เพื่อให้สมกับหลักปรัชญาของแบรนด์ Uniqlo อย่าง LifeWear เครื่องแต่งกายที่ดีจึงไม่ใช่แค่มีดีไซน์ที่สวยงาม มีคุณภาพการใช้งานที่ยาวนาน และเหมาะสำหรับทุกคน หากแต่ยังต้องเป็นเครื่องแต่งกายที่ถูกผลิตขึ้นภายใต้แนวคิดรู้รับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์ไอเท็มประจำวันที่จะทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น
เมื่อพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม คนจำนวนมากมักพุ่งเป้าไปที่วัสดุย่อยสลายยากอย่างพลาสติกที่ตกเป็นจำเลยในฐานะตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่การลดปริมาณการใช้พลาสติกเท่านั้นที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ปัจจัยสี่ของคนเราอย่างเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็เป็นอีกหนึ่งตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจฟาสต์แฟชั่นที่เน้นการผลิตปริมาณมาก ซื้อง่ายขายคล่อง และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้น จากข้อมูลในปี 2015 พบว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนกว่า 1,715 ล้านตัน รวมถึงขยะมูลฝอยปริมาณ 92 ล้านตัน โดยเฉลี่ยใช้น้ำไปกว่า 79,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งเทียบเท่าน้ำที่เติมเต็มสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน** จำนวน 32 ล้านสระ
ระยะหลังเราจึงได้ยินแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Uniqlo ที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างจริงจัง นับตั้งแต่พวกเขาประกาศยุติการใช้ถุงพลาสติกภายในร้าน (คลิกอ่าน Uniqlo ประกาศหยุดใช้ถุงพลาสติก พร้อมเปลี่ยนเป็นถุงกระดาษทั่วโลก เริ่มกันยายนนี้!) เพื่อเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษ และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะงดแจกถุงใส่สินค้าหากลูกค้าเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าในการช้อปปิ้งมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการตัดตอนการใช้วัสดุสิ้นเปลืองอย่างถุงไปโดยปริยาย รวมถึงแผนในการเปลี่ยนแพ็กเกจในการใส่สินค้าใหม่ให้สอดรับกับสภาวะโลกร้อนมากขึ้นอีกด้วย
ความพยายามของ Uniqlo ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อพวกเขาเล็งเห็นว่าหากกระบวนการผลิตเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในขั้นตอนทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วทำไมเราจึงไม่คิดค้นวิธีการที่จะทำให้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าสะอาดยิ่งขึ้น และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยลง แทนที่จะผลักความรับผิดชอบไปให้ผู้บริโภคเพียงลำพัง
แนวคิดนี้จึงถูกต่อยอดไปสู่การผลิตกางเกงยีนส์ที่สามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการฟอกลงถึง 99%* และมีอัตราลดลงโดยเฉลี่ยกว่า 90% เมื่อศูนย์นวัตกรรมยีนส์ฟาสต์รีเทลลิ่ง (FR Jeans Innovation Center) ของกลุ่มฟาสต์รีเทลลิ่ง (Fast Retailing Group) เจ้าของแบรนด์ Uniqlo ในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประสบความสำเร็จในการผลิตกางเกงยีนส์ที่ช่วยลดโลกร้อนได้มากที่สุดเท่าที่ Uniqlo เคยผลิตมา
“กางเกงยีนส์เป็นสินค้าที่ผ่านขั้นตอนการฟอกเพื่อความสวยงามเท่านั้น ผมจึงมองว่านี่เป็นขั้นตอนที่สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำสะอาด ผมจึงอยากคิดค้นวิธีการผลิตกางเกงยีนส์ที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วยการฟอกที่ใช้น้ำน้อยที่สุด และในอนาคตอาจพัฒนาไปสู่การลดปริมาณการใช้สารเคมีในการผลิตได้ด้วย” กล่าวโดย มาซาอากิ มัตซึบาระ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์นวัตกรรมยีนส์ฟาสต์รีเทลลิ่ง
มาซาอากิ มัตซึบาระ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์นวัตกรรมยีนส์ฟาสต์รีเทลลิ่ง
ในขณะที่แบรนด์อื่นมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนมาใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างขวดพลาสติกในการทำผ้ายีนส์ แต่สิ่งที่ Uniqlo ทำคือการใช้นวัตกรรมใหม่ในการสร้างสรรค์กางเกงยีนส์ที่ยังคงความรู้สึกของผ้ายีนส์อย่างผ้าฝ้ายเดนิม 100% จากไคฮาระ ซึ่งเป็นผู้ผลิตผ้าเดนิมชั้นนำของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนมาใช้เครื่องฟอกอากาศขนาดเล็กระดับนาโนเมตรและโอโซนเพื่อลดการใช้น้ำจนแทบเรียกได้ว่าไม่ใช้เลย รวมถึงการเปลี่ยนจากการใช้หินภูเขาไฟในการชะล้างผ้ายีนส์ที่ทำให้เกิดตะกอนตกค้างและบุบสลายได้ง่าย มาเป็นหินสังเคราะห์ที่สามารถใช้งานได้กึ่งถาวรและไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลในน้ำ
เครื่องฟอกอากาศขนาดเล็กระดับนาโนเมตรและโอโซน
ตัวอย่างหินภูเขาไฟที่ก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูล
นอกจากนั้นในศูนย์นวัตกรรมยีนส์ฟาสต์รีเทลลิ่งยังสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมิตรกับพนักงานยิ่งขึ้น จากเดิมที่การฟอกยีนส์และการขึ้นริ้วต่างๆ ที่เกิดจากโรงงานต้องใช้แรงงานมือในการขัดยีนส์ทีละตัว ซึ่งกินเวลามาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดฝุ่นละอองและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พวกเขาจึงเปลี่ยนมาใช้วิธียิงเลเซอร์ในกระบวนการนี้แทน ด้วยวิธีการนี้ทำให้ทางแบรนด์สามารถประหยัดเวลาในการผลิตได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษในโรงงานได้อีกด้วย และที่สำคัญพวกเขายังสามารถขายกางเกงยีนส์เหล่านี้ได้ในราคาปกติ โดยที่ไม่ต้องบวกเพิ่มเป็นสินค้าพิเศษเหมือนแบรนด์อื่นๆ
เครื่องเลเซอร์กางเกงยีนส์
หนึ่งในนวัตกรรมใหม่ของศูนย์นวัตกรรมยีนส์ฟาสต์รีเทลลิ่ง
อันที่จริงกระบวนการผลิตยีนส์รูปแบบใหม่นี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่กางเกงยีนส์ทรงกระบอกของผู้ชายในคอลเล็กชัน Fall/Winter 2018 ของ Uniqlo และคอลเล็กชัน Sustainable Capsule Collection ของ J Brand ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกันซึ่งคุณอาจจะเคยผ่านตามาบ้างแล้ว หลังจากที่ได้มองด้วยตาเปล่าและสัมผัสของจริง เราพบว่ายีนส์ที่ผ่านการฟอกแบบใหม่นี้แทบไม่ต่างจากเทคนิคการทำดั้งเดิม ตัวยีนส์ยังคงให้อารมณ์เหมือนยีนส์วินเทจที่เนื้อผ้ามีความอ่อนนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง สีและริ้วต่างๆ มีความเป็นธรรมชาติแม้จะถูกยิงด้วยเลเซอร์ เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากแพตเทิร์นในการยิงเลเซอร์นั้นถูกออกแบบโดยนักออกแบบยีนส์ที่ดีไซน์และขึ้นตัวอย่างก่อนในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าริ้วรอยเหล่านั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เหมาะกับยีนส์ทรงต่างๆ อย่างแท้จริง
กางเกงยีนส์ที่ฟอกระดับต่างๆ
ทางฟาสต์รีเทลลิ่งระบุว่าภายในปี 2019 กางเกงยีนส์จำนวนกว่า 10 ล้านตัว หรือประมาณเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนกางเกงยีนส์ทั้งหมดที่ฟาสต์รีเทลลิ่งผลิตขึ้นต้องใช้กระบวนการผลิตนี้ก่อนปรับเปลี่ยนอย่างเบ็ดเสร็จในปี 2020 ที่คาดว่าหากพวกเขาทำได้จริง กางเกงยีนส์จำนวนกว่า 40 ล้านตัวของบริษัทในกลุ่มจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำไปกว่า 3,000,080 ล้านลิตร หรือเติมเต็มสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานสากลได้ถึง 1,470 สระ รวมถึงปริมาณสารเคมีที่ใช้ก็ลดลงอีกด้วย
และนี่คือหนึ่งในความตั้งใจของ Uniqlo ที่เราไม่ได้มองว่าเป็นเพียงความอาจหาญกับการที่แฟชั่นแบรนด์อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกด้วยสินค้าอย่างกางเกงยีนส์ เพราะหากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่นเริ่มขยับเขยื้อนตัวพร้อมกัน แม้เป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่แรงกระเพื่อมที่ส่งต่อถึงผู้บริโภคย่อมมีมากกว่า และเมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
*อ้างอิงจากการเปรียบเทียบระหว่างกางเกงยีนส์ Uniqlo ทรงกระบอกสำหรับผู้ชายในปี 2007 กับปี 2018
**สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานสากลมีความยาว 50 เมตร ความกว้างระหว่างช่องว่าย 2.5 เมตร จำนวน 10 ช่องว่าย และมีความลึก 2 เมตร
ภาพ: Courtesy of Uniqlo
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- phys.org/news/2018-06-jeans-fibres-garment-tagsnovel-recycling.html
- sustainability.uq.edu.au/projects/recycling-and-waste-minimisation/fast-fashion-quick-cause-environmental-havoc
- www.theguardian.com/commentisfree/2019/jun/18/fast-fashion-environmental-audit-committee-polluting-industry
- ปัจจุบันบริษัทที่อยู่ในเครือฟาสต์รีเทลลิ่ง (Fast Retailing Group) มีทั้งหมด 7 แบรนด์ ได้แก่ Uniqlo, GU, J Brand, Comptoir des Cotonniers, PLST, Princesse tam.tam และ Theory