×

EXCLUSIVE: ย้อนประวัติศาสตร์ของ ‘UNIQLO centralwOrld’ จากสาขาแรกในไทยเมื่อ 12 ปีที่แล้ว สู่การปรับปรุงใหม่ให้มี RE.UNIQLO STUDIO บริการซ่อมเสื้อผ้าให้นำกลับมาใช้ใหม่ และวางขาย Gift Card ด้วย

03.10.2023
  • LOADING...
UNIQLO centralwOrld

HIGHLIGHTS

9 MIN READ
  • หลังจากปิดปรับปรุงไปนานกว่า 6 เดือน UNIQLO centralwOrld ถือเป็นสาขาแรกในประเทศไทยที่เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ได้กลับมาอวดโฉมอีกครั้ง
  • เรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเสื้อผ้าแฟชั่นเองก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ดังนั้น สาขานี้จึงได้เปิด RE.UNIQLO ซึ่งจะช่วยต่ออายุให้กับเสื้อผ้า UNIQLO ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง 
  • สิ่งที่มาพร้อมกันคือ UNIQLO Gift Card บัตรของขวัญที่มี 2 มูลค่า คือ 1,000 บาท และ 2,000 บาท ซึ่ง โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงให้ลูกค้าใหม่ๆ เดินเข้าหาแบรนด์
  • สาขานี้ยังมี Self-Checkout หรือบริการชำระเงินด้วยตนเอง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะต้องการลดพนักงาน แต่อยากให้พนักงานสามารถไปช่วยเหลือลูกค้าในเรื่องอื่นๆ มากกว่า เพราะมีลูกค้าจำนวนมากที่หาเสื้อผ้าไม่เจอ เมื่อไม่ต้องเป็นแคชเชียร์แล้วก็สามารถไปช่วยลูกค้าได้

มีใครเคยไป ‘UNIQLO centralwOrld’ กันแล้วบ้าง ยกมือขึ้นมาหน่อย!

 

หลายคนคงตื่นตาตื่นใจกับพื้นที่อันกว้างขวาง เต็มไปด้วยเสื้อผ้าแทบจะทุกแบบ แต่บางคนอาจจะไม่รู้ว่าที่ UNIQLO centralwOrld ถือเป็นสาขาแรกในประเทศไทยที่เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ปีที่แล้ว

 

หลังจากปิดปรับปรุงไปนานกว่า 6 เดือน สาขาแห่งนี้ได้กลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมกับบริการใหม่ๆ ที่เปิดเป็นครั้งแรกในไทย เช่น RE.UNIQLO STUDIO บริการซ่อมเสื้อผ้าให้นำกลับมาใช้ใหม่ และวางขาย Gift Card 

 

ทำไมต้องเป็น UNIQLO centralwOrld เราจะชวนไปย้อนประวัติศาสตร์กับสาขาที่แม้ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น Flagship Store แต่ก็ได้รับความสำคัญไม่แพ้กัน ผ่านการพูดคุยกับ ‘โยชิทาเกะ วากากุวะ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้สัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ THE STANDARD WEALTH ซึ่งเป็นสื่อไทยแห่งแรกที่ได้พูดคุยอย่างเป็นทางการหลังเข้ามารับตำแหน่งได้ 3 ปีกว่าๆ แล้ว 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

12 ปีกับการขยายไป 65 จังหวัด 

 

แม่ทัพ UNIQLO เริ่มการพูดคุยกับเราในบรรยากาศสบายๆ ในสำนักงานใหญ่ UNIQLO ประจำประเทศไทย ด้วยการบอกเล่าผ่านล่ามแปลภาษาญี่ปุ่นว่า UNIQLO ขยายมาไทยเมื่อปี 2554 โดยเปิดสาขาแรกที่ centralwOrld เพราะถือเป็นแลนด์มาร์กที่ทุกคนรู้จักกัน

 

Timeline UNIQLO ประเทศไทย

 

หลังจากนั้นในเดือนเมษายน 2556 ได้ขยายไปเปิดแห่งแรกในต่างจังหวัดที่พัทยา ก่อนเดือนตุลาคม 2566 จะขึ้นเหนือไปเปิดที่เชียงใหม่ ถัดมาก็เปิดสาขาแรกในภาคใต้ที่ภูเก็ต และภาคอีสานที่อุดรธานีเมื่อเดือนมีนาคม 2559

 

เดือนมีนาคม 2561 เปิดโรดไซด์สาขาแรกในประเทศไทยและอาเซียน ณ สาขาพัฒนาการ ก่อนที่เดือนมีนาคม 2563 จะตั้ง ‘ญาญ่า อุรัสยา’ เป็นพรีเซนเตอร์คนแรกในไทย

 

ผ่านมา 12 ปี UNIQLO ขยายไป 65 สาขาใน 25 จังหวัด รวมร้านค้าออนไลน์ พร้อมกับตั้งเป้าที่จะเติบโตในระดับ 2 ดิจิไปจนถึงปี 2573

 

“ความสำเร็จในไทยมาจากปรัชญา LifeWear ซึ่งเต็มไปด้วยความเรียบง่ายแต่คุณภาพสูง ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะยิ่งเสื้อผ้าเรียบง่ายเท่าไร ยิ่งต้องใส่ใจคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น”

 

โยชิทาเกะ วากากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด

 

ใหญ่สุดในไทย แต่ยังไม่ได้เป็น Flagship Store

 

สำหรับ UNIQLO centralwOrld จะตั้งอยู่ที่ชั้น 3 รวมพื้นที่มากกว่า 3,370 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นสาขาที่มีสินค้าครบทุกไลน์อัพของ UNIQLO

 

หากใครเคยไป UNIQLO Ginza ที่ตั้งอยู่ในย่านหรูอย่างกินซ่า ใจกลางกรุงโตเกียว ตั้งอย่างโดดเด่นด้วยพื้นที่ 12 ชั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับ UNIQLO centralwOrld พื้นที่จะไม่ต่างกันนัก แต่สิ่งที่ต่างคือสาขาแรกของไทยยังไม่ได้เป็น Flagship Store

 

เพราะการจะเป็น Flagship Store ได้นั้นมาพร้อมกับปัจจัยหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีพื้นที่ Display ที่คนทั่วไปสามารถเห็นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาในร้าน ซึ่ง UNIQLO centralwOrld ยังติดที่เรื่องนี้

 

 

แต่ถึงอย่างนั้น “UNIQLO centralwOrld สำคัญกับเรามาก และเป็นสาขาที่แตกต่างจากสาขาอื่นๆ ในโลก เพราะน้อยมากที่จะได้พื้นที่กว้างแต่อยู่ในชั้นเดียวกันแบบนี้ และเป็นสาขาที่ทำยอดขายในลำดับต้นๆ มาโดยตลอด”

 

ครั้งแรกของ RE.UNIQLO STUDIO บริการซ่อมเสื้อผ้าให้นำกลับมาใช้ใหม่

 

อย่างที่รู้กันว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเสื้อผ้าแฟชั่นเองก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนเป็นอย่างมาก

 

มูลนิธิ Ellen MacArthur องค์กรชั้นนำในสหราชอาณาจักร เปิดเผยสถิติที่น่าตกใจว่า เสื้อผ้าจำนวน 92 ล้านตันถูกฝังกลบทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าจากแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น ก่อให้เกิดแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ต้องออกมาริเริ่มแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

เช่นเดียวกับ UNIQLO ที่ได้เปิด ‘RE.UNIQLO STUDIO’ บริการใหม่ครั้งแรกในไทย โดยเป็นประเทศที่ 14 ของโลก และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย 

 

RE.UNIQLO STUDIO

 

โครงการภายใต้ RE.UNIQLO จะช่วยต่ออายุให้กับเสื้อผ้า UNIQLO ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ผ่านการซ่อมแซมหรือเติมแต่งสไตล์รักษ์โลก โดยนำเทคนิคการตัดเย็บด้วยมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า Sashiko มาให้บริการด้วยเช่นกัน

 

Gift Card มาแล้ว!

 

อีกเรื่องที่มาพร้อมกับ UNIQLO centralwOrld โฉมใหม่คือ UNIQLO Gift Card บัตรของขวัญที่มาพร้อมคอลเล็กชันพิเศษร่วมกับศิลปินไทย เช่น Sahred Toy, YOON PHANNAPAST, BHBH และ JARB เลือกมอบบัตรของขวัญได้ 2 มูลค่า คือ 1,000 บาท และ 2,000 บาท 

 

โดยปัจจุบัน บัตรของขวัญสามารถใช้ได้เฉพาะร้าน UNIQLO ทุกสาขาในกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร และนนทบุรี และตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไปจะสามารถใช้ได้ที่ร้าน UNIQLO ทุกสาขาในประเทศไทย และบัตรของขวัญไม่สามารถใช้ได้ที่ออนไลน์สโตร์

 

UNIQLO Gift Card แบบต่าง ๆ

 

โยชิทาเกะอธิบายว่า การเปิดขาย Gift Card มาจากการเชื่อมั่นในสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถมอบเป็นของขวัญให้กับคนอื่นได้ 

 

“แต่การจะซื้อเสื้อผ้าให้คนอื่นเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะไม่รู้ว่าไซส์อะไร หรือชอบเสื้อแบบไหน ดังนั้น Gift Card จึงเหมาะสมกว่า ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดึงลูกค้าใหม่ๆ ให้เข้ามาหาเรา”

 

จัดแสดง Global Brand Ambassador ที่ล้วนแล้วแต่เป็น ‘นักกีฬา’

 

ใน UNIQLO centralwOrld มีส่วนจัดแสดงเพื่อแนะนำ Global Brand Ambassador ของ UNIQLO พร้อมไอเท็มไลฟ์แวร์ โดยจัดแสดง Roger Federer Collection by JW ANDERSON 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ Global Brand Ambassador ของ UNIQLO ทั้ง 6 คนล้วนแล้วแต่เป็น ‘นักกีฬา’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อายุมุ ฮิราโนะ (Ayumu Hirano) นักกีฬาสโนว์บอร์ด, โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer), เค นิชิโคริ (Kei Nishikori), ชินโกะ คุนิเอดะ (Shingo Kunieda), กอร์ดอน รีด (Gordon Reid) ทั้ง 4 คนเป็นนักเทนนิส และ อดัม สก็อตต์ (Adam Scott) ผู้เป็นโปรกอล์ฟ

 

ภายในร้าน UNIQLO centralwOrld

 

“ที่เป็นนักกีฬาเพราะเรามองว่ากีฬาเป็นสิ่งที่ไม่มีกำแพงกั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษา หรือวัฒนธรรม ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจต่างๆ อีกทั้งการที่นักกีฬาสวมใส่เสื้อผ้าของ UNIQLO ก็เป็นการสะท้อนถึงการสวมใส่ได้ในทุกกิจกรรม แม้กระทั่งกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวมากๆ”

 

Self-Checkout ที่ตอนแรกไม่คิดว่าจะมีคนใช้

 

สำหรับใครที่ไปเยือน UNIQLO ที่ญี่ปุ่น น่าจะเคยเห็นเครื่อง Self-Checkout หรือการชำระเงินด้วยตัวเอง ซึ่งแม้จะไม่สามารถจ่ายเองได้เพราะเราทำ Tax Refund จึงต้องจ่ายกับพนักงาน แต่ที่นี่จะมีการใช้อย่างเป็นทางการด้วย

 

แม่ทัพ UNIQLO ย้ำว่า Self-Checkout ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะต้องการลดพนักงาน แต่อยากให้พนักงานสามารถไปช่วยเหลือลูกค้าในเรื่องอื่นๆ มากกว่า เพราะมีลูกค้าจำนวนมากที่หาเสื้อผ้าไม่เจอ เมื่อไม่ต้องเป็นแคชเชียร์แล้วก็สามารถไปช่วยลูกค้าได้

 

จริงๆ แล้ว Self-Checkout ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ UNIQLO ในไทย แต่มีการทดลองใช้มาสักระยะแล้ว และผลที่ได้ก็เซอร์ไพรส์พอสมควร

 

พื้นที่ Self-Checkout ร้าน UNIQLO centralwOrld

 

“ตอนแรกเราคิดว่าลูกค้าคนไทยอาจจะไม่ไปใช้งาน แต่ลูกค้ากว่า 50% ใช้ Self-Checkout ทำให้ระยะเวลาที่รอคิดเงินน้อยลง” โยชิทาเกะกล่าวพร้อมเสริมว่า Self-Checkout จะขยายไปทุกสาขาหรือไม่นั้นคงตอบไม่ได้ แต่เบื้องต้นจะขยายไปยังสาขาใหญ่ๆ ก่อน

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วนเท่านั้นสำหรับการปรับปรุง UNIQLO สาขาแรกในไทย ส่วนของจริงจะเป็นอย่างไรคงต้องไปหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง

 

THE STANDARD WEALTH ทิ้งท้ายการพูดคุยที่กินเวลาไปกว่า 1 ชั่วโมงด้วยคำถามที่ลูกค้าหลายคนคงสงสัยกับราคาที่ปรับขึ้นมาของ UNIQLO ซึ่งบางชิ้นเพิ่มขึ้นมามากถึง 500 บาท

 

“เราคิดอยู่เสมอว่าต้องตั้งราคาที่ลูกค้าสามารถซื้อหาได้ง่าย แต่ตอนนี้ยังมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องปรับขึ้นราคาเพราะต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เราจะมีการสำรวจทุกๆ ครึ่งปีเพื่อทำให้ราคาและคุณค่าของสินค้าสมดุลกัน แต่ที่แน่ๆ เราชื่อว่า UNIQLO เป็นหนึ่งในท็อปแบรนด์ที่ตั้งราคาได้สมดุลที่สุดแล้ว” โยชิทาเกะกล่าว

 

หน้าร้าน UNIQLO centralwOrld

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising