“ผมอยากให้ทุกคนใช้ทั้งสมองและหัวใจ ทำความเข้าใจกับสงครามและผู้ลี้ภัย ใช้สมองคิดวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ใช้หัวใจมองความเดือนร้อนของเพื่อนมนุษย์ มองผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน” คือประโยคหนึ่งที่ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเดินทางที่ ‘เถื่อน’ ที่สุด เจ้าของหนังสือ ‘เถื่อนเจ็ด’ และรายการ ‘เถื่อน (Travel)’ พูดเอาไว้ในงาน Wannasingh Talk for UNHCR หัวข้อ ‘สงครามและน้ำใจ’ จากแคมเปญระดมทุนเพื่อผู้ลี้ภัย Namjai for Refugees เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา
จากการเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ทำให้ได้เจอกับ ‘มิตรสหายร่วมรบ’ ของพ่อและแม่ตั้งแต่เด็ก ทำให้สิงห์ค่อยๆ พาตัวเอง ‘เดินทาง’ เข้าสู่พื้นที่อันตรายและเต็มไปด้วยความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพยายามหาคำตอบว่ามนุษย์เดินทางไปสู่ ‘สงคราม’ ที่รุนแรงแบบนั้นได้อย่างไร
หากเทียบเป็นระดับการศึกษาเขาเพิ่งอยู่ในระดับปริญญาตรี เพราะสงครามยังมีมิติอันหลากหลายที่ตัวเขาเองยังไม่เข้าใจ แต่การเดินทางทุกครั้ง นอกจากสงครามและความขัดแย้ง เขายังมองเห็นแง่งามหลายอย่างในพื้นที่เหล่านั้น และต้องการสื่อสารว่าในสงครามที่โหดร้ายและแสนแห้งแล้ง เรายังมี ‘น้ำใจ’ มอบให้กันได้อยู่เสมอ
คำว่าผู้ลี้ภัย มันเป็นคำที่ถูกยัดให้กับคนที่เคยเป็นประชาชนทั่วไปมาก่อน วันดีคืนดี ถูกเปลี่ยนสถานะจาก a person กลายเป็น a refugee ซึ่งถ้าเป็น a person เขาจะถามคุณว่า คุณทำงานอะไร แต่พอเป็น a refugee จะถูกถามว่าคุณหนีมาจากอะไร ตอนนี้คุณขาดอะไรบ้าง แค่นี้ก็ลดศักดิ์ศรีความเป็นคนไปมาก
มุมมองตั้งแต่เริ่มต้น เด็กชายวรรณสิงห์ คิดว่าสิ่งที่เรียกว่าสงครามคืออะไร และแตกต่างจากความคิด ณ ปัจจุบันนี้อย่างไรบ้าง
เรียกว่าการสู้รบก่อนดีกว่า ผมได้ยินมาในบ้านตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จิระนันท์ พิตรปรีชา) ก็จับปืนสู้กับรัฐบาลในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ทุกปีจะมีสหายเก่าผู้ร่วมรบร่วมสุขกันในป่ามาเลี้ยงฉลอง ร้องเพลงปฏิวัติที่บ้าน เป็นบรรยากาศที่ไม่คิดว่าเด็กทุกคนจะได้เห็น (หัวเราะ) ถามว่ามองมันเป็นสงครามไหม ก็เปล่า เป็นความรู้สึกสนุกที่เห็นพ่อแม่มีเพื่อนแปลกๆ เยอะ ซึ่งก็ทำให้ค่อนข้างได้รับรู้ว่าโลกมีความขัดแย้งตั้งแต่เรายังอายุน้อย แต่กว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ คืออะไร ชีวิตก็ผ่านมาสักพักแล้ว
ผมมาเห็นสงครามระดับโลกจริงๆ ตอนอายุ 24 ปี ได้เริ่มเดินทางและทำรายการท่องเที่ยว แรกๆ ก็ไปที่ทั่วไป อินเดีย ภูฏาน สงบๆ ศึกษาประวัติศาสตร์ ศาสนา แต่จุดที่ทำให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกนี้จริงๆ คือ จุดที่ได้ลงพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมาก่อน เริ่มจากรวันดา (Rwanda) ได้เห็นพิพิธภัณฑ์ที่เขาเอาศพเป็นร้อยๆ มาตากแห้งให้คนดูเพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำว่าเคยมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปคุกขังนักโทษการเมืองสมัยก่อนที่กัมพูชา ได้เห็นเขมรแดง เห็นคิลลิ่ง ฟิลด์ที่มีโครงกระดูกวางอยู่เต็มไปหมด เห็นวิธีการทรมานต่างๆ มากมาย รวมทั้งหลายๆ สถานที่ที่ทำให้ผมสนใจและงงว่าทำไมมนุษย์ไปถึงจุดนั้นได้ เราเคยรู้เรื่องสงครามจากบทเรียนกันอยู่แล้ว แต่การได้เห็นว่าสงครามจริงๆ หน้าตาเป็นอย่างไร มันเปลี่ยนความรู้สึกไปเยอะมาก
ความสงสัยนั้นพาผมไปสู่การศึกษา หลายคนอาจจะใช้วิธีหาข้อมูล แต่ผมไม่ใช่สายวิชาการ เป็นสายเดินทาง สารคดี เลยเลือกเดินทางไปพื้นที่ทั่วโลกที่มีความขัดแย้ง จากตอนแรกเริ่มสนใจเรื่องความขัดแย้งของสงคราม ขยายไปด้านมืดต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งยาเสพติด โสเภณี การกดขี่ทางสิทธิเสรีภาพ เพราะอยากเข้าใจว่าอะไรที่นำให้มนุษย์ที่เกิดมาจากท้องแม่เหมือนกันไปสู่จุดเหล่านั้น ผมเชื่อว่าเรื่องคนดี คนเลว เป็นปัจเจกบุคคล แต่สังคมจะไปสู่จุดนั้นได้จริงๆ มันต้องมีเงื่อนไขบางอย่างเกิดขึ้น ที่นำพามนุษย์ร่วมกันดำดิ่งไปสู่ความมืดมิดตรงนั้นได้
หลังจากเดินทางมานานพอสมควร พอจะได้คำตอบอะไรกลับมาบ้าง
ถ้ามีถึงปริญญาเอก ตอนนี้ผมคงประมาณปริญญาตรี ปี 2 (หัวเราะ) เวลาได้ยินเรื่องสงคราม เรามักได้ยินเหตุผลเชิงการเมืองว่า ประเทศนั้นขัดผลประโยชน์กับประเทศนี้ บุกไปเพื่อแย่งน้ำมัน หรือต้องการกันอาณาเขตเอาไว้ จึงตัดสินใจไปรบกับประเทศนั้น ทุกอย่างฟังดูเป็นเหตุเป็นผล แต่ในขณะเดียวกันดูเหมือนสัตว์ป่า สัตว์ทุกชีวิตต้องการอาหาร เอาตัวรอด มันเหมือนชาติแต่ละชาติเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ถ้าไม่มีกรงมาขังก็จะกัดกันทันที ซึ่งในแง่หนึ่งคงเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่แค่แง่เดียวที่เราจะมองสงครามได้
ในคำว่าสงครามมันมีมากกว่าคำว่ารัฐบาล มีมากกว่าคำว่าอำนาจและผลประโยชน์ มันมีอุดมการณ์อยู่ตรงนั้น มีความเกลียดชัง จริยธรรม พฤติกรรม มีการฆ่ากันจริงๆ มีเลือดที่ไหลจริงๆ อยู่ เลยคิดว่าสงครามเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นคนได้หลายมิติมากๆ เลยอยากศึกษาและเข้าใจให้มากขึ้นกว่านี้
การลงพื้นที่ได้ไปเห็นสิ่งเหล่านั้นด้วยตาจริงๆ แตกต่างจากเวลารีเสิร์ชหาข้อมูลจากที่ต่างๆ มากแค่ไหน
ต่างกันเยอะ คือมันไม่ได้ขัดแย้งกันในเชิงข้อมูล หลายๆ อย่างที่อ่านสามารถอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามลำดับ คนนี้โดนลอบสังหาร มีกลุ่มการเมืองนี้เริ่มเข้ามามีอำนาจ แต่ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เหล่านั้น คนที่เดือดร้อนจากสงครามเขาต้องย้ายไปอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในตำรามากเท่าไหร่ และเราสามารถพบเรื่องเหล่านี้ได้ในการเดินทาง
เวลาเราได้ยินคำว่าผู้ลี้ภัย กับการเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจริงๆ ที่อัฟกานิสถาน ความกดดันต่างกันเยอะมาก แล้วความกดดันที่พวกเขาต้องเจอทุกวันส่งมาหาเราอย่างรวดเร็ว พอออกมาจะรู้สึกว่า โห โคตรโชคดีเลยที่ออกมาได้ทัน ผมเชื่อว่าหลายคนรู้สึกแหละว่าไปเองกับการฟังเขามาให้ความรู้สึกคนละแบบ แต่จะให้ทุกคนไปเองก็ใช่เรื่องใช่ไหมครับ (หัวเราะ) เราก็ทำเท่าที่ทำได้ในการนำเสนอสิ่งที่ได้เจอมาในฐานะสื่อต่อไป
มีเรื่องไหนที่เจอมาแล้วเปลี่ยนความคิดของคุณไปแบบสิ้นเชิงเลยไหม
ไม่ได้เปลี่ยนความคิด แต่เปลี่ยนมุมมองและความรู้สึก ผมไม่มีทางเจอผู้ลี้ภัยทุกคนบนโลก แต่ผมได้เห็นหน้าและเห็นชื่อผู้ลี้ภัยบางคนมา สำหรับผมเขาจะกลายเป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยทั้งโลกซึ่งประทับตราอยู่ในหัวผมไปแล้ว มันทำให้ผมเคารพ และมีความรู้สึกร่วมกับพวกเขา ได้เห็นความสามารถของเขาว่ามันไม่ได้ด้อยไปกว่าพวกเราที่อยู่กันอย่างสบายๆ เลย ได้เห็นว่าเราโชคดีขนาดไหน และเงื่อนไขในชีวิตที่พาให้เขามาอยู่ตรงนี้มันเกิดจากความโชคร้ายมากขนาดไหน
ทั้งหมดทั้งมวลก็นำมาซึ่งความรู้สึกอยากมีประโยชน์ต่อเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โชคดีได้ทำงานกับองค์กรอย่าง UNHCR ที่เปิดโอกาสในการทำประโยชน์ อย่างงานทอล์กครั้งนี้ หรือต้นปีที่แล้วที่ได้ไปค่ายผู้ลี้ภัยด้วยกัน ในอนาคตก็อยากมีส่วนร่วมยิ่งขึ้นอีก และแน่นอนว่าองค์กรนี้ไม่ใช่องค์กรเดียวที่ช่วยผู้ลี้ภัย และผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่มิติเดียวของสงคราม มีมิติที่เราควรศึกษาและทำความเข้าใจอีกเยอะมาก ถ้าเรามีโอกาสไปล้วงข้อมูลมาย่อยให้มหาชนได้ศึกษาเรื่องนี้เรื่อยๆ อย่างน้อยเราก็สามารถเคารพตัวเองได้ว่าเรามีประโยชน์บ้างแล้วในเรื่องนี้ ก็จะพยายามทำต่อไป
ประเด็นสำคัญที่สุดที่อยากสื่อสารในงานทอล์กครั้งนี้คืออะไร
ผมอยากมองสงครามจากสองแง่ หนึ่งคือใช้สมองมอง วิเคราะห์จริงๆ ว่าทำไมถึงมีสงคราม อีกแง่คือใช้หัวใจมอง มองเห็นผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ เห็นความเดือดร้อนของเขาอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งความรู้สึกและความคิดของคนที่มาฟังด้วย
นอกจากนั้น แน่นอนว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุน เพราะ UNHCR ก็ต้องการเงินทุนไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนเกิด การย้ายโลเคชันผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัยในค่าย หรือการสร้างกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ทุกอย่างต้องใช้เงินทุนในการช่วยเหลือ ที่พวกเราพอจะช่วยได้ในฐานะคนมีชื่อเสียงก็คือช่วยดึงมหาชนมาสนใจเรื่องนี้ แล้วให้เท่าที่ให้ได้
กับบางคนที่ตั้งคำถามว่า เราจำเป็นต้องรู้เรื่องหรือสนใจผู้ลี้ภัยที่ไกลตัวเราเหลือเกินไปทำไม จะตอบเขาว่าอะไรดี
ตอบว่า ครับพี่ แล้วไปพูดให้คนที่เขาอยากฟังดีกว่า (หัวเราะ) ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะไปยัดเยียดสิ่งที่เขาไม่อยากรู้ แต่สิ่งที่ผมเชื่อคือ ถ้าใครมีโอกาสได้รู้เรื่องอย่างละเอียด เขาจะหันมาสนใจเอง และจะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัวด้วย แต่ถ้าจะให้พูดแล้วกลายเป็นโต้เถียงว่า ผมพูดเรื่องนี้เพราะ 1 2 3 4 5 แล้วเขาเถียงกลับมา 1 2 3 4 5 แล้วมีกองเชียร์แต่ละฝ่ายมากดไลก์ มาเถียงกัน ผมไม่ยุ่งด้วยดีกว่า เพราะมันไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นกับผู้ลี้ภัยบนโลกใบนี้
ยิ่งเดินทางหาคำตอบมากขึ้น สิ่งที่คุณได้รับคือความเข้าใจที่มากขึ้น หรือกลายเป็นว่ามีคำถามเกิดขึ้นมากกว่าเดิม
เข้าใจในบางแง่ และสิ้นหวังในบางแง่ เพราะไม่รู้ว่าจะหยุดมันได้อย่างไร ยิ่งไปเห็นเรายิ่งเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติของคน ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล แค่ในเฟซบุ๊กของคนไทยเรายังหยุดให้คนด่ากันไม่ได้เลย ไม่รู้จริงๆ ว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้คืออะไร
พอสิ้นหวังมากๆ เคยคิดถึงขนาดว่าเราจะไม่ศึกษาเรื่องพวกนี้อีกแล้วบ้างไหม
ไม่นะครับ เหมือนคนเป็นหมอที่ผ่านเหตุการณ์คนไข้ตายมาหลายคน ไม่ว่าจะด้วยความผิดพลาดของเขาหรือไม่ก็ตาม แต่เขาก็ต้องเป็นหมออยู่ดี เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการเป็นหมอที่ดีขึ้น เราเองในฐานะสื่อ ก็ได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอเรื่องพวกนี้ที่มีประโยชน์มากขึ้นมาตลอด แล้วทุกครั้งที่เดินทางไป แม้จะเป็นประเด็นเดิมๆ ความขัดแย้งเดิมๆ แต่ด้วยความเข้าใจของเราที่มากขึ้น ยังรู้สึกว่าสามารถนำเสนออะไรที่มันลึกกว่าเดิมได้
คิดว่าผลงานล่าสุดอย่างรายการ ‘เถื่อน ทราเวล’ ทำหน้าที่ในการสร้างประโยชน์กับคนอื่นแบบที่คุณคาดหวังได้มากขนาดไหน
ตอนแรกมันเริ่มด้วย self interest อย่างเดียวเลย ใครถามว่าทำทำไม ตอบอย่างเดียวว่ากูอยากทำ แค่นั้นจริงๆ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นการที่มีคนดูเยอะพอสมควรมันเลยเซอร์ไพรส์เรามากๆ ไม่รู้ว่าคอมเมนต์ในยูทูบหรือเฟซบุ๊กมันมีพลังมากขนาดไหน แต่การได้เห็นคนเปลี่ยนความคิดเพราะงานของเรา ทำให้เขาเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ก็ทำให้รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ ทำให้เราภูมิใจ มีกำลังใจอยากทำต่อ
ทุกคนอยากรู้แหละว่างานของตัวเองมีความหมายอะไรสักอย่างกับโลก ผมถือว่าเป็นความโชคดีที่เราได้รู้สึกอย่างนั้น รู้สึกเต็มจากการทำงานของเรา ที่ไปตอบโจทย์ของใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะในแง่ทำให้เขาเข้าใจความขัดแย้ง เข้าใจผู้อื่นบนโลกมากขึ้น หรือในแง่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาลุกขึ้นไปทำตามฝันของตัวเองมากขึ้น เพราะการที่คนบ้าแบกกล้องไปเที่ยวคนเดียวทั่วโลก มันคงอินสไปร์ให้ได้ว่า เออ กูคงไปทำอะไรบ้าๆ พวกนี้ได้เหมือนกัน งานของผมตรงนี้มันเป็นการเติมเต็มตัวเองในทุกมิติ สิ่งที่ไม่ไหวคือสังขารอย่างเดียวเลย
ยังมีความรู้สึกอยากไปเที่ยวสบายๆ ไม่ต้องลำบากอยู่ไหม
นานๆ ทีก็ถวิลหาความสบายของญี่ปุ่นและอเมริกาบ้างเหมือนกัน (หัวเราะ) กำลังวางแผนว่าจะไปญี่ปุ่น 10 วัน ผมโคตรอยากไปเลย เดินอยู่ฮาราจูกุ แช่ออนเซน ชีวิตมันต้องทำอะไรแบบนั้นบ้างนะ (หัวเราะ)
เราสามารถพบแง่งามอะไรได้บ้างในพื้นที่เสี่ยงอันตรายเหล่านี้
เยอะมากครับ ผมว่ามิตรภาพที่ผมได้จากพื้นที่เหล่านี้มันลึกซึ้งพอสมควรนะครับ เราอาจจะเริ่มต้นจากการทำงาน ให้เขาพาไปที่ต่างๆ แต่สุดท้ายเรากลายเป็นเพื่อนกันจริงๆ ถ้าไปดูเฟซบุ๊กของผมจะมีเพื่อนที่โพสต์รูปตั้งแต่ ยีราฟกลางทุ่งหญ้าสะวันนา ยันทะเลทรายในจอร์เจีย ยันเช้าวันนี้มีคนยิงกันที่เมเดลลิน (Medellín) โคลอมเบีย ถ้านับว่านี่คือของสะสมก็เป็นของสะสมที่ผมภูมิใจ คือมิตรภาพจากพื้นที่แปลกๆ ทั่วโลก ต่อไปคงมีมากขึ้นอีก มันคือด้านหนึ่งที่สวยงามในพื้นที่เหล่านี้
อีกด้านหนึ่งที่รู้สึกว่าน่าเสียดายคือ ความสามารถของคนในพื้นที่ที่ถูกกลบด้วยเสียงระเบิด ไม่ว่าจะเป็นที่ไกลๆ อย่างอัฟกานิสถาน หรือที่ใกล้ๆ อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผมไปมาหลายครั้ง แล้วเห็นว่าน้องๆ ที่นั่นมีความสามารถสุดๆ แต่พอพูดถึง 3 จังหวัด ไม่มีใครคิดถึงนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร การแสดง ฯลฯ มีแต่คนคิดถึงระเบิด เสียงระเบิดกลบเสียงอื่นทิ้งหมดเลย
ภาพไหนที่คุณได้เห็นแล้วรู้สึกประทับใจมากที่สุด
สงครามคือพื้นที่ที่ฮีโร่เกิดได้ง่ายและเยอะที่สุด เพราะความกดดันย่อมดึงทั้งด้านที่ดีที่สุดและดำมืดที่สุดของคนออกมา ผมได้เจอฮีโร่จริงๆ หลายคน เช่น ตำรวจหญิงในอัฟกานิสถาน พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง แถมเป็นหนึ่งในประเทศที่สิทธิสตรีต่ำที่สุดในโลก การทำร้ายร่างกายผู้หญิงในบ้านเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงต้องขออนุญาตญาติๆ ก่อนออกมาทำงานนอกบ้าน ยิ่งอาชีพอย่างตำรวจแทบเป็นไปไม่ได้
สิ่งที่ผมเห็นคือตำรวจสารวัตรหญิงคนหนึ่ง มารับหน้าที่เป็นหน่วยดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว วันๆ รับเรื่องร้องเรียนจากหญิงสาวในพื้นที่ว่าโดนสามีทำร้ายมาอย่างไรบ้าง คอยลาดตระเวนไปยังชุมชนต่างๆ ไปโรงเรียนหญิงล้วนเพื่อให้ข้อมูลว่าถ้าถูกพ่อซ้อมหรือมีเรื่องอะไรให้โทรมาที่นี่เลยนะ อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ได้ใหญ่มากในเชิงสงครามทั้งสงคราม แต่เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นว่า เออ ในพื้นที่เหล่านี้ ยังมีความกล้าหาญแบบนี้อยู่ แล้วเราอยากเอามาเล่าต่อมากๆ
มีภาพไหนบ้าง ที่อยากให้ทุกคนได้มาเห็นด้วยตาตัวเองจริงๆ
พูดยากเหมือนกันนะ ผมอาจจะไม่ได้คิดเป็นภาพเดียว แต่คิดถึงภาพรวมในความเป็นคนของเขา ยกตัวอย่างในค่ายของผู้ลี้ภัย มันเริ่มจากมุมมองในการเข้าไปด้วย ถ้าเราบอกว่า วันนี้จะเอาของมาบริจาคนะ ในแง่หนึ่งเราอาจจะไปช่วยเขาจริง แต่ในแง่หนึ่งเราก็ไม่ได้มองเขาในฐานะคนจริงๆ ไม่ได้ไปพูดคุย ถามไถ่ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไรอยู่ น่าสนใจจัง เพราะแค่มีคนหันมาสนใจเรื่องพวกนี้สักที หรือแค่ให้โอกาสเขาได้ระบายก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งมันอาจจะต้องมีเวลาไปคลุกคลีกับพวกเขาจริงๆ
อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกคือ คำว่าผู้ลี้ภัย มันเป็นคำที่ถูกยัดให้กับคนที่เคยเป็นประชาชนทั่วไปมาก่อน วันดีคืนดี ถูกเปลี่ยนสถานะจาก a person กลายเป็น a refugee ซึ่งถ้าเป็น a person เขาจะถามคุณว่า คุณทำงานอะไร แต่พอเป็น a refugee จะถูกถามว่าคุณหนีมาจากอะไร ตอนนี้คุณขาดอะไรบ้าง แค่นี้ก็ลดศักดิ์ศรีความเป็นคนไปมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสได้ไปเห็นภาพนั้นจริงๆ นอกจากการมองเห็น อาจจะเริ่มจากการให้เกียรติกันด้วยบทสนทนาในระดับที่ไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัย แต่เป็นการสนทนากับคนธรรมดาทั่วๆ ไป แค่นั้นก็พอ
- วรรณสิงห์ มีอัตราเฉลี่ยการเดินทางไกลอยู่ที่ 14-15 ทริปต่อปี
- เป้าหมายต่อไปที่วรรณสิงห์อยากเดินทางไปสำรวจ คือหนึ่งในสถานที่ที่ความขัดแย้งรุนแรงที่สุด อย่าง โซมาเลีย และซีเรีย รวมทั้งการสำรวจชีวิตของเผ่ามนุษย์กินคนในปาปัวนิวกินี และการเจาะลึกเรื่องหญิงบริการในเมืองไทยให้ถึงแก่น
- สำหรับผู้ที่สนใจร่วมปันน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัย สามารถเข้าไปสมทบทุนได้ที่ www.unhcr.or.th/donate และช่องทาง SMS พิมพ์ 30 ส่งไปที่ 4642789 (บริจาคครั้งละ 30 บาท)