×

คุกคามทางเพศเด็กในโลกออนไลน์ ภัยร้ายของสังคมไทยและสังคมโลกที่ยังรอการแก้ไข [ADVERTORIAL]

12.10.2018
  • LOADING...

เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีช่องทางการสื่อสารออนไลน์ รวมถึงสื่อดิจิทัลต่างๆ ล้วนเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละวัน ซึ่งทำให้คน เวลา สถานที่ ทุน รวมถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและทำให้เราสามารถรับรู้ เข้าถึง และเผยแพร่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะอยู่คนละซีกโลกก็ตาม

 

แต่อย่างไรก็ดี สื่อและเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้กำลังกลายเป็นเสมือน ‘ดาบสองคม’ เนื่องจากถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กและเยาวชนที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามและความรุนแรงทางเพศบนโลกออนไลน์ได้ง่าย และเป็นประเด็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีทั้งในแง่จำนวนและระดับความรุนแรง

 

 

สถานการณ์ภัยคุกคามทางเพศต่อเด็กและเยาวชนบนโลกออนไลน์ในสังคมไทยและสังคมโลก

กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ประเด็นปัญหานี้กลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ไม่ได้หยุดอยู่ที่เขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง อีกทั้งการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กยังเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้เด็กแต่งงาน การค้าประเวณีเด็ก รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation) ที่มีสมาชิกกว่า 104 องค์กรใน 93 ประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหานี้ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาร่วมกันค้นหาแนวทางป้องกันและปราบปรามอยู่ในขณะนี้ ภายใต้ UN Model Strategies และ WeProtect Model

 

จากสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานทั่วโลกในปี 2017 โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่าประชากรโลกส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีช่วงอายุประมาณ 15-24 ปี ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเป้าหมายของภัยคุกคาม ความรุนแรง และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ได้มากที่สุด

 

 

โดยตัวเลขสถิติจาก www.thaihotline.org ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ามีการรายงานรับแจ้งสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 640 รายการในปี 2016 เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวเป็น 1,400 รายการในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลงานวิจัยที่ ECPAT จัดทำร่วมกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) ที่พบว่ายิ่งผู้ตกเป็นเหยื่อมีอายุน้อย อัตราการถูกล่วงละเมิดยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นเด็กช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่นสูงถึง 56.2% และเป็นแค่เด็กทารก 4.3% ซึ่งเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ คำถามสำคัญคือผู้กระทำความผิดเข้าหาเด็กๆ เหล่านี้ได้อย่างไร มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าสาเหตุหนึ่งของภัยคุกคามและปัญหาอาชญากรรมนี้มีที่มาจากคนภายในครอบครัว

 

ปัจจุบันมีการส่งต่อและเผยแพร่สื่อลามกอนาจารและการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กในรูปแบบต่างๆ จำนวนมากทั้งที่อยู่ในรูปของไฟล์ภาพ คลิปวิดีโอ ข้อความลามก และการถ่ายทอดสด (Live Streaming) โดยใช้การขู่กรรโชกหรือแบล็กเมลเพื่อแสวงหาประโยชน์หรือเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ ซึ่งข้อมูลจากบริษัทไมโครซอฟท์ (2018) เปิดเผยว่าในทุกๆ 60 วินาทีมีการซื้อขายและส่งต่อภาพลามกอนาจารเด็กประมาณ 500 ภาพทั่วโลก โดยในแต่ละวันมีไฟล์ภาพทั้งที่ลามกและไม่ลามกได้รับการอัปโหลดและส่งต่อกันทั้งหมดกว่า 1.8 พันล้านภาพ จึงทำให้การเฝ้าระวังการอัปโหลดและส่งต่อภาพลามกเด็กบนโลกออนไลน์ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของทุกหน่วยงานและทุกองค์กรมิใช่น้อย

 

 

นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ที่ปรึกษาพิเศษของ TIJ ให้สัมภาษณ์ว่า “การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กบนโลกออนไลน์ถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะปกปิดและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเสมอ การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกประเทศเพื่อค้นหาแนวทางการป้องกันและปราบปรามปัญหานี้ให้หมดไปจากทั้งสังคมไทยและสังคมโลก”

 

UN Model Strategies คืออะไร และจะเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการยุติความรุนแรงต่อเด็ก (UN Model Strategies on Violence Against Children) เป็นแม่แบบสำหรับตั้งเป้าที่จะปกป้องเด็กๆ ทุกคนจากอาชญากรรม ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งให้ได้รับความยุติธรรมทางอาญา โดยให้ประเทศต่างๆ ใช้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทาง ซึ่งถูกหยิบยกและพัฒนาขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงมีส่วนร่วมในการยกร่างและผลักดันกรอบแนวคิดนี้สู่เวทีการประชุมระดับโลก ก่อนที่จะได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2014 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย, TIJ, ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติต่างๆ รวมถึงกลุ่ม NGO มากมาย

 

โมเดลยุทธศาสตร์ต้นแบบนี้ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดให้มีมิติที่ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรับมือและต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมและการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กบนโลกออนไลน์ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากกว่าเดิมผ่านมาตรการ WePROTECT Model ที่จะครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามปัญหาในมิติของตัวบทกฎหมาย โดยจะต้องมีกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เหมาะสมและคุ้มครองเด็กในทุกสถานะ ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อ พยาน หรือแม้แต่ผู้กระทำผิด โดยการคุมขังจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งจะคำนึงถึงความเหมาะสมและวุฒิภาวะของผู้กระทำผิดด้วย

 

 

นายสาโรช นักเบศร์ อัยการพิเศษและผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของโมเดลต้นแบบนี้ว่า “เป็นกรอบแนวทางที่ให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติได้นำไปปฏิบัตินี้เกิดขึ้นเพื่อให้เด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในสถานะต่างๆ ได้รับความเป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บ่อยครั้งที่หลายฝ่ายจะเน้นไปที่การแสวงหาหลักฐานและค้นหาความจริงจนอาจละเลยความรู้สึกและสภาพจิตใจของเด็กที่ค่อนข้างเปราะบาง โมเดลต้นแบบนี้จะเข้ามาช่วยกำหนดทิศทางและวางมาตรฐานในการคุ้มครองเด็กเพื่อป้องกันการซ้ำเติมเด็กและลดโอกาสที่เด็กจะกลับมาทำผิดซ้ำอีก”

 

ความท้าทายของสังคมไทย

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มาตรการป้องกันแบบเดิมไร้ผล ถึงแม้ว่าไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ ในย่านอาเซียนจะมีความพยายามในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หลายภาคส่วนโดยเฉพาะมิติของการพิจารณาคดีอาญาและตัวบทกฎหมายของไทยยังคงมีช่องโหว่ที่อาจจะยังไม่ครอบคลุมความผิดในกรณีคุกคามและแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ในบางรูปแบบ อาทิ การสื่อสารด้วยข้อความลามก หรือการล่อลวงเด็กผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น ถึงแม้ว่าไทยจะมีกฎหมายเอาผิดผู้มีสื่อลามกเด็กไว้ในครอบครองแล้วก็ตาม

 

เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวสวิตเซอร์แลนด์ผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นนักสะสมสื่อลามกอนาจารเด็กติด 10 อันดับแรกของโลกได้ภายในประเทศ พร้อมพบหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอกว่า 248 ไฟล์ ซึ่งผู้เสียหายอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กวัยเพียง 4 ขวบ อีกทั้งรายงานของ UNODC ยังระบุถึงแนวโน้มว่าไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านทางเว็บแคมแห่งใหม่ในภูมิภาคนี้แทนที่ฟิลิปปินส์อีกด้วย

 

 

นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนด้านสิทธิเด็กของไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ระบุว่า “ผู้กระทำผิดมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ การดำเนินมาตรการลงโทษอย่างจริงจังมีความสำคัญมากในการแก้ไขปัญหานี้ และสาเหตุที่น่าจะมีความเป็นไปได้ประการหนึ่งที่ทำให้ศูนย์กลางการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านทางเว็บแคมย้ายมาที่ไทยอาจจะเป็นเพราะไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาค มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ มากมาย อีกทั้งมาตรการในการตรวจตราและเช็กประวัติบรรดานักท่องเที่ยวที่มีประวัติอาชญากรรมอาจจะยังมีช่องว่าง สิ่งที่เราควรทำคือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและร่วมมือกันกำหนดวิธีการป้องกันและปราบปรามที่เป็นรูปธรรมและมีน้ำหนัก”

 

โดยข้อคิดเห็นของนายวันชัยสอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากรายงาน ‘โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทยในการอนุวัติยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ’ ของนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ และคณะ (2018) ที่ระบุว่าการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกันอาชญากรรมหรือความรุนแรงแบบเฉพาะเสริมมาตรการป้องกันแบบทั่วไป การใช้เทคนิคสอบสวนพิเศษและส่งเสริมการใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในกรณีที่เด็กเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งจะต้องตั้งอยู่บนหลักการการมีส่วนร่วมของเด็กและสังคม การใช้องค์ความรู้นำ และการบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

 

ทางด้าน ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและอาชญากรรมระหว่างประเทศ สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวถึงความท้าทายที่สุดที่ผู้ปฏิบัติงานกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า “ปัญหาที่ท้าทายที่สุดที่ DSI กำลังเผชิญคือการใช้เทคโนโลยีให้เท่าทันอาชญากร หากคนร้ายสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในการลงมือกระทำผิดได้ เราเองก็ควรจะใช้ประโยชน์อีกด้านของเทคโนโลยีในการสืบหาคนร้ายพร้อมทั้งอุดช่องว่างดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ DSI ก็ได้ร่วมมือกับหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ในการแชร์ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน

 

“ต่อจากนี้ DSI จะมีโปรเจกต์ขยายไปอีกเรื่อยๆ โดยมุ่งเป้าไปที่การทำลายสิ่งกีดกันที่เป็นอุปสรรคระหว่างหน่วยงาน พร้อมทั้งยึดถือตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่จะตามจับโจรจับผู้ร้ายเพียงอย่างเดียว กระบวนการทั้งหมดจะต้องให้ความสำคัญกับเด็กตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเยียวยาดูแลเด็กในระยะยาวที่จะไปสอดคล้องยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหานี้โดยตรง”

 

 

แม้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจจะยังมีข้อท้าทายทั้งในเรื่องนโยบายและแนวทางในเชิงกฎหมายที่บางจุดอาจมีความล้าสมัย ขาดการนิยามที่แน่ชัด มีบทลงโทษต่ำเกินไปในบางกรณี ขาดกลไกสนับสนุนที่เหมาะสมในการดำเนินคดีในกรณีข้ามชาติ รวมถึงขาดการเก็บรวบรวมและแชร์ข้อมูล Big Data ระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องภัยคุกคาม ความรุนแรง และการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็กบนโลกออนไลน์ได้อย่างเด็ดขาด

 

แต่หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ของไทยยังคงเดินหน้าและผลักดันการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังมุ่งหวังและค้นหามาตรการที่ดีที่สุดในการเตรียมรับมือ ส่งเสริมความตระหนักรู้ และสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมมิติต่างๆ เพื่อให้ตัวเด็กที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ให้ได้มากที่สุดโดยเน้นที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งการจะประสบความสำเร็จในการรู้เท่าทันและป้องกันปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยสังคมที่เล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว และขยายความร่วมมือไปสู่หน่วยสังคมที่ใหญ่ขึ้นในทุกระดับ ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค รวมถึงระดับโลก

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising