รายงานฉบับล่าสุดของ ยูนิเซฟ ชี้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทย จำนวน 1 ใน 10 คน กำลังเผชิญภาวะความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว
รายงานยูนิเซฟยังระบุว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว ทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีประมาณ 181 ล้านคน ที่กำลังประสบปัญหาความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง หรือได้รับประทานอาหารไม่เกิน 2 หมู่ต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำ สงคราม วิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงราคาอาหารและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2022 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลด้านโภชนาการเด็ก โดยพบว่ามีเด็กในประเทศไทยเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก นอกจากนี้ร้อยละ 13 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปียังมีภาวะแคระแกร็น และร้อยละ 7 มีภาวะผอมแห้งเนื่องจากขาดสารอาหารเป็นระยะเวลานาน
ในปัจจุบันการตลาดเชิงรุกที่มุ่งเป้าไปยังผู้ปกครอง ส่งผลให้เกิดอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งมีสารอาหารต่ำ ราคาถูก และไม่ดีต่อสุขภาพของเด็กๆ เพื่อยุติปัญหาความยากจนด้านอาหารเด็ก ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปฏิรูประบบอาหาร จัดให้มีบริการด้านโภชนาการ และพัฒนาระบบคุ้มครองสังคมเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อยให้สามารถจัดหาอาหารที่มีประโยชน์แก่เด็กๆ ได้
อัปเดตและเผยแพร่ล่าสุด: 7 มิถุนายน 2024
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต
อ้างอิง: