ปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นช่วงเวลาเดียวของปีที่บ๊วยจะออกตามฤดูกาล และในฐานะที่เป็นผลไม้ที่กินสดไม่ได้ เมื่อถึงฤดูกาลทั้งที เราจึงต้องหาวิธีแปรรูปเพื่อนำบ๊วยไปทำเป็นเมนูต่างๆ และ เหล้าบ๊วย (Umeshu) ก็เป็นหนึ่งในนั้น
Umeshu เป็นหนึ่งในวิธีการแปรรูปบ๊วยจากญี่ปุ่น ที่เมื่อถึงหน้าที่ออกผล แต่ละบ้านก็จะดองไว้เป็นโหลๆ เผื่อเก็บไว้ใช้ในปีถัดไป (ด้วยระยะเวลาการดองตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ปี) ซึ่งด้วยรสชาติและประโยชน์ที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าช่วยเรื่องผิวพรรณแล้ว ไหนๆ บ้านเราก็มีบ๊วยสด ลองดองเองดูบ้างจะเป็นไรไป แถมปัจจุบันนี้ก็มีหลายๆ ร้านที่ขายบ๊วยจากสวนที่มาพร้อมกับอุปกรณ์แบบครบครัน แค่รู้วิธีการกับเคล็ดลับนิดหน่อย ก็สามารถซื้อไปทำตามเองได้แล้ว
การทำ Umeshu จะมีขั้นตอนและเรื่องน่ารู้อะไรบ้าง THE STANDARD POP สรุปมาฝากกัน
#อุปกรณ์
บ๊วย 500 กรัม
น้ำตาลกรวด 500 กรัม
เหล้า 700 มิลลิลิตร
โหลแก้วที่มีฝาปิดแน่นหนา
ไม้จิ้มฟัน
ผ้าห่อ (เลือกลวดลายตามชอบ)
#วิธีทำ
- ล้างผลบ๊วยให้สะอาด คัดลูกที่ยังเขียวไม่สุกจนเกินไป จากนั้นผึ่งลมให้แห้ง
- ใช้ไม้จิ้มฟันแคะขั้วสีดำๆ ออกให้หมด
- เตรียมโหลดองให้พร้อมด้วยการลวกน้ำร้อนหรือนึ่ง แล้วผึ่งไว้ให้แห้ง
- เมื่อบ๊วยและโหลพร้อม ให้เริ่มจัดเลเยอร์ เริ่มจากบ๊วย 1 ชั้น ตามด้วยน้ำตาลกรวด 1 ชั้น และทำซ้ำเรื่อยๆ จนหมด
- จากนั้นเทเหล้าที่เราเลือกลงไปให้ท่วมบ๊วย แต่อย่าให้เต็มขวดโหล
- แปะวันที่เริ่มดอง สัดส่วน และชนิดของเหล้าที่ใช้เอาไว้
- ห่อด้วยผ้าลายสวย เพื่อป้องกันขวดโหลจากการได้รับแสงตรงๆ เท่านี้ก็เรียบร้อย
การทำ Umeshu แท้จริงแล้วขั้นตอนง่ายมาก แต่ในความง่ายแปลว่าหากเราเข้าใจหลักการก็สามารถพลิกแพลงสูตรได้หลากหลาย มีอะไรต้องรู้บ้าง เรามีคำถามที่คนสงสัยบ่อยๆ มาตอบให้เข้าใจกันประมาณนี้
- Umeshu จัดเป็นเครื่องดื่มประเภท Liqueur จากญี่ปุ่น ที่เกิดจากการแช่เหล้ากลั่นกับบ๊วยและน้ำตาล หรืออาจจะเติมส่วนผสมอื่นๆ ก็ได้ตามสูตรของแต่ละคน
- หากคุณเปิดสูตรดั้งเดิมจากญี่ปุ่นจะเห็นว่าเหล้าที่นิยมนำมาดอง Umeshu นั้นคือ Shōchū (โชจู) หรือเหล้าสีขาวที่ได้จากการกลั่นจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อกระบวนการทั้งหมดต้องผ่านการดองถึง 1 ปี รสชาติจากเหล้าตั้งต้นจึงมีผลน้อยมาก เพราะหลักๆ จะมาจากบ๊วยและน้ำตาล นั่นทำให้เราไม่ต้องใช้โชจูก็ได้ ขอแค่เป็นสุรากลั่น (ราว 40% ABV) อย่างเหล้าขาวบ้านเราหรือวอดก้าก็พอ
- นั่นทำให้คนส่วนใหญ่มักบอกคุณว่าอย่าใช้เหล้าแพงหรือเหล้ารสชาติดีมาก เพราะถึงเวลา รสชาติของบ๊วยกับน้ำตาลก็กลบอยู่ดี แต่เมื่อมันเป็นโหลของคุณ อยากใช้อะไรก็ใช้เถอะ ไม่แน่คุณอาจจะพบสูตรใหม่ที่ดีกว่าที่เคยลองมาทั้งหมดเลยก็ได้นะ
- หมายความว่าคุณอาจจะเล่นสนุกลองเปลี่ยนเป็นรัมหรือวิสกี้ ก็ไม่ผิด
- Umeshu สามารถมีส่วนผสมอื่นๆ เข้ามาเพิ่มคาแรกเตอร์ได้ เช่น คุณอาจจะอยากใช้น้ำผึ้งเพื่อเพิ่มความหอมหวาน ก็ลองปรับสัดส่วนแทนที่น้ำตาลลงได้
- สูตรส่วนใหญ่มักบอกคุณให้ใช้บ๊วยและน้ำตาล 1:1 แต่เช่นเดียวกัน คุณอยากได้หวานไม่มาก จะลดน้ำตาลลงไปครึ่งหนึ่งก็ได้เช่นกัน
- หากลืมเจาะรูที่ลูกบ๊วยไม่ได้แปลว่าคุณต้องทำใหม่ การเจาะก็เหมือนกับการเพิ่มพื้นที่สัมผัสให้ตัวของเหลวเข้าไปสัมผัสกับลูกบ๊วยได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ใช้เวลาดองที่น้อยกว่า แต่หากไม่จิ้ม โหลนั้นก็ใช้เวลาเพิ่มขึ้นหน่อยเท่านั้นเอง
- สุดท้าย ผ้าสีสวยไม่มีผลอะไรกับรสชาติ แต่หากต้องดองตั้งปีหนึ่ง การตั้งใจเลือกผ้าซะหน่อยก็จะสามารถเปลี่ยนโหลบ๊วยให้กลายเป็นของแต่งบ้านได้เลยนะ
บทความที่เกี่ยวข้อง: