×

สหราชอาณาจักรแถลงแผนยุทธศาสตร์ ทบทวนวิสัยทัศน์หลังออกจากสหภาพยุโรป

โดย THE STANDARD TEAM
24.03.2021
  • LOADING...
สหราชอาณาจักรแถลงแผนยุทธศาสตร์ ทบทวนวิสัยทัศน์หลังออกจากสหภาพยุโรป

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้แถลงข้อสรุปจากรายงานทบทวนนโยบายแบบองค์รวม (Integrated Review) ของสหราชอาณาจักร ที่ครอบคลุมด้านกลาโหม ความมั่นคง การพัฒนา และนโยบายต่างประเทศ รายงานทบทวนดังกล่าวซึ่งดำเนินการมาตลอดปีที่ผ่านมาถือเป็นการแจกแจงทิศทางนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติที่ครบถ้วนครอบคลุมที่สุดที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ตีพิมพ์ในรอบหลายทศวรรษ

 

เอกสารความยาว 100 หน้านี้ว่าด้วยความมั่นคงของชาติ นโยบายต่างประเทศ และแนวทางของสหราชอาณาจักรในเรื่องเศรษฐกิจโลก โดยกล่าวถึงทุกประเด็นแบบบูรณาการ พร้อมตั้งวิสัยทัศน์สำหรับปี 2030 และวางแผนใช้นโยบายต่างประเทศที่หลากหลายเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

 

สหราชอาณาจักรประกาศแผนยุทธศาสตร์องค์รวมนี้ในปีสำคัญที่สหราชอาณาจักรกำลังเป็นผู้นำในระดับนานาชาติด้วยการเป็นประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G7) และกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) 

 

ในการสรุปรายงาน Integrated Review จอห์นสันได้กล่าวว่า 

 

“สหราชอาณาจักรจะยึดมั่นในความรับผิดชอบซึ่งมาพร้อมกับตำแหน่งสมาชิกถาวรในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เราจะมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาระเบียบโลก ซึ่งช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจที่เปิดกว้างเติบโตต่อไป และให้โลกได้แบ่งปันผลประโยชน์จากความมั่งคั่งนี้ผ่านการค้าเสรีและการเติบโตร่วมกันในระดับโลก

 

“เราต้องแสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในการพูด การคิด และการเลือก ซึ่งนำไปสู่เสรีภาพในการคิดค้นพัฒนานั้นก่อให้เกิดประโยชน์โดยธรรมชาติ เสรีนิยมประชาธิปไตยและตลาดเสรียังคงเป็นรูปแบบของระบบที่ดีที่สุดในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์”

 

แผนยุทธศาสตร์องค์รวมนี้ระบุถึงความท้าทายและโอกาสต่างๆ ที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันมากขึ้น กลุ่มอำนาจใหม่กำลังใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีในการกำหนดนิยามของระเบียบโลกขึ้นใหม่ และในบางกรณียังบ่อนทำลายระบบที่เปิดกว้างและเสรีของนานาชาติที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสงครามเย็นเป็นต้นมา

 

แผน Integrated Review ชี้ชัดว่าสหราชอาณาจักรไม่สามารถพึ่งพาระเบียบโลกที่กำลังล้าหลังไปเรื่อยๆ ได้เพียงอย่างเดียวในการปกป้องผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักรและสนับสนุนค่านิยมที่ประเทศยึดถือ ในทางตรงกันข้าม แผนยุทธศาสตร์นี้จะกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลขึ้นใหม่ ซึ่งจะเพิ่มการเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติ สหราชอาณาจักรและพันธมิตรจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีในการปรับเปลี่ยนระเบียบโลกให้เปิดกว้างยิ่งขึ้นเพื่อให้ประชาธิปไตยเฟื่องฟู

 

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จอห์นสันประกาศถึงโครงการแรกที่เกิดจากแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ นั่นคือโครงการลงทุนด้านกลาโหมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา การลงทุนนี้ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นผู้ร่วมลงทุนด้านกลาโหมรายใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรปในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO และนับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแผนยุทธศาสตร์ล่าสุดมีการเปลี่ยนมุมมองโดยสมบูรณ์ และระบุถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรโลกที่แข็งขันยิ่งขึ้น

 

“ในฐานะที่สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำในการสร้างระเบียบโลกที่ช่วยให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน เราจะใช้หลักการวิถีแบบอังกฤษเพื่อกำกับนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา งานต่อเนื่องในการรักษาประชาชนของเราให้ปลอดภัยจากการก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมร้ายแรง และความเป็นผู้นำของเราในด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งเราจะยังคงเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)” 

 

อย่างไรก็ตาม แผน Integrated Review ยังได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางบางประการ เช่น การหันมาให้ความสนใจกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้เรือหลวงควีนเอลิซาเบธจะแล่นออกปฏิบัติการเป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) นอกจากนี้สหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในขั้นตอนการสมัครเป็นประเทศคู่เจรจาของประชาคมอาเซียน (ASEAN) และในปลายเดือนเมษายนนี้ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรจะเดินทางเยือนประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ครั้งแรกหลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป 

 

แผนยุทธศาสตร์จะกำหนดให้การจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเป็นวาระสากลหลักอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักรในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศแรกที่บัญญัติเรื่องการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ไว้ในกฎหมาย และการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศของรัฐบาลในอนาคตจะต้องเป็นไปตามกรอบความตกลงปารีส 

 

การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจะส่งผลให้สหราชอาณาจักรสามารถเลือกดำเนินการทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์และพันธมิตรได้อย่างอิสระ

 

“นโยบายด้านการค้าฉบับใหม่ของเราได้สร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ และรักษาชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในสหราชอาณาจักร เราได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าไปแล้วกับ 66 ประเทศนอกเหนือไปจากข้อตกลงกับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรยังมุ่งมั่นจะบรรลุข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ที่จะครอบคลุม 80% ของการค้าทั้งหมดของสหราชอาณาจักรภายในปี 2022

 

ส่วนนโยบายใหม่ในการใช้มาตรการคว่ำบาตรได้โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับสหภาพยุโรป ทำให้สหราชอาณาจักรสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและหนักแน่นเพื่อปกป้องคุณค่าที่ยึดถือได้ทุกเมื่อที่จำเป็น “ที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการคว่ำบาตรผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนไปแล้วกว่า 50 รายชื่อ ซึ่งรวมถึงบุคคลจากประเทศรัสเซีย เมียนมา และซิมบับเว เราจะยังคงเป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังเช่นการกดขี่ชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในเขตซินเจียงของประเทศจีน เราจะใช้เสียงของเราบนเวทีระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการตอบสนองอย่างหนักแน่นในระดับนานาชาติ

 

“เราจะยังเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ กับประเทศทั่วโลก สร้างกลุ่มพันธมิตรและความร่วมมือเพื่อโลกที่เปิดกว้างและนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป” เอกสารระบุ

 

ภาพ: Hannah McKay – WPA Pool / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X