×

คณะมนตรีความมั่นคงฯ ประณามเหตุใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาครั้งแรก ขณะผู้เชี่ยวชาญเสนอ 5 ทางเลือกช่วยชาวเมียนมา

12.03.2021
  • LOADING...

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ร่วมประณามเหตุการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อกลุ่มผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารที่ชุมนุมกันอย่างสันติเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเน้นยำให้กองทัพเมียนมาปล่อยบรรดาผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงแสดงจุดยืนสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมประชาธิปไตยของเมียนมา เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยทางคณะมนตรีจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด 

 

ก่อนหน้านี้คณะมนตรีไม่สามารถร่วมแสดงจุดยืนดังกล่าวได้ หลังจากผู้แทนจากจีนและรัสเซียยื่นเรื่องขอกลับไปปรึกษารัฐบาลของตนก่อน ขณะที่ทางด้าน โทมัส แอนดรูว์ ผู้เขียนรายงานพิเศษต่อสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่า การช่วยสนับสนุนเมียนมาแค่เพียงคำพูดอาจไม่เพียงพออีกต่อไปในช่วงเวลาที่ประชาชนชาวเมียนมาถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามสิทธิเสรีภาพและถูกใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามอย่างหนัก

 

“ขณะนี้ประชาชนชาวเมียนมาไม่เพียงต้องการคำพูดที่สนับสนุนพวกเขา แต่ยังต้องการการกระทำที่สนับสนุนพวกเขาด้วย พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศในตอนนี้

 

“จากรายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่า มีผู้เสียชีวิตในช่วงรัฐประหารแล้วอย่างน้อย 70 ราย ถูกจับกุมและควบคุมตัวอีกกว่า 2,000 ราย แนวโน้มที่ประชาชนที่อยู่แต่ภายในที่พัก ไม่ได้ออกไปร่วมเดินชุมนุม แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

 

โดย โทมัส แอนดรูว์ ได้เสนอแนะ 5 ทางเลือกที่คณะมนตรี รวมถึงองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมลงมือทำได้ทันที ได้แก่

 

  1. ยุติแหล่งเงินทุนที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพเมียนมา รวมถึงกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักช่องทางการลุงทุนของเมียนมา 

 

  1. ร่วมดำเนินมาตรการห้ามค้าขายระหว่างประเทศกับเมียนมาในช่วงเวลานี้ 

 

  1. ประกันว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านระบบยุติธรรมแห่งชาติที่ยึดถือหลักที่เป็นสากล หากคณะมนตรีความมั่นคงไม่พร้อมที่จะดำเนินมาตรการนี้ ก็ขอให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

 

  1. ทำงานและประสานความร่วมมือโดยตรงกับองค์การภาคประชาชนในท้องถิ่นและองค์กรที่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้หากเกินเหตุจำเป็น

 

  1. ปฏิเสธที่จะรับรองคณะผู้นำรัฐประหาร สภาบริหารแห่งชาติ (SAC) หรือกองทัพ ที่พยายามแสวงหาความชอบธรรมในการขึ้นมาเป็นตัวแทนประชาชนชาวเมียนมาในการบริหารประเทศ

 

โดยหลักฐานที่บ่งชี้ว่าผู้นำกองทัพเมียนมารายนี้กำลังก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าประชาชนชาวเมียนมาจะต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมโลก แต่พวกเขาที่ยังอยู่ภายในประเทศก็ยังคงรวมพลังเดินหน้าต่อสู้และยืนหยัดเพื่อทวงคืนประชาธิปไตยอย่างไม่ลดละความพยายาม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

 

แฟ้มภาพปี 2017: Volkan Furuncu / Anadolu Agency / Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X