สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมกลับเข้าเป็นสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) อีกครั้ง หลังจากที่เคยถอนตัวออกจากองค์การดังกล่าวในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2017 เนื่องจากมองว่า UNESCO มีอคติและเลือกปฏิบัติต่อชาวอิสราเอล
คณะกรรมการ UNESCO มีมติเห็นชอบการเปิดรับสหรัฐฯ กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งด้วยมติ 132 ต่อ 10 คะแนนเสียง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่ง 10 ประเทศที่ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้กับสหรัฐฯ ได้แก่ รัสเซีย เกาหลีเหนือ ปาเลสไตน์ เบลารุส จีน เอริเทรีย อินโดนีเซีย อิหร่าน นิการากัว และซีเรีย
โดยสหรัฐฯ จะกลับเข้าเป็นสมาชิกของ UNESCO อย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ได้ตอบรับการเชิญเข้าร่วมองค์การ UNESCO อย่างเป็นทางการ
ด้านบลิงเคนระบุว่า “การลงมติดังกล่าวจะมีส่วนฟื้นฟูสถานะความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในประเด็นที่มีความสำคัญและมีคุณค่าต่อพลเมืองอเมริกัน
“ผมรู้สึกขอบคุณที่วันนี้ประเทศสมาชิกต่างยอมรับข้อเสนอของเรา ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ สามารถดำเนินขั้นตอนต่อไปในการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การ UNESCO ได้อย่างเต็มที่”
ขณะที่ ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ระบุว่า “วันนี้เป็นวันที่ดีสำหรับองค์การ UNESCO และความร่วมมือพหุภาคี จากแรงผลักดันที่ประสบความสำเร็จในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์การของเรากำลังเดินหน้าสู่ความเป็นสากลอีกครั้งด้วยการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของสหรัฐฯ”
รัฐบาลไบเดนได้เตรียมจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.3 พันล้านบาท) จากปีงบประมาณ 2024 เพื่อนำไปชำระค่าธรรมเนียมและค่าค้างชำระต่างๆ ให้กับองค์การ UNESCO โดยคาดว่าจะมีการจัดสรรงบในลักษณะดังกล่าวนี้ในปีต่อๆ ไป จนกว่าจะชำระภาระหนี้ทั้งหมด 619 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.9 หมื่นล้านบาท) เสร็จสิ้น
แฟ้มภาพ: I RYU / VCG via Getty Images
อ้างอิง: