×

ชิน ศิรชัย ช่างภาพใต้น้ำ ผู้ใช้ภาพสะท้อนให้เห็นว่าทะเลมีปัญหา

29.02.2024
  • LOADING...
ชิน ศิรชัย

หากพูดถึงช่างภาพใต้น้ำเบอร์ต้นๆ ของไทย ชื่อที่คนนึกถึงแรกๆ คงหนีไม่พ้น ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ซึ่งกวาดรางวัลในระดับสากลมาแล้วกว่า 30 รางวัล และล่าสุดก็คว้ารางวัลหนึ่งในช่างภาพใต้น้ำแห่งปี 2024 ด้วย

 

ชินไม่ใช่แค่ช่างภาพที่อยากถ่ายทอดแค่ความงามขององค์ประกอบต่างๆ แต่ยังอยากให้รูปเหล่านี้ ‘พูด’ ออกมาด้วยว่า ทะเลกำลังมีปัญหา และสร้างบทสนทนาต่อถึงการจัดการทรัพยากรทางทะเล

 

THE STANDARD โทรไปสัมภาษณ์ชินในช่วงที่เขากำลังล่องเรืออยู่ในป่าแห่งหนึ่งของประเทศศรีลังกา ด้วยงานของชินทำให้เขาต้องลงพื้นที่ประเทศต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นช่างภาพและนักสำรวจของสมาคม National Geographic เป็นช่างภาพข่าวให้ Getty Images และเป็นนักวิจัยในกลุ่ม Thai Sharks and Rays ด้วย

 

ชินเล่าว่า จริงๆ แล้วพื้นเพของเขาเป็นนักวิจัยมาก่อน หลังจากนั้นจึงมีโอกาสได้เริ่มถ่ายรูประหว่างงานอนุรักษ์ปะการังที่เกาะเต่า ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนเป็นความหลงใหลในศาสตร์นี้ ทำให้เขาผันตัวมาเป็นช่างภาพเต็มตัวในช่วงทำงานวิจัยปริญญาโทเกี่ยวกับเรื่องฉลาม และยึดมันเป็นอาชีพหลักตั้งแต่นั้นมา

 

  • เล่าเหตุการณ์ตอนที่ถ่ายภาพนี้ให้ฟังหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น

 

ภาพของชินที่ได้รางวัล คือภาพ Wounded giant manta ray ซึ่งคว้ารางวัลชมเชยจากเวที Underwater Photographer of the Year 2024 สาขาการอนุรักษ์ทางทะเล โดยเป็นภาพของกระเบนแมนตาที่ติดอวนจนมีแผลเหวอะไปถึงเนื้อด้านใน

 

ชินเล่าให้ฟังว่าระหว่างที่ไปดำน้ำ เขาเจอกลุ่มนักดำน้ำกลุ่มอื่นคุยกันว่าเจอกระเบนแมนตาบาดเจ็บอยู่ในทะเล ซึ่งนักดำน้ำกลุ่มนั้นได้ช่วยเหลือแมนตาด้วยการตัดอวนไปได้มากแล้ว แต่ก็ยังมีส่วนที่เหลืออยู่ ทำให้ชินรีบเปลี่ยนถังอากาศและโดดลงทะเลต่อทันทีเพื่อไปตามหาแมนตาตัวนี้ 

 

และเขาก็เจอมันว่ายน้ำอยู่ โดยมีอวนประมงคลุมร่างกายของมันจนได้รับบาดเจ็บ 

 

ทีมของชินเข้าช่วยเหลือกระเบนตัวนี้เพิ่มเติม ด้วยการพยายามตัดอวนออกให้ได้มากที่สุด แต่ก็ได้ไม่หมด สิ่งที่ชินเห็นคือ Cephalic Lobe หรืออวัยวะที่ช่วยตักแพลงก์ตอนเข้าปากกระเบนได้ขาดลงไปแล้ว ขณะที่มีเศษเนื้อของกระเบนบางส่วนติดมากับอวนด้วย ชินและทีมงานจึงได้ตัวอย่างส่งเศษเนื้อของกระเบนให้กับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ทช.) เพื่อทำการศึกษาต่อไป ซึ่งหลังจากที่ได้พูดคุยกับสัตวแพทย์และชาวประมงแล้ว ประเมินกันว่าอวนดังกล่าวน่าจะมาจากทางเมียนมา เมื่อดูจากลักษณะของอวน

 

  • สิ่งที่อยากจะสื่อสารจากภาพนี้คืออะไร

 

ชินกล่าวว่า ภาพนี้มีหลายมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ 

 

มิติแรกที่เรารับรู้กันดี คือภาพนี้เป็นกระเบนแมนตาที่ได้รับบาดเจ็บจากอวนประมง สะท้อนให้เห็นว่าการประมงมีผลกระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายในการทำประมงด้วย

 

มิติที่ 2 คือกระเบนแมนตาเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองในหลายประเทศ รวมถึงไทย แต่กฎหมายดังกล่าวทั้งในไทยและสากลกลับไม่ได้ช่วยเหลือให้พวกมันปลอดภัยได้มากเท่าที่ควรในความเป็นจริง

 

มิติที่ 3 ภาพนี้ฉายให้เห็นถึงเรื่องของปัญหาในการจัดการพื้นที่ทะเลอันดามันด้วย เนื่องด้วยการจัดการพื้นที่และทรัพยากรทางทะเลที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ได้ถูกปิดกั้นด้วยแนวพรมแดนที่ถูกเขียนไว้ในแผนที่ 

 

เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคืออวนที่คลุมแมนตาอยู่นั้นมาจากการประมงในเมียนมา ขณะการวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติของกระเบนชนิดนี้จะมีการข้ามน่านน้ำกันของสองประเทศอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นการคุ้มครองทางประมงและการจัดการพื้นที่ทางทะเลควรมีการช่วยเหลือร่วมมือกันข้ามประเทศได้ ซึ่งแม้ว่าจะเคยจัดงานประชุมพูดคุยด้านนี้แล้ว แต่สถานการณ์การเมืองในประเทศเมียนมาได้ทำให้โครงการจัดการพื้นที่ร่วมกันชะงักงันอยู่ในตอนนี้

 

  • หน้าที่ของช่างภาพใต้ทะเลคืออะไร อาชีพนี้ให้อะไรบ้าง

 

ชินกล่าวว่า จริงๆ แล้วตัวเขาไม่ใช่ช่างภาพใต้ทะเลอย่างเดียว แต่เขาคือช่างภาพข่าวที่อยากจะขยายหลายๆ เรื่อง 

 

และหน้าที่ของช่างภาพข่าวคือการเล่าเรื่องผ่านภาพ 

 

ชินบอกกับเราว่า หน้าที่ของภาพถ่ายคือการดึงดูดให้คนสนใจภาพใบนั้น เหมือนกับการพาดหัวข่าวล่อคนเข้ามาอ่านเนื้อเรื่องที่ถูกเขียนไว้ในแคปชัน หรือคล้ายๆ การแต่งหน้าเค้กให้สวยเพื่อดึงดูดคน แต่สิ่งที่หวังไว้คือการตั้งคำถามและการหาความรู้ เพื่อทำความเข้าใจและพูดคุยถึงประเด็นนั้นๆ ต่อไป

 

“ผมอยากให้คนรู้ว่าเนื้อหาจริงๆ เบื้องลึกจริงๆ ว่ามันคืออะไร เพราะเรื่องราวต่างๆ ไม่สามารถสรุปได้แบบง่ายๆ เช่น ‘ชาวประมงแย่ ทำกระเบนบาดเจ็บ ห้ามทำประมง’ ความจริงในโลกมันไม่มีอะไรที่สรุปได้ง่ายแบบนั้นครับ โดยเฉพาะประเด็นอนุรักษ์ในยุคปัจจุบัน มันมีมิติต่างๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่มากกว่านั้น และมีผู้คนมากมายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่างๆ เช่น อาจต้องพูดถึงลักษณะการทำประมงในภูมิภาค อุตสาหกรรมบนฝั่งที่พึ่งพาการประมงที่ใช้เครื่องมือไม่เลือกชนิด การปรับเครื่องมือและอัตราการทำประมง การขยายพื้นที่คุ้มครองทางฝั่งเมียนมา การเสริมสร้างความสามารถตรวจตราของหน่วยงานในทะเล เหมือนเรื่องของแมนตาตัวนี้

 

“ภาพก็มีหน้าที่ล่อลวงคนมาอ่านอะไรยาวๆ ที่อยู่ในแคปชันพวกนี้แหละครับ”

 

ชินบอกว่า เขาหวังว่าการเรียกความสนใจด้วยภาพเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อไป เหมือนภาพพะยูน ‘มาเรียม’ ที่ชินเคยถ่าย วันที่มาเรียมตายเพราะพลาสติกมันได้สร้างแรงกระเพื่อมสู่สังคมอย่างมหาศาล ทั้งภาคประชาชนที่พร้อมใจกันลดละเลิกใช้พลาสติก รวมถึงภาครัฐที่ตอนนั้นถึงขั้นมีการถกกันเรื่องพลาสติกใช้แล้วทิ้งในสภา ซึ่งเขาหวังว่าภาพที่เขาถ่ายจะทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อไปให้ได้มากที่สุด

 

  • รู้สึกเจ็บปวดไหม เวลาต้องถ่ายสัตว์ที่บาดเจ็บ

 

หลายๆ ครั้งที่มีภาพระดับโลกออกมา ซึ่งฉายภาพวินาทีที่คนหรือสัตว์บาดเจ็บ บ้างก็อาการหนักถึงขั้นเจียนตาย คอมเมนต์ที่เรามักจะเห็นจากชาวเน็ตคือ ‘ทำไมช่างภาพไม่ช่วย’ ‘ทำไมถึงเลือกถ่ายภาพแทนที่จะช่วยคน’ หรือ ‘รู้สึกเจ็บปวดบ้างไหมกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า’ 

 

THE STANDARD นำคำถามเหล่านี้ไปถามช่างภาพตัวจริง ผู้ซึ่งบันทึกนาทีความเจ็บปวดของสัตว์น้อยใหญ่มาครั้งแล้วครั้งเล่า 

 

ชินกล่าวว่า ส่วนตัวเขาคิดว่าบทบาทของตัวเอง ณ วินาทีนั้นคือช่างภาพ คือสื่อมวลชน หน้าที่ของเขาในเวลานั้นคือการบันทึกภาพข่าว แม้ว่าจะมีบางครั้งที่เขาก็เผลอตัวไปช่วยก่อนที่จะได้ลั่นชัตเตอร์ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่เขายังเสียใจอยู่ ฉะนั้นคนที่อยู่วงนอกอาจมีมุมมองที่ต่างกันออกไป ซึ่งก็ไม่เป็นไรที่ใครจะมองแบบนั้น สิ่งที่สำคัญคือการ Make Peace กับตัวเองจากสิ่งที่ประสบพบเห็นมาให้ได้

 

แต่ถามว่าความรู้สึกส่วนตัว เขาเจ็บปวดไหม ชินตอบว่า แน่นอนว่ามันรู้สึกแย่ เสียใจกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้จบด้วยดีอย่างที่หวัง เรื่องราวต่างๆ มากมายที่เห็นนั้นมักจะกลับมาในความนึกคิดเวลาที่ได้หยุดพักผ่อน ในเวลาที่ไม่ได้ออกไปทำงานในสนาม แต่ความรู้สึกของเขาคงเป็นแค่เศษเสี้ยวของบรรดาสัตวแพทย์สัตว์น้ำและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่อยู่หน้างาน เพราะพวกเขาพบเจอประเด็นปัญหาเหล่านี้อยู่ตลอด แทบไม่ได้พักจิตใจเลย งานก็โถมเกินตัว

 

“พวกเขาทรมานใจมากครับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หากเทียบกับสิ่งที่ผมเจอสเกลมันเล็กกว่ากันมาก”

 

 

หากชื่นชอบงานของชิน สามารถติดตามได้ในหลายช่องทาง ทั้ง Facebook: www.facebook.com/shinalodon Instagram: shinalodon และ Website: www.shinsphoto.com

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising