×

‘สิทธิครอบครองปืน’ จุดเริ่มต้นของเสรีภาพและความตาย จากเหตุกราดยิงลาสเวกัสสู่โบสถ์กลางเมืองในเท็กซัส

05.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • มีการบัญญัติสิทธิในการครอบครองปืนของชาวอเมริกันได้อย่างเสรีนับตั้งแต่ประกาศเอกราชจากอังกฤษ สิทธิและแนวคิดนี้ถูกส่งผ่านมายังสังคมอเมริกันในปัจจุบัน
  • จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ Gun Violence Archive พบว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนนับตั้งแต่ปี 1968-2015 มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามทั้งหมดที่สหรัฐฯ เข้าร่วมถึง 9%
  • ข้อมูลจาก UNODC (2012) ยังพบว่า สหรัฐฯ มีอัตราการเสียชีวิตของพลเมืองจากอาวุธปืนสูงถึง 29.7% เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตของผู้คนจากอาวุธปืนทั่วโลก โดยมากกว่าแคนาดาถึง 6 เท่า และมากกว่าเยอรมนี หนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันถึง 16 เท่า
  • สมาคมไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐฯ และการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกัน ทำให้การผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการครอบครองปืนของพลเมืองสหรัฐฯ เป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขอาจนำไปสู่บทสรุปการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อีกด้วย

     จากเหตุสะเทือนขวัญคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงผู้เข้าร่วมงานเทศกาลดนตรีกว่า 22,000 คนในลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 59 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 527 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดเหตุกราดยิงขึ้นอีกครั้งที่โบสถ์กลางเมืองเล็กๆ Sutherland Springs มลรัฐเท็กซัส ในวันนี้ (6 พ.ย.) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเผยว่า อาวุธที่ใช้ก่อเหตุนี้เป็นอาวุธปืนชนิดเดียวกัน ทั้งในเหตุการณ์กราดยิงที่ลาสเวกัส รวมถึงเหตุกราดยิงที่ไนต์คลับในเมืองออร์แลนโด เมื่อปี 2016

     เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมาได้ปลุกกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิแก่ชาวอเมริกันในการครอบครองปืนได้อย่างเสรีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

สหรัฐอเมริกามีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนนับตั้งแต่ปี 1968-2015 มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามทั้งหมดที่สหรัฐฯ เข้าร่วมถึง 9%

 

จุดเริ่มต้นของเสรีภาพ

     สิทธิในการถือครองอาวุธปืนได้อย่างเสรีของชาวอเมริกันถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม (Second Amendment) ของสหรัฐฯ ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษได้สำเร็จในปี 1776 โดยมีจุดประสงค์ให้ชาวอเมริกันมีสิทธิในการปกป้องคุ้มครองตนเองและใช้อาวุธนี้ปกป้องประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ ซึ่งสาระสำคัญคืออนุญาตให้ผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (กรณีปืนยาวที่เด็กอเมริกันส่วนใหญ่มักใช้ล่าสัตว์) หรือ 21 ปี ไม่มีความผิดปกติทางจิต ไม่มีประวัติอาชญากรรม และมีการลงทะเบียนอาวุธปืน สามารถเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

     นอกจากนี้ความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกันที่ว่า ‘ทาสไม่มีสิทธิครอบครองปืน (เจ้าอาณานิคมอังกฤษไม่อนุญาตให้ชาวอเมริกันถืออาวุธ) คนไทที่มีอิสรภาพเท่านั้นจึงจะสามารถครอบครองปืนได้’ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญว่า ทำไมสิทธิเสรีภาพของคนอเมริกันจึงถูกผูกติดไว้กับปืน เพราะเมื่อคุณมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองก็เท่ากับว่าคุณมีอิสรภาพ มีสิทธิที่จะปกป้องคุ้มครองชีวิตของตนเองได้และความเชื่อนี้ก็ถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน

พลเมืองสหรัฐฯ ที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองคิดเป็น 42% ของผู้ครองปืนทั่วโลกกว่า 644 ล้านคน

สถิติที่น่าตกใจเกี่ยวกับการครอบครองปืนในสหรัฐฯ

     สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่พลเมืองภายในประเทศมีการครอบครองปืนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งตัวบทกฎหมายที่ให้สิทธินี้เปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และในบางครั้งสิทธิเสรีภาพนี้ก็นำมาซึ่งอัตราการเสียชีวิตของพลเมืองอเมริกันจากปลายกระบอกปืนที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

     จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ Gun Violence Archive เผยว่า เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในลาสเวกัสเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นับเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเป็นครั้งที่ 273 ภายในปีนี้แล้ว นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังมีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนนับตั้งแต่ปี 1968-2015 (1,516,863 คน) มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามที่สหรัฐฯ เข้าร่วม (1,396,733 คน) ถึง 9% เลยทีเดียว และคาดว่าช่องว่างนี้จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต

     ทั้งนี้ข้อมูลจาก UNODC (2012) ยังพบว่า สหรัฐอเมริกามีอัตราการเสียชีวิตของพลเมืองจากอาวุธปืนสูงถึง 29.7% เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตของผู้คนจากอาวุธปืนทั่วโลก โดยมากกว่าแคนาดาถึง 6 เท่า (5.1%) และมากกว่าเยอรมนี หนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันถึง 16 เท่า (1.9%) หากคิดเป็นสัดส่วนจากประชากรโลกทั้งหมดแล้วพบว่า พลเมืองสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 4.43% จากประชากรโลกทั้งหมด 7.13 พันล้านคน ในขณะที่พลเมืองสหรัฐฯ ที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองคิดเป็น 42% ของผู้ครองปืนทั่วโลกกว่า 644 ล้านคน

     นอกจากนี้การสำรวจและวิจัยหลายชิ้นยังพบว่าในพื้นที่ที่ถือครองอาวุธปืนมาก อัตราการเสียชีวิตจากปืนก็สูงขึ้นตามไปด้วย ไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากที่สุดถึง 60% รองลงมาคือการเสียชีวิตจากเหตุกราดยิงและการถูกฆาตกรรม (33%) ถึงแม้ว่าตัวเลขสถิติเหล่านี้จะน่าตกตะลึงมากเพียงใด แต่การแก้ไขตัวบทกฎหมายที่ไปกระทบสิทธิเสรีภาพในการครอบครองปืนของชาวอเมริกันนั้นก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง

เมื่อมีใครบางคนคิดจะโจมตีพวกเรา เราดักฟังโทรศัพท์พวกเขา เรายกระดับมาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศ เราสร้างกำแพง เราทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่เมื่อคนอเมริกันซื้อปืนมาและใช้คร่าชีวิตคนอเมริกันด้วยกันเองกลับไม่มีอะไรที่เราสามารถทำได้เลย?

 

การเมืองเรื่องปืนในสังคมสหรัฐฯ

     ที่ผ่านมาพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงมักจะหลีกเลี่ยงการแก้ไขกฎหมายนี้ เนื่องจากพวกเขาทราบดีว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับชาวอเมริกันจำนวนมากที่มองว่าการครอบครองปืนคือสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาควรได้รับ ดังนั้นทุกครั้งที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงการหามาตรการเพื่ออุดช่องโหว่ทางกฎหมายเท่านั้น

     นอกจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 (ที่แก้ไขเพิ่มเติม) และความเชื่อเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับการครอบครองปืนในสังคมอเมริกันแล้ว อีกตัวละครหนึ่งซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อประเด็นการแก้ไขตัวบทกฎหมายนี้ไม่น้อยคือ สมาคมไรเฟิลแห่งชาติสหรัฐ (National Rifle Association: NRA) ที่ถือว่าเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลต่อการเมืองสหรัฐฯ มากที่สุดองค์กรหนึ่ง ไม่เพียงแต่ในเรื่องของเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาล แต่ยังปฏิสัมพันธ์และมีสมาชิกภายในองค์กรกว่า 5 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ และมีสมาชิก NRA แทรกซึมอยู่ในแทบจะทุกองค์กรที่มีบทบาทในการตัดสินใจและดำเนินนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของประเทศ

     การแก้ไขกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนของชาวอเมริกันจึงอาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้โดยตรง ดังนั้นการล็อบบี้ในเกมการเมืองสหรัฐฯ เรื่องสิทธิในการครอบครองปืนจึงเริ่มต้นขึ้น

     NRA ให้เงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองที่มีจุดยืนและแนวทางสอดคล้องกับกลุ่มองค์กรของตน หนึ่งในนั้นคือพรรครีพับลิกันของสหรัฐฯ ที่นำโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2016 กลุ่ม NRA ทุ่มเงินสนับสนุนกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 พันล้านบาท) ช่วยหาเสียงสนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมจัดทำคลิปวิดีโอโจมตีนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตที่ต้องการจะจำกัดสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนของคนอเมริกัน และนี่อาจจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ

     นอกจากนี้การที่สมาชิกจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ทำให้การผลักดันเพื่อแก้ไขกฎหมายครอบครองปืนให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นของสมาชิกจากพรรคเดโมแครตเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงไม่น่าแปลกใจที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะยังคงไม่แก้ไขตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองอาวุธปืนของชาวอเมริกันในช่วงเวลานี้ เพราะหากยินยอมให้มีการแก้ไข นั่นหมายความว่ามันอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงและคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะทำให้เส้นทางการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะต้องยุติลงในท้ายที่สุด

ผมเสียใจที่พวกเราอาศัยอยู่ในประเทศที่ผู้คนให้ความสำคัญกับอาวุธปืนมากกว่าชีวิตของพวกคุณ

 

     พีรพงศ์ เพิ่มแสงงาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ LAPD ในนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “การให้สิทธิในการครอบครองอาวุธปืนแก่พลเมืองอเมริกันเพื่อเอาไว้ป้องกันตนเองถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การออกแบบให้ตัวบทกฎหมายมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น มีการตรวจเช็กประวัติอย่างละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีและจำนวนชนิดของอาวุธปืนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีตก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน”

     ทางด้าน จิมมี่ คิมเมล พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทบทวนตัวบทกฎหมายในการให้สิทธิในการถือครองปืนแก่ชาวอเมริกันอย่างเสรีอีกครั้ง ภายหลังจากที่เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้นที่ลาสเวกัส

     “เมื่อมีใครบางคนคิดจะโจมตีพวกเรา เราดักฟังโทรศัพท์พวกเขา เรายกระดับมาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศ เราสร้างกำแพง เราทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่เมื่อคนอเมริกันซื้อปืนมาและใช้คร่าชีวิตคนอเมริกันด้วยกันเองกลับไม่มีอะไรที่เราสามารถทำได้เลย?

     ในขณะที่ เทรเวอร์ โนอาห์ อีกหนึ่งพิธีกรรายการชื่อดังของสหรัฐอย่าง The Daily Show ก็ออกมาตัดพ้อต่อจุดยืนของรัฐบาลที่ยืนยันจะยังคงไม่แก้ไขกฎหมายการถือครองปืน แม้อาจจะเกิดเหตุกราดยิงอีกกี่ครั้ง หรือมีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม

     “ถึงพลเมืองลาสเวกัสทุกคน ผมทำได้แค่เพียงกล่าวว่าผมเสียใจ ผมเสียใจที่พวกเราอาศัยอยู่ในประเทศที่ผู้คนให้ความสำคัญกับอาวุธปืนมากกว่าชีวิตของพวกคุณ

     การเมืองสหรัฐฯ อาจจะกำลังเดินทางมาถึงทางแยกอีกครั้ง การเมืองเรื่องปืนที่เปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ นี้ไม่เพียงแต่กำลังสร้างความท้าทายให้แก่ประธานาธิบดี คณะรัฐบาล และสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เท่านั้น

     แต่ยังรวมถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของพลเมืองอเมริกันต่อจากนี้ไปอีกด้วย

 

Photo: ROBYN BECK/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising