×

สหรัฐฯ เปิดตัวโครงการใช้ดาวเทียมตรวจสอบเขื่อนใหญ่ 11 แห่งของจีนในแม่น้ำโขง พร้อมเผยแพร่ข้อมูลแบบเกือบเรียลไทม์

โดย THE STANDARD TEAM
17.12.2020
  • LOADING...
สหรัฐฯ เปิดตัวโครงการใช้ดาวเทียมตรวจสอบเขื่อนใหญ่ 11 แห่งของจีนในแม่น้ำโขง พร้อมเผยแพร่ข้อมูลแบบเกือบเรียลไทม์

Stimson Center หน่วยงานวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เปิดตัวโครงการ Mekong Dam Monitor หรือโครงการติดตามตรวจสอบระดับน้ำภายในเขื่อนขนาดใหญ่ 11 แห่งของจีน และเขื่อนของประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำโขง โดยใช้ดาวเทียมหลายดวงในการตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลแบบเกือบเรียลไทม์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

 

โครงการ Mekong Dam Monitor ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ดาวเทียมในการตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลเขื่อนในแม่น้ำโขง เพื่อให้ประชาชน นักวิจัย และนักเคลื่อนไหว สามารถตรวจสอบผลกระทบจากเขื่อนและสภาพอากาศที่มีต่อสภาพทางอุทกวิทยาของแม่น้ำโขง ซึ่งนอกจากดาวเทียมแล้ว ยังมีการใช้ระบบสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) และการวิเคราะห์ข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS analysis) ซึ่งเป็นข้อมูลสภาพพื้นที่ในแม่น้ำโขง

 

สำหรับแม่น้ำโขงมีความยาว 4,350 กิโลเมตร ซึ่งชาวจีนเรียกว่าแม่น้ำหลานชาง ไหลผ่านทั้งจีน ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม และถือเป็นแหล่งทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนกว่า 60 ล้านคน ตลอดแนวแม่น้ำโขง ซึ่งใช้ทำการเกษตรและประมง ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ของจีนตั้งอยู่ในช่วงลุ่มแม่น้ำตอนบน ทำให้ที่ผ่านมาเกิดข้อครหาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ถึงปัญหาการกักเก็บน้ำในเขื่อนของจีน ที่ทำให้ประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องเผชิญกับภาวะแห้งแล้งบ่อยครั้ง ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งได้ปฏิเสธงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าเขื่อนของจีน ทำให้เกิดผลกระทบดังกล่าว

 

ขณะที่ข้อมูลในการตรวจวัดความเปียกชื้นระดับพื้นผิวจะแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ส่วนไหนของแม่น้ำโขงที่มีสภาพชุ่มชื้นหรือแห้งแล้งกว่าปกติ ซึ่งจะบอกได้ว่าการไหลเวียนของน้ำในแม่น้ำโขงตามธรรมชาตินั้นได้รับผลกระทบจากเขื่อนต่างๆ มากน้อยแค่ไหน

 

“จากการตรวจสอบแสดงหลักฐานว่า เขื่อนขนาดใหญ่ 11 แห่งของจีน ได้รับการปรับแต่งและดำเนินการอย่างซับซ้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อขายให้กับมณฑลทางตะวันออกของจีน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับบริเวณปลายน้ำ” ไบรอัน อีย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลุ่มแม่น้ำโขงของ Stimson Center กล่าว

 

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้วิพากษ์วิจารณ์ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นของสหรัฐฯ รวมถึงงานวิจัย Eyes on Earth ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Mekong Dam Monitor โดยเนื้อหาในงานวิจัยฉบับนี้บ่งชี้ว่า เขื่อนจีนกักเก็บน้ำไว้ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญภาวะแห้งแล้ง

 

“สหรัฐฯ ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ทั้งหมด” สถาบันวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการจีนระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พร้อมยืนยันว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของจีนในแม่น้ำโขงสร้างประโยชน์อย่างชัดเจนต่อเพื่อนบ้านในแม่น้ำโขงที่อยู่ปลายน้ำ เช่น การกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศปลายน้ำเผชิญปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising