ยูนิเซฟ (UNICEF) มีความกังวลอย่างยิ่งต่อระดับค่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กประมาณ 13.6 ล้านคนทั่วประเทศ สถานการณ์ที่น่าห่วงนี้ต้องการการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็ก
จากรายงาน Over the Tipping Point ของ UNICEF ในปี 2023 พบว่า จำนวนเด็กในประเทศไทยที่เผชิญความเสี่ยงสูงจากฝุ่น PM2.5 นั้นมีมากกว่าจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศอื่นๆ เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้ง
คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เราต้องการความมุ่งมั่น ความร่วมมือ และการดำเนินการที่เด็ดขาดจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อจัดการกับสาเหตุของมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง นี่เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เด็กทุกคนได้เติบโตในโลกที่ปลอดภัย สะอาด และยั่งยืน”
ในประเทศไทยระดับฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายในช่วงนี้ ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อที่เด็กๆ จะได้ไม่ต้องเสียวันเรียนไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ UNICEF กำลังจัดทำการศึกษาวิจัยโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเน้นการปรับปรุงอาคารและห้องเรียนให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศ รวมถึงฝุ่น PM2.5 ได้ดียิ่งขึ้น งานวิจัยนี้ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ในปีนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการผลักดันการดำเนินการของรัฐบาลและระดมทรัพยากรเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ โดยฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และปัญหาการพัฒนาสมอง นอกจากนี้เด็กยังหายใจรับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบปริมาณต่อน้ำหนักตัว และดูดซับมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ ในขณะที่ปอด ร่างกาย และสมองยังคงเจริญเติบโตไม่เต็มที่
PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเล็กพอที่จะเข้าสู่ปอดลึกและกระแสเลือด อนุภาคเหล่านี้สามารถทำลายระบบอวัยวะหลายส่วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคหอบหืด ปอดอักเสบ และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังในเด็ก การสัมผัสฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวยังเชื่อมโยงกับโรคไม่ติดต่อในผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และมะเร็งปอด
จากรายงานสภาวะอากาศโลก (The State of Global Air) ฉบับที่ 5 ซึ่งเผยแพร่โดย Health Effects Institute และ UNICEF ชี้ว่า ในปี 2021 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีราว 700,000 คนทั่วโลก หรือคิดเป็นวันละเกือบ 2,000 คน ต้องเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองของการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มอายุนี้ทั่วโลก รองจากภาวะทุพโภชนาการ รายงานยังระบุด้วยว่าฝุ่น PM2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกในอนาคต
เด็กกลุ่มเปราะบางที่สุดคือกลุ่มที่ต้องรับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด เพราะพวกเขามีทางเลือกน้อยกว่าที่จะปกป้องตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ข้อมูลทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าเด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูง โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอย่างชัดเจน
UNICEF ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและภาคเอกชนเร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพื่อลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นย้ำว่าการตัดสินใจที่กล้าหาญและมองการณ์ไกลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาระยะยาวแทนการใช้มาตรการระยะสั้น
ภาพ: ปฏิภัทร จันทร์ทอง / UNICEF
อ้างอิง:
- UNICEF