มาดำดิ่งสำรวจโลกใต้ทะเลอันดามันไปกับ ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพใต้น้ำมือรางวัลระดับโลกจากองค์กร Save Our Seas Foundation 2016 ปัจจุบันเขายังเป็น Emerging League ของ International League of Conservation Photographers
ชินถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 6 ทาเลนต์จากภูมิภาค South East Asia & Oceania ในโครงการ 6×6 Global Talent ของ World Press Photo เขาเชี่ยวชาญภาพถ่ายประเภทสารคดีเชิงสิ่งแวดล้อม และร่วมงานกับ National Geographic (Thai Edition) มานานหลายปีในฐานะ Assignment Photographer เน้นหนักประเด็นทางทะเลที่ชินสามารถถ่ายทอดมุมมองที่สะท้อนปัญหาท้องทะเลไทยได้อย่างถึงแก่น ติดตามผลงานของเขาได้ที่ www.shinsphoto.com/bio
ทุ่งปะการังเขากวางที่อุดมสมบูรณ์ของเกาะบุโหลนเลโผล่พ้นผิวน้ำในช่วงเวลาที่น้ำลงต่ำสุดใต้แสงแดดยามเช้า จังหวัดสตูล แม้ว่าในปัจจุบันแนวปะการังน้ำตื้นในน่านน้ำไทยส่วนมากมีสภาพเสื่อมโทรม แต่ก็ยังสามารถพบเห็นหลงเหลืออยู่ในบางพื้นที่ที่ห่างไกลจากการรบกวน
ปลาสลิดหินเหลืองพุ่งเข้าใส่กล้องเพื่อขับไล่ให้ออกจากอาณาเขตปกป้องไข่ที่มันวางไว้บนแส้ทะเลที่เกาะห้า จังหวัดกระบี่
ปูทหารยักษ์ปากบาราขุดทรายเพื่อหลบซ่อนตัวจากสิ่งคุกคามบนชายหาดแห่งหนึ่งใกล้พื้นที่ปากบารา จังหวัดสตูล ปูทหารชนิดนี้เพิ่งถูกค้นพบไม่นาน และเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้บนชายหาดไม่กี่แห่งในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันใต้ของไทย ด้วยแหล่งที่อยู่อาศัยเพียงน้อยนิด พวกมันจึงสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ หากมีการพัฒนาขนาดใหญ่ตามชายหาดเหล่านี้
ปลากระดี่ทะเลจำนวนมากรวมฝูงกันในความมืดของถ้ำใต้น้ำแห่งหนึ่งภายใต้แสงสลัวที่ลอดผ่านจากปากทางเข้าเกาะห้า จังหวัดกระบี่
กอกัลปังหาสีสดใสถูกห้อมล้อมด้วยฝูงปลากระดี่ทะเลที่เข้ามาใช้เป็นแหล่งอาศัยหลบภัยในแนวปะการังใกล้เกาะตาชัย จังหวัดพังงา ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแนวปะการังของชายฝั่งอันดามันเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้เป็นอันดับที่ 4 ของโลกที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในแนวปะการัง
นักดำน้ำชาวเผ่าอูรักลาโว้ยยกลอบจับปลาที่วางดักทิ้งไว้อยู่ใต้ทะเลด้วยการเติมอากาศใส่ไปในถังพลาสติก จังหวัดสตูล ชาวอูรักลาโว้ย หรือที่รู้จักกันว่า ‘ชาวเล’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะตามชายฝั่งอันดามัน และมีวิถีชีวิตที่ผูกพันทรัพยากรทางทะเล
สัตว์ทะเลหลากชนิดถูกจับอยู่ภายในอวนระหว่างที่ถูกยกขึ้นสู่ผิวน้ำโดยลูกเรือชาวประมงบนเรืออวนล้อมที่ออกหาปลากลางทะเลอันดามันของจังหวัดกระบี่ นับแต่อดีตในช่วงยุค 70s ที่มีการทำประมงแบบอุตสาหกรรมในน่านน้ำไทย ทรัพยากรสัตว์น้ำจากทะเลทั้งสองฝั่งของประเทศได้ลดหายไปเป็นจำนวนมาก และน่านน้ำทะเลอันดามันก็ถูกจัดเป็นพื้นที่ประมงเกินขนาดหนักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ลูกเรือประมงทำการขนย้ายปลาในห้องแช่เย็นบนเรืออวนล้อมที่เทียบท่าอยู่ที่สะพานปลา จังหวัดสตูล
ภาพมุมสูงของอ่าวมาหยาบนเกาะพีพีเลที่เต็มไปด้วยเรือและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จำนวนนักท่องเที่ยวบนชายหาดที่โด่งดังระดับโลกจากภาพยนตร์ The Beach แห่งนี้มีจำนวนมากกว่า 5,000 คนต่อวัน ซึ่งสูงกว่าความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ (Carrying Capacity) ที่ถูกประเมินว่ารองรับได้เพียง 170 คนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งไปมาก เร็วๆ นี้อ่าวมาหยากำลังจะถูกปิดเป็นเวลา 4 เดือนเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู และปรับปรุงมาตรการในการจัดการบริหารการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ต่อไป
แนวปะการังน้ำตื้นที่เสื่อมโทรมของเกาะตาชัยใต้แสงสลัวของยามเย็น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ในอดีตชายหาดของเกาะแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังจากหาดทรายสีขาวและน้ำทะเลสีฟ้าสด แต่ภายใต้ผืนน้ำนั้นล้วนเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของแนวปะการังน้ำตื้น ซึ่งเกิดจากผลกระทบร่วมของสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและการท่องเที่ยว
ถุงพลาสติกล่องลอยไปตามกระแสน้ำที่ไหลผ่านบริเวณกองหินตาชัยที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา จากผลการศึกษาในปี 2015 พบว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตขยะพลาสติกในท้องทะเลอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งมีปัญหาจากการจัดการขยะที่ไม่ได้ประสิทธิภาพบนชายฝั่ง และขยะเหล่านี้จะสร้างผลกระทบกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำต่างๆ
นักวิจัยชาวต่างชาติออกเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังด้วยการดำน้ำตัวเปล่าในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต