตัดสิทธิ์) ยังสามารถยื่นต่อได้เรื่อยๆ บางคนได้คะแนนสูงมาก แต่ไม่ติด แต่หนูก็รู้สึกโชคดีที่ไม่ได้เจอระบบแบบนี้ หนูว่าระบบมันค่อนข้างไม่ได้เรื่อง”

 

 

#dek62 และอนาคตของชาติที่คุณต้องฟังเขาบ้าง

มาถึงตรงนี้ คุณคงจะพอเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นไปไม่มากก็น้อยในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เราพบเจอความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยในทุกๆ แง่มุมที่ส่งผลถึงตัวเด็กเองก็ดี สถาบันครอบครัวเองก็ดี แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือความล้มเหลวแบบนี้จะยังเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนจากบาดแผลเหวอะหวะของระบบ TCAS และเราเองก็ได้รับฟังความคิดเห็นจาก #dek62 หรือเด็กมัธยมศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วงเวียนของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้า และ พันพศา จองสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนไตรพัฒน์วอลดอร์ฟ คือเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ในวัย 17 ปี ที่กำลังจะต้องเผชิญกับสิ่งที่ ‘ไม่แน่นอน’ ในปีข้างหน้านี้

 

“ตัวหนูเองก็ติดตามข่าวเรื่องการสอบอยู่เสมอค่ะ และรู้สึกสงสารคนที่สอบปีนี้มาก โดยเฉพาะเด็กสายศิลป์ คือปีก่อนๆ เขาจะให้หมอสอบแยก แต่นี่เหมือนเอาหมอมาสอบรวม มีสิทธิ์เลือกอันดับได้ เลือกมหาวิทยาลัย เลือกคณะอะไรก็ได้ มันเลยไปกั๊กที่ของเด็กสายอื่น แต่หนูเองก็เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของมันนะคะ ข้อเสียก็อย่างที่บอก แต่ข้อดีคือเหมือนคนที่เลือกหมอก็มีสิทธิ์เช่นกันที่จะได้เลือกคณะอื่นๆ สำรองไว้ แต่ระบบไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน มันจึงไม่มีความมั่นคงให้เด็กคนอื่นๆ หรือเด็กที่ไม่เก่ง และหนูก็คิดตลอดว่าปีหน้าจะเปลี่ยนหรือเปล่า และมั่นใจว่าต้องเปลี่ยนแน่นอน”

 

และแน่นอนว่าความกังวลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้กำลังจะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มเด็กในปีถัดไปหลังจากที่การยื่นคะแนนทั้งหมดสิ้นสุดลงภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องของการแก้แค้นที่จะต้องมาคอยชำระกันปีต่อปี แต่มันเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ใหญ่ในบ้านเมืองผู้กุมชะตาชีวิตในเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็ก และกลุ่มเด็กที่กำลังก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัยอันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

 

“หนูอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาศึกษาระบบที่เป็นอยู่ ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเข้าใจลูก อย่ากดดันพวกหนู ต้องสนับสนุนพวกหนู อยากให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจเด็กมากขึ้น เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้มันไม่มีอะไรแน่นอนเลยค่ะ”

 

อ้างอิง:

FYI
  • TCAS คือระบบที่ใช้ในการคัดเลือกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2561 หรือชื่อเต็มคือ Thai University Central Admission System (TCAS 61) เป็นระบบกลางในการบริหารจัดการการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ออกแบบระบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
  • จากงานแถลงข่าว ทปอ. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ได้กล่าวว่า TCAS 61 เป็นระบบกลางที่ช่วยในการบริหารจัดการการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยโดยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ลดการเดินทางในการสอบ ลดการได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบและอื่นๆ ลดช่องทางการเสียโอกาสในการสอบติดหลายที่และไม่เรียน
  • TCAS แบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 รอบ โดยแต่ละรอบจะมีเงื่อนไขที่ต่างกัน ถ้าสอบติดในรอบใดแล้วก็จะไม่สามารถสมัครในรอบต่อไปได้ โดยทั้ง 5 รอบประกอบไปด้วย รอบที่ 1 รอบใช้แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio), รอบที่ 2 รอบรับแบบโควตา, รอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกัน, รอบที่ 4 รอบแอดมิชชัน และรอบที่ 5 รอบรับตรงอิสระ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X