เมื่อวานที่ผ่านมา (17 ก.ย.) รายงานสหประชาชาติที่จัดทำโดย UN DESA ระบุว่าขณะนี้มีผู้อพยพทั่วโลกสูงถึง 272 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% จากทศวรรษที่ผ่านมา โดยทวีปยุโรปเป็นพื้นที่รองรับกลุ่มผู้อพยพมากที่สุดถึง 82 ล้านคน ตามมาด้วยทวีปอเมริกาเหนือ 59 ล้านคน รวมถึงทางตอนเหนือของแอฟริกาและเอเชียตะวันตก พื้นที่ละ 49 ล้านคน โดยเกือบ 1 ใน 5 ของผู้อพยพทั้งหมดอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาถึง 51 ล้านคน
จำนวนผู้อพยพทั่วโลกในปัจจุบันคิดเป็น 3.5% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.8% เมื่อปี 2000 โดยรายงานฉบับนี้ใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจจำนวนประชากรและการจดทะเบียนราษฎร์ของประเทศต่างๆ ซึ่งเลขาธิการ UN DESA อย่าง หลิวเจิ้นหมิน มุ่งหวังว่าข้อมูลในรายงานฉบับนี้จะเป็นประโยชน์สำคัญต่อการทำความเข้าใจบทบาทของผู้อพยพและการพัฒนากระบวนการเกี่ยวกับการอพยพของทั้งประเทศต้นทางและประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทาง
รายงานฉบับนี้ยังระบุอีกว่าผู้อพยพทั่วโลกกว่า 272 ล้านคนนี้ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ใน 10 ประเทศ โดยอยู่ในสหรัฐอเมริกามากที่สุด ตามมาด้วยเยอรมนีและซาอุดีอาระเบีย ประเทศละ 13 ล้านคน รัสเซีย 12 ล้านคน สหราชอาณาจักร 10 ล้านคน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 9 ล้านคน ฝรั่งเศส แคนาดา และออสเตรเลีย ประเทศละ 8 ล้านคน อิตาลี 6 ล้านคน
ในขณะที่อินเดียเป็นประเทศต้นทางที่มีผู้อพยพเดินทางออกนอกประเทศสูงสุดถึง 18 ล้านคน ตามมาด้วยเม็กซิโก 12 ล้านคน จีน 11 ล้านคน รัสเซีย 10 ล้านคน และซีเรีย 8 ล้านคน โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจำนวนผู้อพยพโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ภาพ: Stringer / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: