×

ปัญหาการอุ้มบุญในยูเครนเพิ่มสูงขึ้น หลังอินเดีย เนปาล และไทยประกาศแบน

14.09.2018
  • LOADING...

ยูเครนกำลังประสบปัญหาการอุ้มบุญ หลังจากที่นี่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของคู่รักที่ตกอยู่ในสภาวะมีบุตรยากและต้องการใช้บริการอุ้มบุญในราคาที่สามารถจ่ายไหว นับตั้งแต่การอุ้มบุญเป็นสิ่งถูกกฎหมายในประเทศเมื่อปี 2002 เป็นต้นมา

 

เซอร์จี อันโตนอฟ นักกฎหมายในกรุงเคียฟ เผยว่าในแต่ละปียูเครนมีเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญราว 2,000-2,500 คน และเกือบครึ่งหนึ่งใช้บริการอุ้มบุญของ BioTexCom นอกจากนี้ยังมีโฆษณารับอุ้มบุญผิดกฎหมายจำนวนมากในยูเครน

 

ค่าใช้จ่ายในการอุ้มบุญของที่นี่อยู่ที่ 30,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 9.7 แสนบาท) ซึ่งถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับบริการรับอุ้มบุญในสหรัฐอเมริกาที่ค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณ 80,000-120,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.6-4 ล้านบาท) ซึ่งปริมาณความต้องการใช้บริการอุ้มบุญมีสูงขึ้นหลังอินเดีย เนปาล รวมถึงประเทศไทยประกาศแบนการรับอุ้มบุญเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

 

อลินา เป็นหนึ่งในอดีตช่างทำผมที่ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นแม่อุ้มบุญเมื่อ 2 ปีก่อนเพื่อหาเงินซ่อมแซมบ้าน รวมถึงหาเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่ลูกชายของเธอ โดย BioTexCom ระบุจะให้เงินค่าจ้างการอุ้มบุญของเธอครั้งละ 11,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 3.6 แสนบาท) และได้รับเงินเดือนอีกเดือนละ 250 เหรียญสหรัฐ (ราว 8,100 บาท) ซึ่งถือว่าสร้างรายได้ให้แก่อลินามากกว่าเงินเดือนเฉลี่ยทั้งปีของคนยูเครนถึง 3 เท่า รวมถึงดูแลสวัสดิการต่างๆ

 

แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้น อลินาถูกจัดให้อาศัยอยู่กับแม่อุ้มบุญคนอื่นๆ อีก 4 คนในบ้านพักหลังเล็กๆ เป็นระยะเวลากว่า 32 สัปดาห์ และถ้าหากพวกเธอกลับถึงบ้านพักหลังเวลา 16.00 น. จะต้องเสียค่าปรับคนละ 100 ยูโร (ราว 3,800 บาท) โดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อมูลขององค์กร และห้ามพยายามติดต่อกับพ่อแม่ที่เข้ามาใช้บริการอุ้มบุญโดยเด็ดขาด ซึ่งเธอเผยกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่าเธอจะไม่กลับไปเป็นแม่อุ้มบุญอีกแล้ว แม้ว่ามันจะทำเงินได้มากแค่ไหนก็ตาม เพราะนั่นคือประสบการณ์อันเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเธอ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X