×

เปิดโปงขบวนการผลิตอาหารเสริม! ยื่นสูตรผลิตหลอก อย. ทำง่ายเพียงเดินไปจ้างโรงงาน

30.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • เบื้องหลังการขอ อย. ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคือการยื่นสูตรที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เมื่อได้เครื่องหมาย อย. มาแล้วจึงค่อยมาใส่สารอื่นๆ เพิ่มลงไปแทน
  • การสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลทำได้ประมาณ 300 แบรนด์ต่อปี ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน
  • เตรียมออกกฎกระทรวงคุมเข้าโรงงานผลิตเครื่องสำอาง หลังถอดบทเรียนปมเมจิก สกิน

เครื่องหมาย อย. ยังรับประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้อยู่อีกหรือไม่

 

คือคำถามจากสังคมที่เริ่มดังขึ้นด้วยความกังวล หลังปรากฏข่าวผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในเครือเมจิก สกิน ซึ่งมีดารากว่า 59 คน รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ร่วมรีวิวสินค้า ซึ่งทั้งหมดล้วนอ้างข้อมูลตรงกันว่ามีการตรวจสอบเลขทะเบียน อย. แล้วจากเว็บไซต์ขององค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสถานะถูกต้อง

 

ขณะที่กรณีสินค้าอาหารเสริมยี่ห้อลีน (Lyn) ซึ่งมีเลขทะเบียน อย. ถูกต้อง แต่กลับเป็นอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารอันตราย ซึ่งล่าสุดคาดว่าอาหารเสริมดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 4 คน

 

 

หลอกขอ อย. ง่ายนิดเดียว เปิดเบื้องหลังวงการผลิตอาหารเสริม

เภสัชกรท่านหนึ่งที่เคยติดต่อโรงงานเพื่อผลิตอาหารเสริมให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า หลายปีก่อนตั้งใจจะทำผลิตภัณฑ์คอลลาเจน โดยมีน้องที่รู้จักติดต่อโรงงานย่านพระราม 2 ให้

 

เมื่อเดินทางไปถึงโรงงานก็พบว่าสภาพต่างจากที่คิดไว้ ไม่ใกล้เคียงกับโรงงานผลิตยาเมื่อสมัยที่เคยฝึกงาน

 

นอกจากผลิตภัณฑ์คอลลาเจนก็ได้คุยกับโรงงานถึงอาหารเสริมที่ใช้ลดความอ้วนด้วย จึงได้รู้ว่าโรงงานพวกนี้มีวิธีการบางอย่างเพื่อให้ได้ทะเบียน อย. เร็วขึ้น รวมถึงแนะนำให้ทำผิดกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

 

“โรงงานก็พูดชัดเจนว่าอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อเร่งการดำเนินการ เพื่อให้ได้ทะเบียน อย. เร็วขึ้น”

 

เภสัชกรท่านนี้เล่าด้วยว่า ถ้าเราจะทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดความอ้วนสักตัว เราต้องทำสูตรตำรับเพื่อขอขึ้นทะเบียน อย. แต่เมื่อเราได้ อย. มาแล้ว โรงงานจะแนะนำให้ใส่สารไซบูทรามีน (Sibutramine) เพราะเขารู้ว่าพวกอาหารเสริมลดน้ำหนักและสารสกัดที่เราเห็นข้างกล่อง เช่น ถั่วแขก เมล็ดองุ่น ไม่ได้ช่วยลดความอ้วนได้จริง มันต้องมีสารไซบูทรามีนช่วย ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนและรวดเร็ว

 

“เข้าใจว่ามีการทำเป็นวงการ เพราะรุ่นน้องที่เคยทำก็บอกตรงๆ ว่าเขาก็เพิ่มสารตัวนี้ภายหลังได้ทะเบียน อย. แล้ว โดยใส่ไปในปริมาณน้อยๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เห็นผล”

 

ในฐานะเภสัชกรมองว่าอาหารเสริมในเมืองไทยมีเยอะ ซึ่งมันหลอกลวงกันง่าย พร้อมเห็นว่าส่วนหนึ่งเกิดจาก อย. ก็ทำตัวเองให้เพิ่มความเสี่ยงด้วยการเปิดช่องให้เร่งรัดจดทะเบียนได้ ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบเกิดช่องโหว่

 

อย. รับ ป้องกันปมอาหารเสริมลำบาก ตรวจจับยาก กำลังคนไม่พอ

ข้อมูลจาก อย. เปิดเผยว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ขอทะเบียน อย. สะสมในระบบประมาณ 30,000 รายการ ส่วนเครื่องสำอางมีการขอทะเบียน อย. สะสมในระบบกว่า 70,000 รายการ

 


นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยขั้นตอนการขออนุญาตผลิตอาหารเสริมว่าต้องมีการตรวจโรงงานว่าปลอดภัยหรือไม่ตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) หรือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร ซึ่งจะมีการตรวจโรงงานเพื่อขอใบอนุญาตทุกๆ 3 ปี เมื่อตรวจโรงงานแล้วจะต้องแจ้งสูตรส่วนประกอบสำคัญมาให้ทาง อย. พิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่ จากนั้นเราก็จะอนุญาตให้ผลิตออกสู่ท้องตลาดได้

 

แต่หลังจากนั้นหากโรงงานมีการไปใส่สูตรยาที่เป็นอันตรายเพิ่มเติมหรือปรับส่วนผสมเพื่อลดต้นทุนก็เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก

 

 

ด้าน นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเสริมว่า “ขอเลขถูกต้อง ตอนแจ้งเราก็ใส่ส่วนผสมไม่อันตราย แต่ไปแอบใส่ทีหลัง คำถามคือการไปแอบใส่ทีหลังมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะไปรู้ว่าเขาจะแอบใส่ตอนนั้น”

 

อย่างไรก็ตาม อย. มีระบบในการตรวจสอบย้อนหลังว่าที่จำหน่ายไปถูกต้องตามที่ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ บางรายเราต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปนั่งเฝ้าหน้าโรงงาน แต่ก็ยอมรับว่าจำนวนเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ

 

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ขอเลขทะเบียน อย. สะสมในระบบมีประมาณ 30,000 ตัว เฉพาะส่วนกลางคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ประมาณ 300 แบรนด์ต่อปี ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 คน

 

ขณะที่การตรวจโรงงาน แม้จะต้องขออนุญาตใหม่ทุกๆ 3 ปี แต่ระหว่างนี้ก็ยากแก่การตรวจสอบ เพราะการเข้าไปตรวจต้องมีหลักฐานและข้อมูล ต้องมีผลจากทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าอาหารเสริมจากโรงงานนั้นมีสารที่เป็นอันตราย ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือน

 

 

เตรียมออกกฎกระทรวงคุมเข้าโรงงานผลิตเครื่องสำอาง

ในส่วนของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีข้อสังเกตว่าขออนุญาตได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ที่เรียกว่า e-Submission เลขาธิการคณะกรรมการ อย. ระบุว่าจะไม่ยกเลิกระบบดังกล่าว แต่จะเพิ่มความเข้มข้น มีเจ้าหน้าที่ลงมาดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากเดิม

 

โดยในเดือนมิถุนายนนี้เราจะออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดมาตรฐานสถานผลิตเครื่องสำอางเพื่อประกันคุณภาพของการผลิต และคิดว่าจะช่วยลดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากระบบได้เยอะ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนนับจากกฎกระทรวงบังคับใช้ในการตรวจโรงงานได้ทั้งหมด

 

“ก่อนหน้านี้แค่มีเอกสารครบก็จะอนุญาต แต่หลังเดือนมิถุนายนจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานก่อนอนุญาต อนาคตจะขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐานทั้งหมด และการขออนุญาตผลิตต้องมาจากสถานที่ที่ผ่านมาตรฐานเท่านั้น” เลขาธิการคณะกรรมการ อย. ระบุ

 

 

เครื่องหมาย อย. ยังน่าไว้ใจ แต่ต้องช่วยกันดูแล

ส่วนคำถามสังคมที่ว่าเครื่องหมาย อย. ยังรับประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้อยู่อีกหรือไม่


เลขาคณะกรรมการ อย. ระบุว่า “แบรนด์ อย. ได้รับการเชื่อถือมายาวนาน และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย มีระยะหลังที่เศรษฐกิจขยายตัว มีผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตนำแบรนด์ อย. ไปใช้หลอกลวงผู้บริโภค ผมจึงนำเรียนว่าเราต้องช่วยกันตรวจสอบและสอดส่องเพื่อให้แบรนด์ อย. มีคุณภาพอยู่ เพราะมันเป็นสมบัติร่วมกันของสังคม”

 

สายด่วน อย. 1556

ไลน์: FDAthai

แอปพลิเคชัน: oryor.com

เว็บไซต์: fda.moph.go.th,  pryor.com

 

ทั้งหมดคือช่องทางที่ อย. ฝากถึงทุกคนในการแจ้งข้อมูลเมื่อพบผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising