รายงานสิทธิมนุษยชนปี 2020 ของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุการกระทำของจีนในเขตปกครองตนเองซินเจียงว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ เป็นครั้งแรก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์มีมากขึ้นเรื่อยๆ
แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างเปิดตัวรายงานเมื่อวานนี้ (30 มีนาคม) ว่า “รายงานที่เผยแพร่ในวันนี้บ่งชี้ว่า เส้นแนวโน้มเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนยังคงเคลื่อนไปในทิศทางที่ผิด” โดยเขาชี้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่การปฏิบัติของทางการจีนต่อชนกลุ่มน้อยในซินเจียงนั้นถือว่ารุนแรงและน่ากังวลที่สุดในเวลานี้
“คนจำนวนมากยังคงทนทุกข์ทรมานภายใต้สภาวะที่โหดร้ายในปี 2020” ข้อความส่วนหนึ่งของรายงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 45 ของสหรัฐฯ ระบุ “ในจีน รัฐบาลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งประกอบด้วยการกักขัง ทรมาน บังคับให้ฆ่าเชื้อ และข่มเหงชาวอุยกูร์ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยศาสนาและชาติพันธุ์อื่นๆ”
ก่อนหน้านี้ ตัวรายงานซึ่งครอบคลุมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกือบ 200 ประเทศระบุเพียงว่าจีน “กักขังคนจำนวนมาก สังหารตามอำเภอใจหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ในซินเจียง แต่ยังไม่เคยใช้คำว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ อย่างเป็นทางการมาก่อน
บลินเคนกล่าวว่า “รายงานประจำปีเหล่านี้สำคัญ แต่แน่นอนว่ามันยังไม่เพียงพอ เราจะใช้เครื่องมืออื่นๆ ให้มากขึ้นเพื่อหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการคว่ำบาตร”
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีน 2 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในซินเจียงอย่างโหดร้าย แต่จีนสวนกลับด้วยการคว่ำบาตรกรรมาธิการ 2 คนในคณะกรรมาธิการด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยระบุว่าจีนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมในซินเจียง ซึ่งในรายงานฉบับล่าสุดที่กฎหมายสหรัฐฯ กำหนดให้ต้องส่งต่อสภาคองเกรสกล่าวถึงสถานการณ์เฉพาะปี 2020 เท่านั้น
นอกจากซินเจียงแล้ว รายงานยังกล่าวถึงการปราบปรามกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และวิจารณ์ถึงการที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกเท่าที่ควร ซึ่งรวมถึงกรณีที่จีนปิดปาก ดร.หลี่เหวินเลี่ยง ผู้ออกมาเตือนสาธารณชนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนเป็นคนแรก
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในกรณีซินเจียงตึงเครียดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังผู้บริโภคชาวจีนรวมตัวกันแบนหรือบอยคอตแบรนด์ดังของตะวันตก เช่น Nike และ New Balance หลังแบรนด์เหล่านี้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ภาพ: Alex Edelman-Pool / Getty Images
อ้างอิง: